เชื่อว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการหลายคน เมื่อถูกถามว่าไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาหรือยัง ก็คงจะรู้สึกสับสนอยู่ไม่น้อยว่า “เราต้องจดด้วยเหรอ” หลายคนยังไม่ทราบเลยว่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร เราจำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และรายละเอียดเป็นอย่างไร เรามาดูกัน

1.ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับพระเอกของเราเสียก่อน ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ “Vat” คือภาษีอากรประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชน หรือลูกค้าของธุรกิจนั้นๆ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือภาษีที่ถูกเรียกเก็บเมื่อคุณไปซื้อสินค้าหรือบริการมานั่นเอง สำหรับคนทั่วไปคุณมีหน้าที่ “จ่าย” มันอย่างเดียว เพราะผู้ประกอบการเขาผลักให้เป็นภาระของคุณอยู่แล้ว แต่สำหรับเจ้าของกิจการจะพิเศษหน่อยตรงที่เมื่อคุณซื้อสินค้ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า คุณก็ต้องจ่าย Vat ให้ร้านที่คุณซื้อวัตถุดิบ เรียกว่า “ภาษีซื้อ” และเมื่อสินค้าของคุณขายได้ และคุณเก็บ Vat จากลูกค้า ตรงนี้จะเรียกว่า “ภาษีขาย” คุณสามารถเอา Vat สองส่วนนี้มาลบกัน แล้วจ่ายส่วนต่างให้กรมสรรพากรได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ Vat ไว้ที่ 7%

2.แล้วใครต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ที่มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่เสียภาษี ไม่ว่าจะภาษีบุคคลธรรมดา หรือภาษีในฐานะบริษัท สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ผู้เสียภาษีจะอยู่ในรูปบริษัท แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลไม่ได้ใจร้ายเรียกเก็บกับทุกบริษัท โดยเกณฑ์ขั้นต่ำที่ใช้พิจารณาคือ บริษัทนั้นต้องมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ถึงจะเข้าเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เราสามารถยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตั้งแต่แรก หรือคำนวณรายรับแล้วเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีแน่นอน หรือในกรณีที่ไม่ได้จดไว้ก่อน เมื่อรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทในปีนั้นๆ ให้รีบยื่นคำร้องขอจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับจากวันที่รายรับเกิน หรือบริษัทที่มีการดำเนินงานอันเป็นเหตุให้ต้องซื้อสินค้าและบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อาทิเช่น การก่อสร้างโรงงาน สำนักงาน และการติดตั้งเครื่องจักร ให้ยื่นคำร้องภายใน 6 เดือนก่อนเริ่มกิจการ นอกจากนี้กฎหมายยังครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ที่ขายสินค้าและบริการผ่านตัวแทนในประเทศก็ให้ตัวแทนรับผิดชอบไป

3.ใครบ้างที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาครัฐมีข้อยกเว้นเสมอเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรับภาระมากเกินไป ผู้ที่ไม่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอันดับแรกคือ กิจการที่มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 1.8 ล้านบาท รวมถึงกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนใหญ่มักจะเป็นการขายสินค้าทางการเกษตร การบริการสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน กิจการเกี่ยวกับการขนส่ง และสถานพยาบาล

ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในประเทศเป็นครั้งคราว รวมถึงผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศแต่มีการใช้บริการจากประชาชนภายในประเทศก็อยู่ในข่ายไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ประกอบการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุสมควร

อ่านเพิ่มเติม: ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

4.เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป

เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องดำเนินการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยต้องออกใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานทุกครั้ง จากนั้นจึงรวบรวมเอกสารทำเป็นรายงานตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับตัวรายงานจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อความสะดวกในการคำนวณภาษีและตรวจสอบความถูกต้อง

ทั้งนี้เมื่อจัดทำรายงานเสร็จแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและชำระภาษีผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ยื่นที่กรมสรรพากรในเขตพื้นที่ และผ่านทางธนาคารพาณิชย์

สำหรับบางธุรกิจที่ต้องเสียทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถไปยื่นพร้อมกันได้ที่กรมสรรพสามิตได้เช่นกัน

และในกรณีที่มีการนำเข้าสินค้าและต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถชำระได้ที่ด่านศุลกากรพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมาย

จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางออนไลน์

5.เมื่อเข้าใจเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เราจะไปยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ไหนบ้าง

ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจที่เข้าข่ายต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ 2 ช่องทางตามที่กรมสรรพากรกำหนด ได้แก่

  1. ยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.rd.go.th/publish/272.0.html
  2. ยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษ (แบบภ.พ.01) ณ หน่วยจดทะเบียนคือ สำนักงานสรรพากร และสำนักงานสรรพากรสาขา (เขต, อำเภอ) ของที่ตั้งสถานประกอบการตามพื้นที่ที่กิจการตั้งอยู่ และหากมีหลายสาขาก็ให้ยื่นจด ณ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เท่านั้น หรือยื่นที่สำนักงานบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ในกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่อยู่แล้ว

สำหรับการเตรียมเอกสารสามารถหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

6.จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว อย่าลืมรับใบ ภ.พ.20

เมื่อคุณยื่นเอกสารคำขอครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแบบ ภ.พ.20 เพียงเท่านี้คุณก็จะกลายเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ที่ระบุในใบทะเบียนเป็นต้นไป หากธุรกิจของคุณมีหลายสาขา ให้คุณยื่นขอ ณ ท้องที่ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เท่านั้น ทางเจ้าหน้าที่จะออกใบ ภ.พ.20 ให้แก่คุณเป็นจำนวนเท่ากับสาขาที่มี หน้าที่ของคุณคือนำไปแสดงตามสาขาต่าง ๆ ได้เลย

ที่สำคัญคุณต้องเก็บรักษาใบ ภ.พ.20 ให้ดี หากมันชำรุดหรือสูญหาย คุณต้องไปยื่นหนังสือขอรับใบแทนภายใน 15 วัน ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ หลังจากที่ทราบว่าใบ ภ.พ.20 ไม่อยู่กับคุณหรือเสียหายไปแล้ว

7.แถมสักนิดก่อนจาก “การจงใจหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มมีความผิดนะเออ”

การเสียภาษีทุกชนิดเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้มีรายได้ทุกคน การจงใจหลีกเลี่ยงภาษีมีความผิด รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นเดียวกัน รายละเอียดความผิดและบทลงโทษสามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ดังนั้นถ้าจะเปิดกิจการของตนเองก็ควรทำอะไรให้ถูกต้องครบถ้วนดีกว่า จงจำไว้เสมอว่าความผิดเรื่องภาษียังไม่มีใครเอาชนะกรมสรรพากรได้ ดีไม่ดีเสียการหลบเลี่ยงภาษี จะทำให้เสียเงินเพิ่มจากค่าปรับโดยใช่เหตุ ดังนั้นจะทำอะไรทำให้ถูกไปเลย จะได้ไม่นั่งเศร้าในภายหลัง

นี่คือข้อมูลสังเขปของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อที่เจ้าของกิจการจะได้มีความเข้าใจ และไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร การยื่นจดก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด ใคร ๆ ก็ทำได้ ขอเพียงทำทุกอย่างถูกต้อง ธุรกิจของคุณก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่นมากขึ้น