การทำงานเป็นทีม คือการรวมกลุ่มสำหรับทำงานและประสานงานกันภายในกลุ่มย่อยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนที่ทำงานออฟฟิศหลายคนคงต้องเคยผ่านประสบการณ์การทำงานเป็นทีมมาก่อนไม่มากก็น้อย แต่เราเคยสังเกตกันบ้างไหมคะว่าตัวเองเป็นสมาชิกที่อยู่ในระดับไหนของทีม? เราคือจุดแข็งที่คอยขับเคลื่อนไอเดียต่างๆ เต็มไปด้วยพลังและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเป็นจุดอ่อนของทีมที่ตามเพื่อนไม่ทันสักที? แล้วถ้าเรากลายเป็นจุดอ่อนขึ้นมาจะทำอย่างไร !? ลองมาดูแนวทางแก้ไขเพื่อเปลี่ยนจากจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งของทีมกันดีกว่าค่ะ

จะรู้ตัวได้อย่างไรว่าตัวเองกลายเป็นจุดอ่อนของทีม

แบ่งเวลาการทำงานไม่ได้

สำหรับการทำงานออฟฟิศ การแบ่งเวลาคือเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ ที่เราต้องใส่ใจ เพราะการทำงานในแต่ละวันเราอาจต้องเจองานหนักเบาไม่เท่ากัน หรือบางวันก็มีงานด่วนมาแทรกตารางงานปกติ ทำให้เวลาที่วางแผนไว้ต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องรับผิดชอบงานร่วมกับสมาชิกทีมคนอื่น การแบ่งเวลาให้ชัดเจนยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ หากเราเริ่มแบ่งเวลางานส่วนตัวออกจากงานส่วนรวมไม่ได้ เริ่มทำงานช้า ส่งงานเกินกำหนด ทำให้ตารางงานพลาดไปหมด นั่นล่ะค่ะคือสัญญาณเตือนของการแบ่งเวลาที่ไม่มีคุณภาพ สัญญาณแรกของการกลายเป็นจุดอ่อน

ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

เมื่อการแบ่งเวลาล้มเหลว งานที่ทำก็ต้องรีบเร่งขึ้น คุณภาพงานที่ได้ก็ลดลงทั้งงานส่วนตัวและการทำงานเป็นทีม อาจเกิดข้อผิดพลาดในเอกสาร ข้อมูลสถิติหรือตัวเลขตกหล่น แม้กระทั่งข้อผิดพลาดร้ายแรงอื่นๆ ที่อาจตามมา ยิ่งเราไม่สามารถบริหารจัดการงานให้มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ ยิ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าเราไม่สามารถรับมือกับภาระหน้าที่สำคัญในทีมได้นั่นเอง

คิดตามไอเดียของเพื่อนร่วมทีมไม่ทัน

ทุกๆ ครั้งเมื่อเพื่อนร่วมทีมพูดถึงไอเดียสร้างสรรค์สำหรับการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เราเคยรู้สึกคิดตามไม่ทันบ้างไหมคะ อาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าสิ่งที่คนอื่นพูดนั้นหมายถึงอะไร หรือนึกภาพกระบวนการทำงานไม่ออก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม การตามไอเดียของเพื่อนร่วมทีมไม่ทันนั้นหมายความว่าเรากำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ทีมทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ

จับประเด็นการประชุมไม่ได้

การประชุมหรือ Brainstorm เป็นโอกาสที่สมาชิกในทีมจะมีโอกาสได้พูดคุยกันถึงประเด็นปัญหาและวิธีการแก้ไขการทำงานต่างๆ รวมถึงการหาแนวทางทำงานให้กับทีมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญสำหรับการทำงานเป็นทีม แต่ถ้าหากเราเข้าร่วมประชุมแล้วไม่สามารถจับประเด็นสำคัญในการพูดคุยได้เลย หรือไม่รู้ว่าควรร่วมพูดคุยกับคนอื่นๆ ด้วยประเด็นอะไร นั่นแสดงว่าเรากำลังเริ่มกลายเป็นจุดอ่อนแล้วค่ะ

ปรับตัวด่วน! ทำอย่างไรให้พ้นจากสถานะ “จุดอ่อน”

จัดระเบียบตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัวหรืองานของทีมที่เรารู้สึกว่าล้นมือจนไม่รู้จะหยิบจับงานไหนก่อน ลองจัดระเบียบด้วยการลิสต์รายการงานทั้งหมดและเริ่มเรียงลำดับความสำคัญ จากนั้นแยกงานด่วนและงานที่ไม่ด่วนออกจากกันให้เห็นชัดเจน จัดการเอกสารเรื่องเดียวกันรวมไว้ในแฟ้มเดียว อาจจะเลือกแบ่งตามสีแฟ้ม แปะโพสต์อิทเตือนความจำ หรือแบ่งตามชั้นวางเอกสาร นอกจากนี้อย่าลืมจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบด้วยนะคะ การจัดระเบียบงานจะทำให้เราเห็นภาพรวมของงานทั้งหมดและรู้ว่าควรจัดการงานชิ้นไหนก่อน นอกจากนี้การจัดระเบียบให้โต๊ะทำงานยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นก้าวแรกของการขยับออกห่างจากตำแหน่งจุดอ่อนของทีมค่ะ

ใช้บอร์ดเตือนความจำให้เป็นประโยชน์

งานแต่ละชิ้นมีกำหนดส่งงานไม่เท่ากัน นอกจากนี้ระหว่างการทำงานเราอาจต้องจดบันทึกไอเดียที่ผุดขึ้นมากระทันหันหรือมีการนัดหมายประชุมประจำเดือน สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถเขียนลงบนโพสต์อิทหรือกระดาษโน้ต จากนั้นก็แปะไว้ที่บอร์ดเตือนความจำส่วนตัวได้ทันที การใช้บอร์ดเตือนความจำจะช่วยให้เรามองเห็นได้ง่ายและบ่อยครั้งกว่าการจดลงในสมุดโน้ต เพราะแผ่นบอร์ดสามารถตั้งไว้ตรงส่วนไหนก็ได้ของห้องทำงานโดยไม่เปลืองพื้นที่ สามารถเลือกวางไว้ในระดับสายตาที่เรามองเห็นได้ทันที ทำให้วางแผนการทำงานได้ดีขึ้น ไม่ลืมไอเดียดีๆ ที่คิดได้แบบกระทันหัน และอาจนำไอเดียต่างๆ ที่น่าสนใจของเพื่อนร่วมทีมมาแปะไว้เพื่อคิดหาทางต่อยอดได้อีกด้วย

จดบันทึกประเด็นที่น่าสนใจทุกครั้งในการ Brainstorm

ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากจุดอ่อนของทีมมาเป็นหนึ่งในสมาชิกที่มีคุณภาพ นอกจากจะเข้าร่วมประชุมหรือ Brainstorm ทุกครั้งแล้ว ยังต้องมีสมาธิในการประชุม ไม่เหม่อลอยหรือสนใจสมาร์ทโฟนมากกว่าประเด็นที่กำลังพูดคุยกันอยู่ วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราจดจ่อกับการประชุมตรงหน้าคือพกสมุดโน้ตคู่ใจหนึ่งเล่มสำหรับจดบันทึก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นหลักหรือประเด็นย่อย นอกจากนี้เมื่อมีเพื่อนร่วมทีมเสนอแนวคิดต่างๆ ก็ควรจดไว้ด้วยเผื่อไอเดียนั้นสามารถนำมาใช้งานได้ในอนาคต จากนั้นหลังการประชุมให้เราลองอ่านทบทวนสิ่งต่างๆ ที่บันทึกเอาไว้อีกครั้ง วิธีนี้ถึงแม้ว่าเราอาจจะยังไม่มีไอเดียน่าสนใจในช่วงการประชุม แต่เมื่อได้มาทบทวนสิ่งที่จดไว้ เราก็จะเห็นภาพรวมของการประชุมครั้งนั้นได้ดีขึ้นและยังสามารถคิดต่อยอดไอเดียต่างๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติม : Brainstorming เทคนิคสร้างไอเดีย เจอโจทย์ยากแค่ไหนก็ไม่หวั่น!

ทบทวนเป้าหมายของทีม

การทำงานเป็นทีมทุกงานล้วนมีเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่องค์กรมุ่งหวัง อย่าลืมทบทวนทุกครั้งว่าเป้าหมายของงานที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร การรู้เป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เรารู้ว่าควรหาวิธีการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างไร และยังทำให้การทำงานหรือการหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองต่อสิ่งที่องค์กรต้องการได้ดีขึ้น

พูดคุยกับเพื่อนร่วมทีม

การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นคือสิ่งที่สำคัญมากและขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำงานเป็นทีม เราต้องเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับคนอื่นอย่างมีเหตุผล หากเจอปัญหาในการทำงานให้ลองปรึกษาเพื่อนร่วมงานที่สนิทหรือมีความรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เราเจอ หรือถ้าไม่มั่นใจในวิธีแก้ปัญหาของตัวเองก็ลองปรึกษาหัวหน้างานดูก็ได้ การเลือกที่จะพูดคุยและสื่อสารกับคนอื่น เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังทำให้ความสัมพันธ์ภายในทีมดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

อย่าเพิ่งตกใจหรือเสียใจเมื่อรู้สึกว่าตัวเองคือจุดอ่อนของทีม เพราะการที่เรารู้ตัวเร็วย่อมหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพราะฉะนั้นอย่าลืมนำแนวทางเปลี่ยนตัวเองจากคนที่เคยเป็นจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งของทีมไปลองปรับใช้กันดูนะคะ นอกจากนี้แนวทางที่เรานำมาเสนอยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ทุกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รับรองได้เลยว่าคุณจะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นพนักงานที่ทำงานได้มีคุณภาพอย่างแน่นอนค่ะ

พัฒนาตัวเองเพื่อก้าวไปพร้อมๆกับทีมของคุณอย่างมีคุณภาพด้วยการเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม  ไม่ว่าจะเป็น แพลนเนอร์ สมุดโน้ต บอร์ดเตือนความจำ กระดาษโพสต์อิทสีต่างๆ และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ ที่ช่วยให้การทำงานเป็นทีมของคุณง่ายและมีคุณภาพมากขึ้น ด้วยอุปกรณ์คุณภาพที่ออฟฟิศเมท รับประกินสินค้า 30 วัน* จัดส่งฟรี* ถึงออฟฟิศ ช่วยคุณประหยัดเวลา  มีเวลาเหลือไปพัฒนาตัวเองได้อีกเพียบเลยล่ะค่ะ