ในยุคที่อะไรๆ ก็อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะการสื่อสาร การทำงาน ความบันเทิง แม้กระทั่งการเรียน สัญญาณ Wi-Fi จึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต ที่จำเป็นไม่แพ้ปัจจัย 4 ซึ่งการมีสัญญาณไวไฟที่เสถียร จะช่วยตอบโจทย์การใช้งานทุกอย่างได้ดี แต่หลายครั้งที่หลายคนคงเคยประสบปัญหา ไวไฟกระตุก สัญญาณขาด โหลดช้า ไม่ครอบคลุมพื้นที่ และอื่นๆ จนทำให้การทำงานต้องสะดุด การสื่อสารขาดช่วง และเสียอรรถรสความบันเทิง

เพราะแค่เราเตอร์ อาจไม่เพียงพอ

แม้จะมีเราเตอร์คอยส่งสัญญาณไวไฟอยู่แล้ว แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดปัญหาอย่างที่กล่าวไป เพราะเราเตอร์ตัวเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะส่งสัญญาณไวไฟให้ครอบคลุมทั่วทั้งบ้านได้ โดยเฉพาะกับบ้านหลังใหญ่ๆ มีพื้นที่กว้าง หรือมีสิ่งกีดขวางมากมาย ในเมื่อความต้องการที่จะได้ใช้สัญญาณไวไฟแรงๆ เสถียรๆ เกิดขึ้น ตัวช่วยที่ OfficeMate อยากแนะนำเพื่อแก้ปัญหานี้ ก็คือ ‘เครื่องขยายสัญญาณไวไฟ’

เครื่องขยายสัญญาณไวไฟ คืออะไร?

เครื่องขยายสัญญาณไวไฟ เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาใช้งานคู่กับเราเตอร์อินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อช่วยกระจายสัญญาณไวไฟให้ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหลังใหญ่ อยู่บนชั้น 3 หรืออยู่นอกบ้าน ก็สามารถใช้งานไวไฟได้แบบเสถียร หมดปัญหาสัญญาณขาดหาย ไปไม่ถึง หรือต้องลากสายแลนให้ยุ่งยาก

เครื่องขยายสัญญาณไวไฟ แบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ ตามรูปแบบการทำงาน คือ Wi-Fi Repeater เป็นเครื่องช่วยย้ำสัญญาณไวไฟ แก้ปัญหาไวไฟสัญญาณอ่อน และ Wi-Fi Extender เป็นเครื่องช่วยขยายหรือกระจายสัญญาณไวไฟ ให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานมากที่สุด ช่วยลดปัญหามุมอับสัญญาณ ซึ่งวันนี้ เราจะมาพูดถึง Wi-Fi Extender กัน

เลือกซื้อ เครื่องขยายสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi Extender) แบบไหนดี?

เลือกเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่รองรับคลื่นความถี่ได้หลากหลาย (Dual Band)

เครื่องขยายสัญญาณไวไฟรองรับคลื่นความถี่ของสัญญาณไวไฟได้ 2 แบบ คือ คลื่นความถี่ 2.4 GHz และ คลื่นความถี่ 5 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่มาตรฐาน โดยความแตกต่างของ 2 คลื่นความถี่นี้ คือ

  • คลื่นความถี่ 2.4 GHz ให้ความเร็วในการรับส่งสัญญาณที่ 300 – 600 Mbps เป็นความถี่ที่อุปกรณ์ส่วนใหญ่รองรับ มีช่วงความถี่ของคลื่นยาว สามารถส่งสัญญาณไวไฟได้ไกล และครอบคลุมพื้นที่ ทะลุสิ่งกีดขวาง อย่าง กำแพง หรือเพดานได้ดี แต่ไม่เหมาะกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายอย่างพร้อมๆ กัน เพราะช่องสัญญาณ (Bandwitch) มีน้อยหากเชื่อมต่ออุปกรณ์พร้อมๆ กัน จะช้า และกระตุก 
  • คลื่นความถี่ 5 GHz ให้ความเร็วในการรับส่งสัญญาณที่ 1200 – 1300 Mbps แม้จะมีความเร็วมากกว่า แต่ช่วงความถี่ของคลื่นสั้น ทะลุสิ่งกีดขวางได้ไม่ดี และครอบคลุมพื้นที่ได้น้อยกว่า แต่หากต้องการใช้งานกับอุปกรณ์หลายๆ อย่างพร้อมกัน คลื่นความถี่ 5 GHz นั้นเสถียรกว่า เพราะมีช่องสัญญาณ (Bandwitch) มากกว่า อุปกรณ์จึงไม่ต้องแย่งช่องสัญญาณ หรือซ้อนทับอยู่ในช่องสัญญาณเดียวกันนั่นเอง  

ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องขยายสัญญาณไวไฟ 1 เครื่อง สามารถรองรับได้ทั้ง 2 คลื่นความถี่ แต่ผู้ใช้จะสามารถเลือกใช้ได้เพียงคลื่นความถี่เดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็มีเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่ออกแบบมาให้สามารถรองรับได้ทั้ง 2 คลื่นความถี่ และเลือกใช้งานทั้ง 2 คลื่นความถี่นั้นได้พร้อมๆ กัน เรียกว่า เครื่องขยายสัญญาณไวไฟแบบ Dual-band ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นของอุปกรณ์ ไม่ต้องแย่งกันใช้จนไวไฟช้า หรือกระตุก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนซื้อ เครื่องขยายสัญญาณไวไฟ อย่าลืมเช็กอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ว่ารองรับคลื่นความถี่แบบใด เพื่อเลือกใช้หรือตั้งค่าเครื่องขยายสัญญาณไวไฟให้ตรงกัน จะได้ใช้งานไวไฟได้เสถียรและไม่สะดุดนะคะ

ตัวอย่าง การตรวจสอบคลื่นความถี่ที่คอมพิวเตอร์สามารถรองรับได้ คลิก help.truecorp.co.th 

เลือกเครื่องขยายสัญญาณไวไฟโดยพิจารณาจากพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน

อย่างที่บอกว่า การกระจายสัญญาณนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคลื่นความถี่ที่ใช้ ก่อนซื้อเครื่องขยายสัญญาณไวไฟ นอกจากพิจารณาให้เหมาะสมกับคลื่นความถี่ที่อุปกรณ์รองรับแล้ว ก็ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ใช้งานด้วย 

ตัวอย่างเช่น ต้องการซื้อเครื่องขยายสัญญาณไวไฟสำหรับใช้งานในบ้าน 2 ชั้น โดยมีเราเตอร์ไวไฟติดตั้งอยู่ที่ ชั้น 1 อาจเลือกเป็นเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่รองรับเฉพาะคลื่นความถี่ 2.4 GHz ที่สามารถทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดี หรือเลือกเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่มีเทคโนโลยี Beamforming จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งสัญญาณ กระจายไวไฟไปยังจุดอับได้ดีกว่า เพื่อส่งสัญญาณไวไฟขึ้นไปถึงห้องชั้น 2 ได้อย่างเสถียร 

แต่ถ้าบ้านอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อไวไฟพร้อมกันหลายเครื่อง อาจต้องเลือกเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่รองรับได้ทั้ง 2 คลื่นความถี่ (Dual-band) เพื่อแบ่งช่องสัญญาณให้อุปกรณ์ทุกชิ้นใช้งานไวไฟพร้อมกันได้แบบไม่สะดุด เป็นต้น

*ทริคเสริมช่วยเครื่องขยายสัญญาณ กระจายสัญญาณได้ดีขึ้น
เพื่อความเร็ว แรง และครอบคลุม แนะนำให้ติดตั้งเราเตอร์ไวไฟ และเครื่องขยายสัญญาณไวไฟในที่โล่ง ปรับเสาอากาศให้ตั้งตรง ไม่ควรตั้งชิดกำแพง หรือมุมอับ ควรเว้นระยะจากกำแพงประมาณ 20 เซนติเมตร และควรวางให้ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ

(ข้อมูลจาก : help.truecorp.co.th)

เลือกเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่มีฟังก์ชันเสริม

ฟังก์ชันเสริมหรือออฟชันเพิ่มเติมของเครื่องขยายสัญญาณไวไฟ เช่น

  • ช่องเสียบสายแลน หรือพอร์ต Ethernet สำหรับในกรณีที่อยากเชื่อมต่อไวไฟกับสมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก ซึ่งสายแลนจะช่วยให้สัญญาณไวไฟนั้นเสถียรได้มากกว่า 
  • Beamforming เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งกระจายสัญญาณ ลดปัญหาจุดอับสัญญาณ และช่วยเพิ่มรัศมีในการส่งสัญญาณไวไฟให้กว้างขึ้น
  • MU-MIMO (Multi-user Multiple Input Multiple Output) เทคโนโลยีที่ช่วยให้เครื่องขยายสัญญาณไวไฟสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายชิ้นเพื่อใช้งานพร้อมๆ กันได้เสถียรขึ้น ทั้งยังช่วยยกระดับระบบสตรีมมิ่ง อย่างในสมาร์ททีวี หากคุณใช้เครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่มีเทคโนโลยี MU-MIMO การเชื่อมต่อไวไฟกับสมาร์ททีวีก็จะไม่กระตุก ดูหนัง ฟังเพลง สตรีมเกม ได้ไม่สะดุดแน่นอน

เลือกเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่ติดตั้งง่าย ไม่ซับซ้อน 

เทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาก็เพื่อลดความซับซ้อนยุ่งยาก ช่วยให้ผู้คนสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สำหรับเครื่องขยายสัญญาณไวไฟนั้น ปัจจุบันก็ออกแบบมาให้ผู้ใช้ติดตั้งได้ง่ายด้วยตัวเอง บางยี่ห้อบางรุ่น เพียงแค่เสียบปลั๊ก แล้วกดปุ่ม เครื่องขยายสัญญาณไวไฟก็จะทำการค้นหาและจับคู่เพื่อซิงค์กับไวไฟบ้านได้อัตโนมัติ ความง่ายในการติดตั้งนี้ จะช่วยให้คุณไม่ต้องปวดหัว หรือต้องตามช่างผู้เชี่ยวชาญมาติดตั้งให้วุ่นวาย ช่วยประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายยิบย่อยได้เป็นอย่างดี

ได้รู้ทริคเลือกซื้อเครื่องขยายสัญญาณไวไฟไปแล้ว OfficeMate แนะนำว่า ควรซื้อติดบ้าน เอาไว้โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะปิดห้องเพื่อตั้งสมาธิ สัญญาณไวไฟก็เข้าถึงแบบไม่ต้องลากสายแลนให้ปวดหัว! ช้อป เครื่องขยายสัญญาณไวไฟ กับ OfficeMate คลิกเลย

บทความแนะนำ!

ขอบคุณข้อมูลจาก : bestreview.asia / www.top10.in.th / www.evotech.co.th / my-best.in.th