ยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน บวกกับค่าครองชีพสูงลิ่ว หลายคนพยายามก่อร่างสร้างตัว ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำหวังให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แม้การทำงานหนัก (อาจ) จะนำมาซึ่งค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่โรคภัยไข้เจ็บก็แอบแฝงตัวมาเงียบๆ ด้วยเช่นกัน ยิ่งกับคนที่โฟกัสเรื่องงานเป็นอันดับ 1 จนลืมดูแลตัวเอง กว่าจะรู้ตัวอีกที ร่างกายก็ทรุดโทรมจนเกินจะแก้ไข วันนี้ OfficeMate รวมลิสต์ 8 โรคยอดนิยมที่เกิดบ่อยกับมนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ เอาไปเป็นไกด์ลองเช็กอาการของตัวเอง จะได้รีบรักษาทันก่อนจะสายเกินแก้!

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) 

ออฟฟิศซินโดรม

พูดถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่ใกล้ตัวชาวออฟฟิศ ก็คงจะขาด ‘ออฟฟิศซินโดรม’ (Office Syndrome) ไปไม่ได้ เรียกว่าอยู่คู่กันมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ต้องรอให้แก่ตัวก่อน เพราะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่นานต่างก็ได้รับประสบการณ์จากโรคนี้กันถ้วนหน้า

สาเหตุหลักของออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการนั่งติดเก้าอี้นานๆ บวกกับการนั่งทำงานผิดท่า จนกล้ามเนื้ออักเสบ และมีอาการปวดเมื่อยตามมา ในระยะแรกๆ อาจปวดเมื่อยในระดับเบสิคที่พอทนได้ แต่นานวันเข้าอาจกลายเป็นอาการปวดแบบเรื้อรัง และยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้อีก เช่น ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา ตาพร่ามัว หมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และโรคกระดูกสันหลังคด ซึ่งถ้าปล่อยไว้จนถึงวันนั้น บอกเลยว่าทรมานจนถึงขั้นไม่มีสมาธิทำงานแน่นอน

สำหรับชาวออฟฟิศคนไหนที่มีอาการ ปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา ตาพร่ามัว แขนและมืออ่อนชา หากเป็นมานานซักระยะควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือหากเริ่มปวดหลัง ปวดไหล่ แนะนำให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุกๆ ชั่วโมง เพื่อยืดเส้นยืดสายเปลี่ยนอิริยาบถ ใช้เก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพ (Ergonomic) และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อยืดเหยียดและสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

อ่านต่อ

คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome : CVS)

คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม CVS

ไม่ต้องบอกก็รู้จากชื่อว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์อย่างแน่นอน เพราะชาวออฟฟิศอย่างเราๆ ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่วันละ 8-10 ชั่วโมง ทำงานอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ และแล็ปท็อป ส่งผลให้สายตาที่ต้องต่อสู้กับแสงสีฟ้าจากหน้าจออยู่ตลอดเวลา เกิดอาการล้า และมีปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ 

ลองสังเกตตัวเองดูว่า ขณะที่นั่งทำงานไปซักพัก หากมีอาการตาแห้ง แสบตา น้ำตาไหลบ่อย หรือสายตาไม่สามารถสู้แสง หรือปรับโฟกัสได้ เราอาจกำลังเข้าข่ายเป็นโรค CVS อยู่ นอกจากนั้น อาการตาแห้งยังอาจอักเสบรุนแรงจนกลายเป็นต้อลมได้อีกด้วย 

เพราะดวงตามีเพียงคู่เดียว ใครที่รู้สึกว่าตัวเองเข้าข่ายเป็น CVS แนะนำให้ไปตรวจเช็กสายตา หรือคนที่ยังไม่มีอาการ แต่ต้องทำงานอยู่หน้าจอทุกวัน ก็สามารถไปตรวจเช็กหาความผิดปกติได้เช่นกัน นอกจากนั้น ต้องหมั่นดูแลรักษาสายตาให้ดี ใส่แว่นกรองแสงทุกครั้ง ปรับแสงหน้าจอให้พอดี ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป ดวงตากับหน้าจอคอมฯ ควรอยู่ห่างกันในระยะ 20-28 นิ้ว หรือประมาณ 2 ไม้บรรทัด และอย่าลืมกระพริบตาบ่อยๆ หรือหาต้นไม้มาตั้งไว้บนโต๊ะทำงานเป็นจุดพักสายตาก็จะดีค่ะ

ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน (Carpal Tunnel Syndrome : CTS)

ภาวะกดรัดเส้นประสาทมีเดียน CTS

ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน เรียกง่ายๆ ว่า อาการปวดข้อมือ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ นานวันเข้าจนเกิดอาการอักเสบ เส้นประสาทมีเดียนอยู่บริเวณใต้เส้นเอ็นของกระดูกข้อมือ ก็คืออยู่ที่บริเวณฝ่ามือด้านล่าง เป็นจุดที่เราวางติดโต๊ะตอนคลิกเม้าส์ทำงานนั่นเอง ภาวะนี้เกิดขึ้นได้บ่อยกับคนที่ใช้ข้อมือหนักๆ เช่น การจับมีดทำอาหาร วาดรูป แบกหามนานหลายชั่วโมงทุกวัน รวมถึงมนุษย์ออฟฟิศที่นั่งคลิกเมาส์ หรือพิมพ์คีย์บอร์ดนานหลายชั่วโมงต่อวันอย่างเราเช่นกัน ภาวะนี้เริ่มแรกอาจมีแค่อาการปวดข้อมือ แต่หากปล่อยเอาไว้ อาการปวดที่สะสมจะทำให้มีอาการแขนอ่อนแรงตามมา และอาจรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อแขนลีบเลยทีเดียว

ภาวะ CTS สังเกตง่ายๆ คือ มีอาการชา และปวดบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือ อาจลามปวดไปถึงหัวไหล่ และไม่สามารถกำมือแน่นๆ ได้ หรือจะทดสอบง่ายๆ คือ งอข้อมือประมาณ 90 องศา หันหลังมือให้ชนกัน 1 นาที ผู้ที่เข้าข่ายมีภาวะ CTS จะรู้สึกชาบริเวณฝ่ามือ และปลายนิ้ว สำหรับคนที่มีอาการปวดข้อมือหนักๆ จนมือไม่มีแรง ให้เข้ารับการรักษากับแพทย์ และสำหรับชาวออฟฟิศแนะนำให้ป้องกันภาวะนี้ด้วยการพักข้อมือระหว่างวัน หมุนๆ และสะบัดข้อมือบ่อยๆ หรือหาที่รองเม้าส์แบบมีหมอนรองซัพพอร์ตข้อมือมาใช้ เพื่อขจัดจุดที่เกิดแรงกด ป้องกันการกดทับเส้นประสาทมีเดียน  

Upper Crossed Syndrome 

Upper Crossed Syndrome

Upper Crossed Syndrome เรียกว่าเป็นโรคของคนหลังค่อม เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และอก ทำงานแบบไม่สมดุลกัน สาเหตุมาจากการนั่งทำงานนานๆ รวมไปถึงการนั่งทำงานผิดท่า ทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนัก และเกร็งโดยไม่รู้ตัว 

อาการของ Upper Crossed Syndrome จะคล้ายกับออฟฟิศซินโดรม คือ ปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่ และอก มือชา แขนชา ปวดหลังส่วนล่าง และปวดศีรษะ แต่ภาวะนี้ยังส่งผลไปถึงสรีระร่างกายของเรา คือ ทำให้หลังงอ ไหล่ห่อ บ่ายกขึ้นสูง ศีรษะยื่น กระดูกสันหลังส่วนคอแอ่น และกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งงอ 

หากไม่อยากเจ็บตัวและสูญเสียภาพลักษณ์ดีๆ แนะนำว่าให้ออกกำลังกาย เล่นโยคะ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ (Stretching) เพื่อผ่อนคลายความตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ และควรหาเก้าอี้นั่งทำงานเพื่อสุขภาพ (Ergonomic) มาใช้ เพราะเก้าอี้เออร์โกโนมิค จะช่วยปรับแต่งสรีระจัดท่านั่งทำงานของเราให้ถูกต้องได้แบบอัตโนมัติ 

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ชาวออฟฟิศที่ติดประชุมทีนานเป็นชั่วโมง หรือมีงานด่วนงานเร่งที่ลุกออกจากโต๊ะไม่ได้ ปวดปัสสาวะก็ต้องจำใจกลั้นเอาไว้ จึงกลายเป็นที่มาของโรคกระเพาะปัสสาะอักเสบ อีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่ตามติดชีวิตชาวออฟฟิศผู้รักงาน

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากการกลั้นปัสสาวะ ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น ปัสสาวะไม่สุด ใส่กางเกงรัดรูปมากเกินไปจนอับชื้นกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค หรือเข้าใช้ห้องน้ำที่ไม่สะอาด โรคนี้มักเกิดได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะมีท่อปัสสาวะอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก จึงเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และเชื้อโรคได้ง่ายกว่า ส่วนใครที่คิดจะดื่มน้ำให้น้อยลง เพื่อจะได้ไม่ต้องปวดปัสสาวะบ่อยๆ ก็ขอให้หยุดคิด เพราะการดื่มน้ำน้อยก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเช่นกัน 

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะรู้สึกปวดหลัง หรือปวดบริเวณข้างลำตัว ปวดปัสสาวะบ่อยและกลั้นไม่อยู่ ปัสสาวะไม่สุด กระปริบกระปรอย ปัสสาวะมีสีขาวขุ่น หรือมีเลือดปน และมีกลิ่นเหม็นที่ผิดปกติ บางคนมีอาการปวดขัดบริเวณท้องน้อย หรือรู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา 

สำหรับการหลีกเลี่ยงโรคกระเพาะปัสสาวะ ขอให้ชาวออฟฟิศดื่มน้ำเปล่าให้เยอะขึ้น อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และห้ามกลั้นปัสสาวะโดยเด็ดขาด! ที่สำคัญ คือเฝ้าระวังรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศอยู่เสมอ สำหรับผู้หญิงให้เช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดและทวารหนัก

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease : GERD)

กรดไหลย้อน GERD

กรดไหลย้อน (GERD) ไม่ได้พบในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่วัยทำงานอย่างเราก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ด้วยชีวิตที่เร่งรีบ บวกกับสังคมที่ทำงาน การกินข้าวไม่เป็นเวลา กินแบบเร่งรีบ หรือกินมากเกินไปอย่างการกินบุฟเฟ่ต์ พฤติกรรมที่ดูเล็กน้อยเหล่านี้เองที่ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อน

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือ การนอนราบทันทีหลังกินข้าวเสร็จ รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม และแอลกอฮอล์บ่อย สามารถส่งผลให้หลอดอาหารและกระเพาะมีการบีบตัวแบบไม่ปกติ หรือความดันในหลอดอาหารต่ำลง ทำให้กรดในกระเพาะที่มีไว้สำหรับย่อยอาหาร ไหลย้อนกับขึ้นมาสู่บริเวณหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนกลางหน้าอก ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากกินข้าวเสร็จใหม่ๆ มีความรู้สึกเปรี้ยว หรือขมคอ มีอาหารย้อนกลับขึ้นมาที่คอ จุกเสียด และแน่นท้อง นอกจากนั้น ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น เสียงแหบเรื้อรัง การกลืนติดขัด ฟันผุ มีกลิ่นปาก ฯลฯ 

แม้กรดไหลย้อนจะรักษาได้และไม่เป็นอันตรายเท่าไหร่ แต่ป้องกันไว้ก่อนก็จะดีกว่า ชาวออฟฟิศที่กินข้าวไม่ตรงเวลาควรรีบปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ด่วนๆ มื้อเที่ยงควรกินอาหารย่อยง่าย กินบุฟเฟ่ต์แต่พออิ่ม และเมื่อกินมื้อเย็นเสร็จก็อย่าเพิ่งรีบนอน จะได้ไม่ต้องทรมานกับกรดไหลย้อนนะคะ

โรคอ้วน

โรคอ้วน

โรคอ้วน มีสาเหตุมาจากร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าที่ต้องการต่อวัน จึงมีการเก็บพลังงานที่เหลือเอาไว้ในรูปแบบของไขมัน สะสมเอาไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราที่กินแต่อาหารจานด่วนเป็นหลัก ชากาแฟ ตบด้วยของหวานจุบจิบระหว่างวันแก้ง่วง แต่ไม่ค่อยได้ขยับเขยื้อนร่างกายไปไหน นั่งติดโต๊ะทำงานทั้งวันทั้งคืน บวกกับความเครียดจากการทำงานที่ทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวเราอยากน้ำตาลมากขึ้นไปอีก! แบบนี้จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ง่าย

โรคอ้วนที่พบบ่อยในชาวออฟฟิศส่วนใหญ่มักเป็นโรคอ้วนแบบลงพุง ซึ่งนอกจากรอบเอวที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังนำพาโรคร้ายมาได้อีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งรอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร ยังเพิ่มโอกาสความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานขึ้นอีก 3-5 เท่า! 

ลองสังเกตุตัวเองดูว่ากางเกงหรือกระโปรงตัวเดิมยังใส่ได้สบายๆ อยู่มั้ย หรือเริ่มอึดอัดขึ้นมาบ้างแล้ว ถ้าเริ่มเดินไม่ค่อยสะดวก อึดอัดไม่สบายตัว นั่งเก้าอี้แล้วแน่นท้อง ก็ให้รีบปรับพฤติกรรมการกิน งดของจุบจิบระหว่างวัน ดื่มกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล ทานอาหารที่มีผักบ้าง ดื่มน้ำเยอะๆ และอย่าลืมลุกเดินระหว่างวัน เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ที่จะตามมา     

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)       

โรคนอนไม่หลับ insomnia

จากโรคทางร่างกายมาสู่โรคทางจิตใจกันบ้าง ปัญหาหลักๆ ที่เกิดได้บ่อยกับชาวออฟฟิศและมนุษย์วัยทำงานแทบทุกคน คือ อาการนอนไม่หลับ และเมื่อนอนไม่หลับบ่อยเข้า ก็กลายเป็นโรคนอนไม่หลับที่ส่งผลให้สภาพจิตใจย่ำแย่ และร่างกายทรุดโทรมลง

สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ มีหลายปัจจัย หลักๆ ก็คือความเครียด ความวิตกกังวล รวมไปถึงอาการป่วยไข้ต่างๆ ที่ทำให้นอนหลับไม่สบาย อาการนอนไม่หลับมีหลายรูปแบบ ได้แก่

  • อาการหลับยาก ใช้เวลานานกว่า 20 นาที (Intial insomnia)
  • อาการหลับๆ ตื่นๆ เคลิ้มหลับเป็นพักๆ แต่เมื่อตื่นมาแล้วจะรู้สึกเหมือนยังไม่ได้นอน
  • นอนแล้วตื่นกลางดึกบ่อยๆ บางคนเมื่อตื่นแล้วก็นอนไม่หลับอีกเลย 

สำหรับใครที่มีอาการเหล่านี้ หรือนอนไม่หลับมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกันมานาน 1 เดือน ควรเข้าพบจิตแพทย์ ขอคำปรึกษาและรักษา เพื่อไม่ให้ร่างกายและจิตใจทรุดโทรมมากไปกว่าเดิม

รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนเพื่อช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ เช่น พยายามเข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน งดใช้แท็ปเล็ตหรือสมาร์ทโฟนก่อนเข้านอน ไม่ดื่มชากาแฟก่อนนอน หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง จุดเทียนหอม เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายเต็มที่ และปิดไฟในห้องนอนให้มืดสนิท จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น    

จะเห็นว่าสาเหตุของโรคแต่ละโรคที่มาเยือนชาวออฟฟิศ ส่วนใหญ่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง แม้เราจะต้องก้มหน้าทำงานหนักกันต่อไป แต่ใครที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็ขอให้เพิ่มการดูแลตัวเองขึ้นมาอีกนิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และบังคับตัวเองซักหน่อย งานหนักจะได้ไม่ฆ่าเรานะคะ 

Covid-19

สุดท้ายนี้ นอกจากโรคร้ายตามติดทั้ง 8 อีกหนึ่งโรคที่ชาวออฟฟิศต้องระวังให้มาก ก็คือโควิด-19 ที่นับวันจะยิ่งกลายพันธุ์แกร่งกล้าขึ้นทุกที ใครที่ยังออกไปทำงานข้างนอก ก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดไปในพื้นที่เสี่ยง และเว้นระยะห่างอยู่เสมอนะคะ 

ช้อปอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 ได้เลยที่ OfficeMate