ข่าวล่ามาเร็วบอกเอาไว้ว่า วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส Covid-19 คือ ‘การล้างมือด้วยสบู่’ แถมยังมีนักเคมีออกมาบอกอีกด้วยว่า การล้างมือด้วยสบู่ไม่ใช่เพียงแค่ล้างเชื้อไวรัสให้หลุดออกไปจากมือเท่านั้น แต่สบู่ยังสามารถทำลายเชื้อไวรัส Covid-19 นี้ได้อีกด้วย!

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมสบู่ธรรมดาๆ ถึงจัดการเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ดีที่สุด? วันนี้ออฟฟิศเมทมีคำตอบแบบเจาะลึกมาให้คุณ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราไปทำความรู้จักกับเจ้าไวรัส Covid-19 แบบละเอียดกันก่อนดีกว่าค่ะ

โครงสร้างของ ‘เชื้อไวรัส Covid-19’

โครงสร้างของไวรัสประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ กรดไรโบนิวคลีอิก (RNA), โปรตีน และไขมัน ข้อมูลจากอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ไม่มีกระบวนการเผาผลาญ และไม่สามารถผลิตพลังงานให้ตัวเองได้ ไวรัสต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น แบคทีเรีย พืช สัตว์ หรือมนุษย์ เป็นแหล่งพักพิง (Host) เพื่อเพิ่มจำนวนและแพร่พันธุ์ เช่นเดียวกับไวรัสชนิดอื่นๆ ไวรัส Covid-19 ก็ต้องการ Host เป็นแหล่งพักพิง และแหล่งพักพิงของมันก็คือพวกเรานั่นเอง

การกระจายตัวของไวรัส Covid-19 สู่มนุษย์

เมื่อไวรัส Covid-19 ได้ Host เป็นแหล่งพักพิงแล้ว เซลล์ของ Host ที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะผลิตองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนของไวรัสขึ้นมา กลายเป็นไวรัสตัวใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และฝังตัว พร้อมทั้งแพร่พันธ์ุอยู่ในเซลล์ของ Host หากเซลล์ที่ติดเชื้อถูกไวรัสทำลายจนหมด ไวรัสเหล่านี้ก็จะเคลื่อนย้ายไปยังเซลล์อื่นๆ ต่อไป อย่างเช่น ผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่มีอาการปอดอักเสบ เพราะมีเชื้อไวรัสไปจับอยู่เซลล์ที่ปอดแล้วค่อยๆ กัดกินปอดนั่นเองค่ะ

หากคุณมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัว แล้วไอหรือจามออกมา ก็มีโอกาสที่ไวรัสจะปะปนออกมากับละอองน้ำมูกและน้ำลาย ที่แม้ว่าละอองเหล่านั้นจะระเหยแห้งไปแล้ว แต่ไวรัสยังคงแอคทีฟตัวเองอยู่ หากมีคนเผลอไปสัมผัสบริเวณที่เปื้อนสารคัดหลั่ง เยื่อหุ้มเซลล์ของไวรัสที่ประกอบด้วยโปรตีนและไขมัน จะทำปฏิกิริยากับโปรตีนและกรดไขมันในเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วบนมือ และเมื่อเอามือนั้นมาสัมผัสหน้า ตา หู หรือจมูก ก็จะพาลติดเชื้อไปด้วยนั่นเอง

ไวรัสที่เกาะบนมือนั้น เกาะแน่นหนึบเหมือนติดกาว และมีเพียงสบู่เท่านั้น ที่สามารถสลายกาวเหนียวนี้ออกไปได้… เพราะอะไร ไปดูกันเลยค่ะ

ขั้นตอนการเอาชนะเชื้อไวรัส Covid-19 ของ ‘สบู่’

สบู่ ประกอบด้วยโมเลกุล 2 ส่วนที่แตกต่างกัน คือ ส่วนที่เป็นน้ำ กับ ส่วนที่เป็นไขมัน โมเลกุลของส่วนที่เป็นไขมันนั้น มีสสารที่เรียกว่า แอมฟิไฟล์ (Amphiphile) ที่มีโครงสร้างคล้ายกับไขมันในเยื่อหุ้มเซล์ของไวรัส โมเลกุลส่วนนี้เองที่ทำให้สบู่จัดการกับไวรัสได้มีประสิทธิภาพที่สุด

เมื่อเราล้างมือด้วยสบู่ โมเลกุลส่วนที่เป็นไขมันจะไปจับตัวกับไขมันบนเยื่อหุ้มเซลล์ของไวรัส แล้วทำการแยกไขมันนี้ออกมา เมื่อเกราะป้องกันอย่างเยื่อหุ้มเซลล์แตกออก โครงสร้างภายในของไวรัสก็เลยถูกสบู่ทำลายให้หมดฤทธิ์ตามไปด้วย แต่ปฏิกริยานี้จำเป็นต้องใช้เวลาซักระยะ จึงเป็นที่มาของกฎการล้างมือ 20 วินาที

ล้างมือด้วยสบู่ให้ถูกวิธี กำจัดเชื้อไวรัส Covid-19 ให้หายเกลี้ยง! 

อย่างที่บอกว่าปฏิกริยาทำลายเชื้อไวรัส Covid-19 ด้วยสบู่ จำเป็นต้องใช้เวลาซักระยะ บวกกับผิวหนังบนมือของเราที่เต็มไปด้วยรอยพับรอยย่น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องถูมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที เพื่อให้สบู่ได้ซึมเข้าไปยังซอกเล็กๆ และทำปฏิกิริยากับไวรัสที่ซ่อนอยู่ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ทุกคนล้างมือให้บ่อย อย่างน้อยคือทุกครั้งหลังออกไปในที่สาธารณะ หลังสั่งน้ำมูก ไอ หรือจาม และก่อนรับประทานอาหาร

และการล้างมือด้วยสบู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ควรละเลยใน 6 จุดนี้ ได้แก่ มือฝ่า-ง่ามนิ้วด้านหน้า, หลังมือ-ง่ามนิ้วด้านหลัง, นิ้ว-ข้อนิ้วด้านหลัง, นิ้วหัวแม่มือ, ปลายนิ้ว-เล็บ และรอบข้อมือ ถูทุกส่วนให้ทั่วด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษชำระแบบใช้ครั้งเดียว ไม่แนะนำให้เช็ดมือด้วยผ้าเช็ดมือและไม่ควรใช้ผ้าเช็ดมือร่วมกันด้วยนะคะ

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นที่ยืนยันแล้ว ว่าการล้างมือด้วยสบู่ช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อไวรัส Covid-19 ได้ และไม่ว่าจะสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว จะเป็นสบู่ธรรมดาหรือสบู่สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียก็สามารถใช้ได้ทั้งหมด ดังนั้น เพื่อช่วยกันลดอัตราการแพร่เชื้อ ออฟฟิศเมทอยากให้คุณดูแลตัวเองให้ดี ล้างมือบ่อยๆ และพยายามไม่นำมือไปสัมผัสบริเวณหน้าด้วยนะคะ

แต่สำหรับใครที่ล้างมือบ่อยจนสบู่หมด ออฟฟิศเมทมีสบู่เหลวจากหลากหลายแบรนด์รอให้คุณมาเลือกช้อป มีทั้งสบู่เหลวฆ่าเชื้อโรค, สบู่เหลวผสมมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยให้มือไม่แห้งตึง และอีกมากมาย แถมสั่งวันนี้ส่งฟรีทั่วประเทศแบบไม่มีขั้นต่ำ* ด้วยนะคะ อย่ารอจนสบู่หมด เข้ามาช้อปกันเลยดีกว่าค่ะ คลิก!

*หมายเหตุ ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2563 – 12 เมษายน 2563

0 CommentsClose Comments

Leave a comment