ผลสำรวจจาก EIC ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า มนุษย์เงินเดือนชาวไทยกว่า 79% อยากเปลี่ยนมาทำงานอิสระ ทั้งการทำธุรกิจของตัวเอง รวมถึงการเป็นฟรีแลนซ์ ทำไมคนชาวออฟฟิศส่วนใหญ่ถึงอยากผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์กันขนาดนั้น?

ภาพจำของอาชีพฟรีแลนซ์ หลายคนมองว่ามันอิสระ ได้ทำงานที่บ้าน ได้เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องออกไปเผชิญรถติด อยากพักก็ได้พักไม่ต้องขออนุญาตใคร ซึ่งแตกต่างจากการทำงานออฟฟิศที่มีกฎระเบียบของบริษัทให้ปฏิบัติตาม มีเวลาเข้า-ออกงาน มีวันลาพักร้อนจำกัด มีค่าเดินทาง และมีนู้นนี่นั่นอีกมากมาย แต่เอาเข้าจริง..การเป็นฟรีแลนซ์มันง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ? วันนี้ OfficeMate จะพาไปดูชีวิตจริงของการเป็นฟรีแลนซ์กัน!

เป็นฟรีแลนซ์ไม่ง่ายอย่างที่คิด 

นั่งทำงานที่คาเฟ่ จิบกาแฟชิลๆ พักไปเล่นกับน้องหมา อาจเป็นชีวิตฟรีแลนซ์ที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ชีวิตจริงไม่เป็นเช่นนั้น 

ฟรีแลนซ์
  1. เป็นฟรีแลนซ์ต้องมีฝีมือ

การจะเป็นฟรีแลนซ์ให้รุ่งอันดับแรกต้องมีฝีมือ และต้องหมั่นพัฒนาฝีมือของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีความสามารถและโดดเด่นมากพอที่ลูกค้าจะมองเห็นและตัดสินใจจ้าง คุณต้องไม่ลืมว่าตลาดฟรีแลนซ์ค่อนข้างใหญ่ ใครๆ ก็อยากเป็น หากคุณมีฝีมือไม่พอ พอร์ทไม่โดน ทักษะไม่ได้ ก็มีคนอีกมากมายพร้อมจะแย่งงานคุณไปเสมอ

  1. เป็นฟรีแลนซ์ต้องมีวินัยเป็นเลิศ

จริงอยู่ที่ว่าฟรีแลนซ์จะทำงานตอนไหนก็ได้ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานแล้วก็ย่อมมีเดดไลน์พ่วงมาด้วย หากคุณไม่มีวินัย ควบคุมตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้อารมณ์พาไป รอแต่รางบันดาลใจ การเป็นฟรีแลนซ์อาจไม่เหมาะกับคุณ เพราะหากงานเสร็จไม่ทันกำหนด ขอเลื่อนวันส่งงานบ่อย ลูกค้าต้องคอยตามทวงแบบนี้ก็ยากที่จะหาลูกค้าประจำหรือคอนเนคชั่นได้

  1. เป็นฟรีแลนซ์ต้องขยัน 

ใครอยากร่ำรวยจากการเป็นฟรีแลนซ์ ก็ต้องขยันรับงาน เพราะอย่างที่รู้ว่าฟรีแลนซ์ไม่ได้เงินเดือน ไม่มีโบนัส ยิ่งรับงานเยอะก็ยิ่งได้เงินเยอะ แถมยังช่วยให้มีคอนเนคชั่นเพิ่มขึ้น ซึ่งคอนเนคชั่นนี้เองที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับการทำงานฟรีแลนซ์ แต่ถึงอย่างนั้น ก็อย่าลืมเลือกรับงาน ดูเดดไลน์ไม่ให้ตรงกัน จะได้ไม่เหนื่อยเกินไป หรือคุมงานไม่ไหวจนงานเสร็จไม่ทันกำหนด 

  1. เป็นฟรีแลนซ์ทุกอย่างต้องจ่ายเอง

การเป็นฟรีแลนซ์นอกจากจะไม่มีเงินเดือนแล้ว ยังไม่มีสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคม ไม่มีการเบิกค่ารักษาพยาบาล ทุกอย่างต้องจ่ายเองหมด หากคิดจะเป็นฟรีแลนซ์จึงต้องวางแผนเรื่องเงินให้ดี ทำประกัน หรือหาช่องทางการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้ได้   

การเป็นฟรีแลนซ์ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด นอกจาก 4 ข้อที่เรากล่าวมา อาชีพฟรีแลนซ์ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องแบกรับและเหนื่อยไม่น้อยไปกว่าการทำงานประจำ เอาหล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้ ยังคิดว่าตัวเองเหมาะกับอาชีพฟรีแลนซ์อยู่รึเปล่า? ถ้าใครคิดจะไปต่อ OfficeMate ก็มีวิธีเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับพนักงานประจำที่อยากจะผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ ต้องทำอะไรบ้าง? ไปดูกันต่อเลย

6 อย่างต้องเตรียมให้พร้อม ก่อนลาออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์

ฟรีแลนซ์

1.เตรียมเงินสดสำรอง

เป็นฟรีแลนซ์มือใหม่ ช่วงเดือนแรกๆ อาจจะต้องนั่งตบยุงไปก่อน ด้วยเพราะฐานลูกค้ายังไม่เยอะ คอนเนคชั่นยังไม่แน่น งานก็อาจจะน้อย สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมเอาไว้ ก็คือ เงินสดสำรอง แนะนำว่าให้แยกกับบัญชีเงินเก็บ เอาไว้สำหรับใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีงาน วางแผนให้พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าห้อง ค่าอาหารการกิน และค่าจิปาถะ อย่างน้อยให้อยู่รอดได้อย่างต่ำ 6 เดือน   

2.ทำธุรกรรมทางการเงินให้เรียบร้อยก่อนลาออก

การเป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่มีรายได้ประจำ รายรับแต่ละเดือนก็คาดเดาได้ยาก ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินยากขึ้นไปด้วย ก่อนลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ แนะนำว่าให้เตรียมทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน ไม่ว่าจะทำบัตรเครดิต ขอกู้เงิน ฯลฯ จะได้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวทีหลังตอนโดนปฏิเสธจากธนาคาร

หากอยากสร้างเครดิตทางการเงินตอนเป็นฟรีแลนซ์ แนะนำให้เปิดบัญชีเงินฝาก แล้วฝากเงินเข้าบัญชีนั้นทุกๆ เดือน ให้มีรายการเดินบัญชีสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่าคุณมีวินัย มีการวางแผนเก็บเงิน จะช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ ตอนเป็นฟรีแลนซ์นั้นง่ายขึ้น  

3.ทำประกัน

ตอนทำงานบริษัทมีทั้งสวัสดิการและประกันสังคม เจ็บป่วยเบิกได้ นอนโรงพยาบาล เกิดอุบัติเหตุเบิกได้ แต่เมื่อออกมาเป็นฟรีแลนซ์ทุกอย่างต้องจ่ายเอง ดังนั้น ก่อนลาออก แนะนำให้เตรียมทำประกันทั้งสุขภาพและอุบัติเหตุ รวมถึงประกันสังคม ม.40 สำหรับฟรีแลนซ์ หากเกิดเจ็บป่วยหรือฉุกเฉิน จะได้มีประกันรองรับ ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเพียงลำพังหรือต้องควักเงินสำรองไปจ่าย อุ่นใจกว่ากันเยอะ 

อ่านเพิ่มเติม ทำประกันสำหรับคนวัยทำงาน เลือกแบบไหนดี?

4.สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทและเพื่อนร่วมงาน

ถึงจะลาออก จบงานกับที่เก่าแล้ว แต่สายสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า พาร์ทเนอร์ หัวหน้างาน หรือซีอีโอยังไม่จบ บุคคลเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นคอนเนคชั่นที่สำคัญลำดับต้นๆ หากคุณทำงานได้ดีตอนที่อยู่ออฟฟิศ มีวินัย และคงเส้นคงวา พวกเขาเหล่านั้นก็อาจจะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเอาไว้ (แต่ต้องจริงใจด้วยนะ!) จะเป็นประโยชน์ตอนออกมาทำฟรีแลนซ์แน่นอน        

5.เตรียมพอร์ทนำเสนองาน

อยู่ออฟฟิศมีคนเอางานมาให้ทำ แต่เป็นฟรีแลนซ์ต้องหางานทำเอง และสิ่งที่จะทำให้ได้งาน ก็คือ Portfolio ปังๆ ใส่ผลงานที่โดดเด่น ทักษะความสามารถ โปรแกรมที่ถนัด ช่องทางการติดต่อ แล้วเอาไปฝากไว้ในเว็บไซต์หาฟรีแลนซ์หรือเพจเฟซบุ๊กรับสมัครงานต่างๆ หากทำพอร์ทได้น่าสนใจก็จะช่วยให้หางานง่ายขึ้น หรือใครเป็นสายอาร์ตจะสร้างโซเชียลมีเดียสำหรับเก็บรวบรวมผลงานโดยเฉพาะ เปิดช่องทางให้คนมาติดตาม ก็ช่วยดึงดูดลูกค้าได้เหมือนกัน อย่าขี้เกียจแล้วนั่งรองาน ไม่งั้นมีหวังต้องนั่งตบยุงไปทั้งเดือนแน่นอน  

6.เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมทำงานที่บ้าน

เป็นฟรีแลนซ์ทำงานที่บ้านซะส่วนใหญ่ อุปกรณ์เครื่องไม่เครื่องมืออาจจะไม่พร้อมเท่ากับตอนทำงานที่ออฟฟิศ ก่อนลาออก แนะนำให้กำเงินก้อน เอาไปซื้ออุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะทำงาน เก้าอี้ โน้ตบุ๊ก เม้าส์ คีย์บอร์ด เครื่องปริ้น ฯลฯ การมีอุปกรณ์ดีๆ นอกจากช่วยให้งานมีประสิทธิภาพ ทำงานได้ลื่นไหล ยังมีส่วนช่วยให้ Productive  ขึ้นอีกด้วย! 

ฟรีแลนซ์ต้องมี! โต๊ะทำงาน เก้าอี้เพื่อสุขภาพ โน้ตบุ๊ก เครื่องปริ้นมัลติฟังก์ชัน และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เข้ามาช้อปไปเปิดโฮมออฟฟิศของตัวเอง พร้อมรับงานฉ่ำๆ กันได้เลยที่เว็บไซต์ OfficeMate! ช้อปวันนี้ครบ 499 บาท มีบริการส่งฟรีด้วยนะ!

ขอบคุณข้อมูลจาก