Social jet lag อีกหนึ่งสาเหตุที่บั่นทอนสุขภาพร่างกาย และทำลายประสิทธิภาพการทำงานชาวออฟฟิศ คนที่มีอาการ Social jet lag ภายนอกอาจดูเหมือนคนขี้เกียจ ง่วงซึม ไร้เรี่ยวแรง คิดอะไรก็ไม่ออก แต่จริงๆ แล้วอาการนี้สามารถอธิบายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้

ไปดูกันว่า Social jet lag คืออะไร? อาการเป็นแบบไหน? แล้วจะแก้ไขอย่างไรก่อนมันจะทำลายสุขภาพและหน้าที่การงาน

Social jet lag คืออะไร? 

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Jet lag ที่เป็นอาการอ่อนเพลีย ง่วง และสมองตื้อ เกิดขึ้นกับคนเดินทางข้ามประเทศที่มีทามโซนกลางวัน-กลางคืนแตกต่างกัน ทำให้ร่างกายต้องปรับการเข้านอนตามเวลาของประเทศนั้นๆ ส่งผลให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายเรรวน

ซึ่งอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึมตลอดเวลา และสมองมึนตื้อนี้ สามารถเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้เดินทางข้ามประเทศได้เช่นกัน และอาการนี้มักเกิดขึ้นในวันจันทร์ หรือวันที่เริ่มต้นกลับมาทำงาน หลังจากผ่านช่วงหยุดยาว เรียกกันว่า ‘Social jet lag’ 

Social jet lag เกิดจากอะไร? 

Social jet lag ใช้หลักการอธิบายเดียวกันกับอาการ Jet lag คือ อ่อนเพลีย ง่วง ไร้เรี่ยวแรง สมองตื้อ สาเหตุหลักมาจากการเข้านอนไม่เป็นเวลา ส่งผลให้ Circadian Rhythms หรือนาฬิกาชีวิต นั้นปั่นป่วน

Circadian Rhythms หรือนาฬิกาชีวิตของคน มีวงจรการทำงานเท่ากับ 24 ชั่วโมง (1 วัน) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตื่น-หลับ ทั้งยังควบคุมการหลั่งของฮอร์โมน รวมไปถึงการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

นาฬิกาชีวิตจะประสานงานกับสมอง อาศัยจดจำการขึ้นลงของดวงอาทิตย์ ผ่านรู้รับแสงบริเวณหลังดวงตา เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นหรือฟ้าสว่าง นาฬิกาชีวิตจะปลุกให้เราตื่น หลั่งฮอร์โมนต่างๆ ปลุกระบบภายในร่างกายให้พร้อมใช้ชีวิต เมื่อพระอาทิตย์ตกหรือฟ้ามืด นาฬิกาชีวิตก็จะทำให้เรารู้สึกง่วงนอน เตรียมร่างกายเข้าสู่โหมดพักผ่อน และจะเป็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาทุกวัน

แต่ถ้ามีการปรับเปลี่ยนเวลาตื่นนอนและเข้านอน อย่างเช่น ในวันศุกร์-เสาร์ เราเข้านอนดึกและตื่นสายขึ้น 2-3 ชั่วโมง นาฬิกาชีวิตจะปรับระบบใหม่ ให้สัมพันธ์กับเวลาเข้านอน-ตื่นอนของเรา แต่เมื่อถึงคืนวันอาทิตย์เราเปลี่ยนมาเข้านอนเร็ว เพื่อที่จะตื่นแต่เช้าในวันจันทร์ นาฬิกาชีวิตของเราก็ต้องปรับระบบใหม่อีกครั้ง

ว่าง่ายๆ คือ การเข้านอนและตื่นนอนในช่วงเวลาที่ต่างกันระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์และวันทำงาน เสมือนเราเดินทางข้ามประเทศและเปลี่ยนทามโซน นาฬิกาชีวิตที่ต้องปรับไปมา จึงรวนเรและสับสน ส่งผลให้หลายคนมีอาการง่วงซึม และอ่อนเพลียในเช้าวันจันทร์ หรือวันที่เพิ่งกลับมาทำงานหลังจากหยุดยาว แม้ในคืนก่อนหน้าจะนอนหลับมามากพอก็ตาม

ผลกระทบจาก Social jet lag  

Social jet lag อาจเกิดขึ้นเพียง 1 ชั่วโมงแล้วหายไป แต่สำหรับคนที่มีอาการ Social jet lag รุนแรง อาจอ่อนเพลีย ง่วงซึม และสมองตื้อๆ ได้มากกว่า 2-3 ชั่วโมง 

ผลกระทบแรกที่เกิดขึ้นเมื่อเป็น Social jet lag คือ ร่างกายเหนื่อยล้า ง่วง ไร้เรี่ยวแรง บางคนมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพราะวันทั้งวันเอาแต่นั่งง่วง ขาดสมาธิ ไม่สามารถโฟกัสกับงานได้ ทั้งยังทำให้ทักษะการจดจำ การให้เหตุผล การคิดแบบมีตรรกะลดลง และอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย  

นอกจากนั้น คนที่มีอาการ Social jet lag รุนแรง ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน เพราะนาฬิกาชีวิตที่แปรปรวนจะไปรบกวนระบบเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงการหลั่งของฮอร์โมนต่างๆ หนำซ้ำยังเสี่ยงกับโรคหัวใจ โรคเบาหวาน (ชนิดที่ 2) รวมไปถึงโรคซึมเศร้า  

อ่านเพิ่มเติม : สิ่งที่คุณต้องรู้เพื่อรับมือกับคนรอบตัวที่เป็น ‘โรคซึมเศร้า’

ไม่อยากเป็น Social jet lag ทำยังไง? 

การต้องนั่งถ่างตาในออฟฟิศ แสร้งว่ามีสมาธิจดจ่อกับงาน หรือเข้าประชุมโดยที่สมองตื้อ ไม่สามารถรับรู้ และประมวลผลข้อมูลใดๆ ได้ เป็นเรื่องทรมาณทั้งร่างกาย และจิตใจ บางคนที่ฝืนไม่ไหวนั่งสัปหงกยังโดนมองว่าขี้เกียจไปซะอีก ดังนั้นแล้ว เพื่อไม่ให้ใครมองว่าเราขี้เกียจ และเพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น OfficeMate แนะนำ

  • พยายามเข้านอนให้เป็นเวลาทุกวัน แม้ในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อปรับให้ระบบต่างๆ ในร่างกายสมดุล และไม่ทำให้นาฬิกาชีวิตสับสน วิธีนี้เป็นทางแก้อาการ Social jet lag ที่ดีที่สุด
  • ก่อนนอนควรทำร่างกายและสมองให้ผ่อนคลายที่สุด เช่น อาบน้ำอุ่นๆ จุดเทียนหอม ฟังเพลงบรรเลง หรืออ่านหนังสือ 
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้พร้อมนอน ปิดไฟให้มืดสนิท และควรลดการใช้สมาร์ทโฟน รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ ก่อนเข้านอนซัก 1 ชั่วโมง เพื่อไม่แสงสีฟ้าจากหน้าจอมารบกวนการนอนหลับ
  • ในตอนเช้าให้ปรับสภาพแวดล้อมอีกครั้ง คือเปิดไฟให้สว่าง หรือเปิดม่านรับแสง เพื่อให้แสงช่วยกระตุ้นสมอง ร่างกาย การหลั่งของฮอร์โมน และช่วยขจัดความอ่อนเพลีย ให้นาฬิกาชีวิตพร้อมเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง 
  • หากใครนอนไม่หลับ หรือหลับยาก แนะนำ นอนไม่หลับ ทำยังไงดี? มาดู 8 เทคนิคช่วยให้นอนหลับได้ แบบไม่ต้องพึ่งยา

เพราะช่วงนี้ การดูแลรักษาสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ดังนั้นแล้ว อย่าลืมทานอาหารดีๆ ออกกำลังกาย ขยับแข้งขยับขาบ้าง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ส่วนใครที่นอนไม่หลับ หรือมีอาการ Social jet lag อย่าลืมลองเอาคำแนะนำไปปรับใช้กันดูนะคะ OfficeMate ขอให้ชาวออฟฟิศทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง พร้อมต่อสู้กับเชื้อไวรัส และงานกองโตได้แบบราบรื่น!!

ขอบคุณข้อมูลจาก
unlockmen / brandthink.me