ล่าสุดมีข่าวพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับ สาเหตุมาจากการหั่นเนื้อหมูด้วยมือที่เป็นแผล และเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด..

ใครจะคาดคิดว่าการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติจะก่อเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ข่าวนี้ทำเอาหลายคนตื่นตระหนก บางคนถึงขั้นไม่กล้าทานเนื้อหมูกันเลยทีเดียว วันนี้ OfficeMate เลยจะพาทุกคนไปลงลึกดูรายละเอียดของโรคไข้หูดับกันว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เข้าสู่ร่างกายคนเราได้จากทางไหน แล้วจำเป็นถึงขั้นต้องหลีกเลี่ยงเนื้อหมูในช่วงนี้เลยรึเปล่า?

โรคไข้หูดับ คืออะไร?

โรคไข้หูดับ เกิดจากแบคทีเรียชื่อว่า สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ซึ่งตามปกติแล้วแบคทีเรียนี้มีอยู่ในหมูทุกตัว โดยฝังอยู่ที่ต่อมทอนซิล และไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อหมูร่างกายอ่อนแอ เครียด ป่วย หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำลง แบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และทำให้หมูเกิดติดเชื้อในกระแสเลือดจนตายในที่สุด 

โรคไข้หูดับ

โรคไข้หูดับจากเชื้อแบคทีเรียในหมูเข้าสู่ร่างกายของเราได้ 2 ทาง คือ ทางบาดแผล รอยถลอก และเยื่อบุตา จากการสัมผัสหมู หรือเลือดหมูที่ติดเชื้อ กรณีนี้กลุ่มเสี่ยง คือผู้ที่สัมผัสกับหมูโดยตรง เช่น คนเลี้ยงหมู คนทำอาชีพชำแหละเนื้อหมู และคนขายเนื้อหมู อีกทางหนึ่ง คือ การทานเนื้อหมู เครื่องในหมู หรือเลือดหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น เมนูลาบ หลู้ ก้อย จิ้มจุ่ม เมนูปิ้งย่างที่ปรุงไม่สุก เป็นต้น 

โรคไข้หูดับ อาการเป็นแบบไหน?

เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-14 วัน แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไม่เกิน 3 วัน อาการที่พบในระยะเบื้องต้น คือ 

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน
  • คลื่นไส้
  • ปวดเมื่อยตามตัว ตามข้อ
  • วิงเวียน หรือปวดศีรษะ
  • มีอาการคอแข็งเกร็ง
  • ชัก

จากอาการเบื้องต้น หากเชื้อลุกลามเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้อต่ออักเสบ และม่านตาอักเสบ นอกจากนั้น เชื้อยังสามารถลุกลามเข้าสู่ประสาทหูชั้นใน ซึ่งอยู่ใกล้กับเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง รวมถึงปลายประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ทำให้เดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ หูตึง จนถึงขั้นหูหนวก จึงเป็นที่มาของชื่อโรคไข้หูดับนั่นเอง 

โรคไข้หูดับ

ความรุนแรงของเชื้อนั้นยังสามารถทำให้เกิดติดเชื้อในกระแสเลือด นำไปสู่ภาวะ Toxic Shock Syndrome ซึ่งร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต แต่ในผู้ป่วยบางรายที่รักษาหาย อาจสูญเสียการทรงตัว หูหนวก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงไปตลอดชีวิต เพราะแบคทีเรียได้เข้าไปทำลายระบบประสาทต่างๆ แล้วนั่นเอง 

*Toxic Shock Syndrome คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้ว แบคทีเรียเหล่านี้จะเติบโตในร่างกาย เข้าสู่กระแสเลือด และสร้างสารพิษที่เป็นอันตราย ส่งผลให้มีอาการไข้สูงฉับพลัน ความดันต่ำ ระบบภายในล้มเหลว และเสียชีวิต 

ป้องกันโรคไข้หูดับ

การป้องกันโรคไข้หูดับจากเนื้อหมูทำได้ง่ายๆ คือ 

  • หลีกเลี่ยงการทานเนื้อหมู เครื่องในหมู เลือดหมูดิบ หรือที่ปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ
  • สวมถุงมือขณะปรุงเนื้อหมู
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสเนื้อหมูดิบ 
  • ไม่ใช้ตะเกียบ ช้อน หรือส้อม ที่เพิ่งตัก หรือคีบเนื้อหมูดิบ มาตักอาหารใส่ปากโดยเด็ดขาด
  • การเลือกซื้อเนื้อหมูให้เลือกจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ เนื้อหมูที่ดีตองมีสีชมพูระเรื่อ สีไม่คล้ำ ไม่มีกลิ่นเหม็น กลิ่นคาว ไม่แห้งกระด้าง จับแล้วต้องไม่มีเมือกเหนียวๆ ที่สำคัญ ต้องสังเกตให้ดีว่าไม่มีเม็ดสาคู หรือไข่พยาธิตัวตืดแทรกอยู่ และอย่าลืมใส่ถุงมือก่อนหยิบจับเนื้อหมูดิบด้วยนะคะ
โรคไข้หูดับ

สำหรับผู้ที่ต้องสัมผัสเนื้อหมู เลือดหมู หรือเครื่องในหมูโดยตรง เช่น พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมู หรือคนทำอาชีพชำแหละเนื้อหมู ควรสวมเสื้อผ้าให้รัดกุม สวมรองเท้าบูท และสวมถุงมือ ขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง เมื่อกลับถึงบ้านก็ควรล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาด อาบน้ำ และสระผมทันที เพื่อป้องกันเชื้อโรคเชื้อแบคทีเรียจากหมู   

นอกจากโรคไข้หูดับ ยังมี ‘ฝีหนอง’ บนเนื้อหมู เป็นอีกหนึ่งเคสที่สร้างความแตกตื่นให้ผู้คนได้พอสมควร 

แต่สำหรับฝีหนองนั้นไม่ใช่โรค ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน เนื้อหมูที่มีฝีหนองสามารถรับประทานได้ โดยตัดส่วนที่เป็นหนองทิ้งไป และนำส่วนที่เหลือไปปรุงให้สุก หากเผลอรับประทานส่วนนั้นเข้าไปก็เพียงแค่จะส่งผลกับสุขอนามัย ทำให้ท้องเสีย ท้องร่วงเท่านั้นเอง แต่ทางที่ดีถ้าเจอฝีหนองก็ตัดออกไปทั้งชิ้นจะดีกว่าค่ะ

         สรุปแล้วเนื้อหมูยังคงทานได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องทานแบบปรุงสุกเท่านั้น! อย่าลืมสวมใส่ถุงมือเมื่อต้องสัมผัสเนื้อหมูดิบ และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะในยุคนี้อะไรป้องกันได้ก็ควรป้องกัน ปลอดภัยเอาไว้ก่อนนะคะ 

ช้อปถุงมือพลาสติกอเนกประสงค์ และหน้ากากอนามัยไปสวมใส่ก่อนออกไปช้อปปิ้งเพื่อความปลอดภัยได้เลยที่ OfficeMate 

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
โรงพยาบาลสินแพทย์