กินเจปีนี้ใกล้เข้ามาแล้ว วันนี้ OfficeMate พาไปทบทวนข้อปฏิบัติ รวมถึงข้อห้ามวันกินเจ กินเจอย่างไรให้ได้บุญสูงสุดและมีสุขภาพที่ดี ไปดูกันเลย! 

กินเจ 2564 ตรงกับวันไหน?

วันกินเจ กำหนดตามปฏิทินจีน โดยกำหนดให้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนเป็นวันกินเจ ซึ่งจะตรงกับเดือน 11 ตามปฏทินไทย สำหรับปี 2564 นี้ วันกินเจ ตรงกับวันที่ 6 -14 ตุลาคม 2564 รวมทั้งหมด 9 วัน บวกกับวันล้างท้องก่อนกินเจอีก 1-2 วัน (วันที่ 4 และ 5 ตุลาคม 2564)  

ทำไมต้องล้างท้องก่อนกินเจ?

การล้างท้อง เป็นการปรับสภาพกระเพาะอาหารและลำไส้ให้คุ้นเคยกับอาหารเจ ก่อนเริ่มต้นถือศีลกินเจอย่างจริงจัง ควรล้างท้องด้วยการกินอาหารเจ และงดกินอาหารต้องห้ามเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและเป็นการชะล้างเนื้อสัตว์ รวมถึงอาหารต้องห้ามทั้งหมดออกจากร่างกาย 

กินเจ

ข้อห้ามวันกินเจ

เหตุผลหลักที่ทำให้มีเทศกาลกินเจเกิดขึ้น ก็เพื่อรักษาศีล 8 และเป็นการละเว้นเนื้อสัตว์ ในวันกินเจจึงมีข้อห้ามต่างๆ มากมาย ให้ผู้ที่ ‘ถือศีล กินเจ’ ปฏิบัติตาม ในปีนี้ใครอยากกินเจให้ได้บุญสูงสุดจริงๆ อย่าลืมปฏิบัติตามกฎต่างๆ ดังนี้   

  1. ห้ามกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงไข่ เครื่องใน โปรตีนจากสัตว์ และอาหารอื่นๆ ที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ เช่น นม เนย ชีส โยเกิร์ต ไส้กรอก น้ำปลา น้ำผึ้ง ปูอัด ฯลฯ
  2. ห้ามกินผักที่มีกลิ่นฉุน ได้แก่ ต้นหอม หัวหอม กระเทียม กระเทียมโทน กุ้ยช่าย ใบยาสูบ ฯลฯ
  3. ห้ามกินอาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
  4. ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. งดสูบบุหรี่ ตลอดช่วงกินเจ

นอกจากนั้น หากเคร่งครัดกับการกินเจมากๆ ยังควรกินแต่อาหารเจที่ปรุงโดยคนกินเจ และไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเจร่วมกับอาหารอื่นๆ หรือใช้รวมกับผู้ที่ไม่ได้กินเจ และถ้าจะกินเจให้ได้บุญสูงสุด อย่าลืมปฏิบัติตัวให้อยู่ในศีล 5 ไม่พูดคำหยาบ ไม่คิดร้าย ไม่พูดโกหก กินเจเพราะใจอยากกินจริงๆ กินเจด้วยรอยยิ้ม ไม่กินไปบ่นไป แบบนี้มีหวังไม่ได้บุญแน่นอน

4 วิธีกินเจอย่างไรไม่ให้อ้วน 

อาหารเจที่ดูเผินๆ เหมือนจะมีแต่ผัก อันที่จริงแล้วกลับแฝงไปด้วยแป้งและไขมัน ช่วงถือศีลกินเจตลอด 9 วันนี้ หากไม่ควบคุมให้ดี อาจทำให้ตัวบวมตอนออกเจได้ แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ วันนี้ OfficeMate มีเคล็ดลับการกินเจแบบไม่อ้วนมาฝาก รับรองว่าเจไม่แตก ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งสุขภาพดีๆ ไปดูกันต่อเลย!

หลีกเลี่ยงอาหารเจแบบผัดทอด เน้นเมนูย่าง-ต้ม-ตุ๋น-นึ่ง

ของทอดถือเป็นสีสันของเทศกาลกินเจ ไม่ว่าจะเป็นปอเปี๊ยะ เต้าหูทอด ข้าวโพดทอด ฯลฯ สีเหลืองทอง บวกกับเทคเจอร์กรอบๆ น่าลิ้มลอง รวมไปถึงเมนูผัด ที่เคลือบด้วยน้ำมันเป็นเงาวับดูน่าทาน แต่ถ้าไม่อยากอ้วน จนมีไขมันรอบเอว ก็ขอให้งดไว้ก่อน หรือบริโภคแต่น้อย แล้วเน้นเมนูหลักให้เป็นอาหารเจประเภทย่าง ต้ม ตุ๋น หรือนึ่ง ที่มีปริมาณไขมันน้อยกว่า จะช่วยให้ตัวไม่บวมหลังหมดเทศกาลกินเจ 

แต่ถ้าอยากทานของทอดมากๆ จนอดใจไม่ไหว แนะนำให้ทำเองจะดีกว่า เพื่อกะปริมาณน้ำมันหรือแป้งชุบทอดเองได้ ถ้าจะให้ดีลองใช้ตัวช่วยสุดฮิตอย่าง ‘หม้อทอดไร้น้ำมัน ที่ปรุงได้หลากหลายเมนู แถมยังไม่ต้องใช้น้ำมัน เท่านี้ก็สามารถกินของทอดได้อย่างสบายใจแล้วล่ะค่ะ  

หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ของแปรรูป เน้นผักหลากสี ผลไม้สด

กินเจ

อาหารหมักดอง ของแปรรูป อาหารกระป๋อง ผลไม้อบแห้ง ไปจนถึงข้าวกล่องสำเร็จรูปแบบพร้อมทาน ล้วนแต่อุดมไปด้วยโซเดียมปริมาณสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บวมน้ำ แถมยังเสี่ยงเป็นโรคไต แม้ในช่วงกินเจจะมีเมนูข้าวกล่องเจมากมายที่หน้าตาน่าทาน แถมสะดวกรวดเร็ว แต่ทางที่ดีเน้นทานอาหารปรุงสดแบบมื้อต่อมื้อ ผักหลากสี และผลไม้แบบสดๆ จะดีกว่า ถึงจะลำบากขึ้นนิดหน่อย แต่ช่วยให้ตัวไม่บวมน้ำ และไฟเบอร์ที่ได้จากผักผลไม้ยังช่วยให้อิ่มเร็ว และขับถ่ายง่ายขึ้นอีกด้วย

อาหารเจแต่ละมื้อต้องครบ 5 หมู่ และเมนูไม่ควรซ้ำ!

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอีกหนึ่งอย่างตอนช่วงเทศกาลกินเจ คือ สารอาหาร เพราะอาหารเจส่วนใหญ่ที่ขายตามท้องตลาด มักมีปริมาณแป้งและไขมัน มากกว่าผัก และบ้างเมนูยังขาดโปรตีน ซึ่งหากเราทานแต่เมนูซ้ำๆ เดิมๆ อยู่ทั้ง 10 วัน อาจทำให้ขาดสารอาหาร ร่างกายไม่แข็งแรง แถมยังลงพุงได้ ดังนั้น กินเจในแต่ละมื้อ ควรเลือกเมนูที่มีครบทั้ง 5 หมู่ ตามหลักธงโภชนาการ และเปลี่ยนเมนูบ่อยๆ อย่าทานแต่เมนูเดิมๆ ช่วยให้ไม่เบื่อ และกินเจได้ครบทั้ง 10 วันอีกด้วย 

เลือกอาหารเจที่ทำจากแป้งไม่ขัดสี

อาหารเจส่วนใหญ่มักมีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก ทั้งยังขาดเนื้อสัตว์ที่ช่วยให้อิ่มท้อง เวลากินเจ คนส่วนใหญ่จึงมักกินแป้งปริมาณมากกว่าปกติเพื่อให้อยู่ท้อง ซึ่งการบริโภคแป้งในปริมาณมากนี่เองที่ทำให้เราลงพุง และมีห่วงยางพอกบริเวณเอวกับสะโพก 

ดังนั้น ในช่วงกินเจถ้าไม่อยากลงพุง หรือทำโปรแกรมลดน้ำหนักรวน ก็ควรหลีกเลี่ยงเมนูแป้ง อย่างขนมปังเจ เบเกอรี่เจ หรือเมนูแป้งที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์อย่าง ทอดมันเจ ปลาเค็มเจ รวมถึงเปลี่ยนจากข้าวขาว และเส้นบะหมี่ มาเป็นข้าวกล้อง หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ไม่ขัดสี และจำกัดปริมาณให้พอเหมาะ เพียงเท่านี้ห่วงยางก็ไม่ถามหาแล้วค่ะ

ระวังให้ดี ‘โปรตีนเกษตร’ ในอาหารเจมีคาร์บแฝงอยู่!

กินเจ

โปรตีนเกษตร ถือเป็นวัตถุดิบหลักอีกหนึ่งอย่างในการปรุงอาหารเจ เอาไว้เพื่อทดแทนการขาดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถึงจะชื่อว่าโปรตีน แต่โปรตีนเกษตรกลับมีคาร์บและไขมันแฝงอยู่ปริมาณมาก โดยโปรตีนเกษตร 100 กรัม มีปริมาณโปรตีน ราว 49 กรัม ปริมาณคาร์โบไฮเดรต ราว 40 กรัม เรียกว่าสัดส่วนแทบจะเป็น 50:50 ดังนั้น ใครที่กลัวขาดสารอาหาร หรือกลัวได้รับโปรตีนไม่เพียงพอต่อวัน แนะนำให้เลือกเป็นโปรตีนชนิดอื่น อย่าง ถั่ว ธัญพืช เต้าหู้ขาว เห็ด งาดำ งาขาว น้ำเต้าหู้ และสาหร่ายแทนจะดีกว่า เพราะอาหารเหล่านี้มีปริมาณโปรตีนสูง คาร์บต่ำ และยังมีแคลเซียม ช่วยให้ไม่อ้วน แถมร่างกายแข็งแรง เหมาะกับคนที่ต้องการรักษารูปร่าง ทั้งยังช่วยให้เราออกกำลังกายได้ในช่วงกินเจ โดยไม่ต้องกลัวว่าร่างกายจะขาดโปรตีน

การกินเจ นอกจากจะได้บุญแล้ว ถ้ากินให้ถูกยังช่วยให้ร่างกายได้ขับสารพิษออก ระบบภายในต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ช่วยป้องกันอาหารไม่ย่อย ขับถ่ายได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ร่างกายเปล่งปรั่งจากไฟเบอร์ของผักผลไม้ ไปจนถึงป้องกันมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย กินเจปีนี้ ก็อย่าลืมนำเคล็ดลับที่เราแนะนำไปใช้ จะได้ไม่อ้วนแถมสุขภาพดีขึ้นกันนะคะ 

และนอกจากผู้บริโภคเองแล้ว กับร้านอาหารที่ขายอาหารเจ ก็อาจลองรังสรรค์เมนูเจแคลต่ำ ดึงมาเป็นจุดขายรับรองว่าได้ใจลูกค้าสายเฮลท์ตี้ ยอดออเดอร์เด้งรัวๆ แน่นอน หรือ ‘ไปดูเทคนิคเปิด “ร้านขายอาหารเจ” ทำอย่างไรให้ยอดขายเพิ่ม! กำไรพุ่ง!’

กินเจในยุคโควิด-19 อย่าลืมยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ซื้ออาหารเจที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดีกว่าซื้ออาหารเจที่ทำเตรียมไว้แล้วจะดีกว่านะคะ ใครเตรียมตัวถือศีล กินเจในปีนี้ เข้ามาช้อปกล่องข้าวไปใส่อาหารเจ ซื้อกลับไปทานที่บ้าน ไม่ต้องกลัวเจแตก และไม่ต้องกลัวโควิด-19 ช้อปเลยที่ OfficeMate ช้อปวันนี้ ส่งฟรี! เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท