จากปี 2563 มาจนถึงตอนนี้ บริการฟู้ดเดลิเวอรีถือว่าเติบโตขึ้นเยอะแบบก้าวกระโดด ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งความสะดวก รวมถึงมาตรการ Social distancing ที่ต้องบอกว่ารอบนี้เข้มข้นขึ้นกว่ารอบก่อนๆ มีคำสั่งห้ามนั่งในร้านอาหาร ให้ซื้อกลับบ้าน หรือสั่งเดลิเวอรีได้เท่านั้น ในมุมของการควบคุมโรคระบาด แนวทางนี้ถือว่าช่วยเพิ่มระยะห่างและอาจช่วยลดเปอร์เซ็นต์การแพร่เชื้อระหว่างกันได้ แต่ในมุมของสิ่งแวดล้อม ก็ต้องบอกว่าฟู้ดเดลิเวอรีนั้น ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากเป็นหลายเท่าตัว 

อาหารเดลิเวอรี

อาหารหนึ่งมื้อจากฟู้ดเดลิเวอรี ประกอบไปด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลากหลาย ทั้ง ช้อน-ส้อม กล่องใส่อาหาร ถุงน้ำซุป ซองน้ำจิ้ม แก้วพลาสติก หลอด ถุงหูหิ้ว อย่างน้อยๆ 6-8 ชิ้น ยิ่งสั่งวันละ 3 มื้อด้วยแล้ว ปริมาณขยะพลาสติกต่อวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

แต่การสั่งเดลิเวอรีไม่ใช่ความผิดของเราในฐานะผู้บริโภค เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ไม่มีทางให้เลือกมากนัก ครั้นจะทำอาหารทานเองเพื่อลดขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี ก็ไม่ใช้ทางเลือกที่เหมาะสมกับทุกคน หรือจะบังคับให้ร้านอาหารเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ก็อาจเป็นแนวทางที่ผลักให้ร้านต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไปในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ 

ในเมื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ไม่ได้ งั้นเราในฐานะผู้บริโภคมาหาทางลดและจัดการขยะจากอาหารเดลิเวอรีกัน บอกเลยว่า How to ที่ออฟฟิศเมทนำมาฝากในวันนี้ไม่ยาก ไม่วุ่นวาย ทำได้ทุกคนแน่นอน!

How to เลี่ยง และลดขยะจากอาหารเดลิเวอรี   

ลดปริมาณพลาสติก ด้วยการกดไม่รับช้อน-ส้อม

อาหารเดลิเวอรี

สำหรับคนที่สั่งเดลิเวอรีบ่อยๆ คงเคยเห็นฟีเจอร์หนึ่งในแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร นั่นก็คือ เราสามารถกดเลือกได้ว่าจะรับ หรือไม่รับช้อนส้อมพลาสติก หากกดสั่งอาหารเดลิเวอรีมาทานที่บ้าน มีช้อนส้อม จานชาม ตะเกียบพร้อมอยู่แล้ว ก็แนะนำให้กดเลือกไม่รับช้อนส้อม ใครสั่งก๋วยเตี๋ยว หรือซุปก็แนะนำให้ใส่หมายเหตุว่าไม่รับชามกระดาษ หรือถ้วยโฟมเพิ่ม หรือแม้แต่การสั่งเครื่องดื่มเอง ก็แนะนำให้หมายเหตุไปว่าไม่รับหลอด เท่านี้ก็ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องทิ้งลงได้แล้ว    

ลดการทิ้ง ด้วยการใช้ซ้ำ (Reuse)

พลาสติกที่มากับอาหารเดลิเวอรีบางอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อย่างถุงหูหิ้ว ล้างให้สะอาด นำไปใส่ของ ใส่ผักผลไม้แช่เย็น หรือใช้เป็นถุงขยะ กล่องอาหารแบบมีฝาปิดที่แข็งแรงหน่อย ก็นำไปล้างให้สะอาด ใช้ใส่อาหาร หรือของสดแช่เย็นได้อีกหลายครั้ง หรือขวดใส่เครื่องดื่ม ชา กาแฟ ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นขวดใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือแจกันเท่ๆ ได้ ดังนั้น สั่งอาหารเดลิเวอรีครั้งหน้า ก็อย่าลืมพิจารณาเอาพลาสติกต่างๆ เหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำกันนะคะ  

อีกหนึ่งแนวทางที่พอทำได้ คือ สั่งอาหารแบบพอดีกิน แม้จะมีโปรแถม ลดราคา หรือซื้อเซ็ทใหญ่แล้วคุ้มกว่า แต่ถ้าสั่งมาแล้วกินเหลือ ก็เปล่าประโยชน์ แถมยังเพิ่มทั้งขยะอาหารและขยะจากบรรจุภัณฑ์ขึ้นอีกด้วย

ขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี เป็นแบบ Single-use ใช้เวลาย่อยสลายนาน

ขยะพลาสติกจากอาหารเดลิเวอรี

นอกจากปัญหาเรื่องปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นแล้ว พลาสติกที่ใช้ในวงการฟู้ดเดลิเวอรี ส่วนใหญ่เป็นแบบ Single-use คือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งพลาสติกรูปแบบนี้จะใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาตินานนับร้อยๆ ปี ทางออกเดียวที่ตอบโจทย์ คือการคัดแยกและนำไปรีไซเคิล แต่หากจัดการไม่ถูกต้องขยะพลาสติกเหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัญหา เพราะเป็นพลาสติกที่ปนเปื้อนเศษอาหาร ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หนทางแก้คือการฝังกลบ แต่นั่นก็อาจทำให้รั่วไหลลงสู่ทะเล หรือแม่น้ำ ส่งผลกระทบไปยังสัตว์น้ำได้อีก 

ดังนั้น นอกจากลดและเลี่ยง เราไปดูวิธีจัดการกับขยะที่มาจากอาหารเดลิเวอรีเหล่านี้กัน

How to จัดการกับขยะจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี

คัดแยกขยะ แล้วทิ้งให้ถูกที่

การจัดการกับขยะที่มากับการสั่งอาหารเดลิเวอรี หลังทานเสร็จให้คัดแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ 

แยกขยะ

1.ขยะเปียก 

ขยะเปียกจำพวกเศษอาหาร ให้เทรวมกันในถุงขยะ หรือถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปทิ้งในถังขยะเปียก (สีเขียว) หรือใครพอมีเวลามีพื้นที่ขยะอาหารเหล่านี้สามารถนำไปทำปุ๋มหมักชีวภาพสำหรับรดน้ำพืชผักได้

2.ขยะพลาสติก

ขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี มีทั้งพลาสติกอ่อน จำพวกถุงหูหิ้ว หลอด และพลาสติกแข็ง จำพวกกล่องใส่อาหาร ช้อมส้อม แก้วน้ำ ขวดน้ำ ฯลฯ พลาสติกเหล่านี้ให้นำไปล้างให้สะอาด จนหมดคราบมันจากอาหาร ผึ่งให้แห้งก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (อย่างที่เราบอกข้างต้น) หรือถ้าใครจะไม่ Reuse ก็เก็บรวบรวมในถุงขยะใบเดียวกัน แล้วนำไปทิ้งในถังรีไซเคิล รถเก็บขยะก็จะนำขยะพลาสติกของเราไปจัดการคัดแยก และรีไซเคิลตามกระบวนการต่อไป 

แต่ถ้าใครพอมีเวลา อยู่ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ขยะพลาสติกเหล่านี้สามารถเก็บรวบรวมนำไปไว้ในจุดรับพลาสติกของโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านได้ เช็กรายละเอียดเพิ่มเติม และที่ตั้งจุดรับพลาสติกได้ที่ โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) x วน หรือโครงการดีๆ อีกหนึ่งโครงการที่นำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ Corsair Group มีโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advance Bio-oil) ที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.corsairnow.com    

3.ขยะอื่นๆ 

ขยะอื่นๆ เช่น กล่องโฟม ถุงกระดาษ ถ้วยกระดาษ จานกระดาษ ก็แนะนำให้ล้างให้สะอาด อันไหนรียูสได้ก็แนะนำให้ใช้ซ้ำ อันไหนใช้ได้ครั้งเดียวอย่างกล่องโฟมก็ให้แยกทิ้งเป็นขยะทั่วไป เพื่อนำไปจัดการกำจัดทิ้งแบบถูกวิธี  

อ่านวิธีจัดการกับขยะเพิ่มเติม ได้ที่ : คู่มือกู้โลก! แยกขยะก่อนทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี?

วิธีลด เลี่ยง และจัดการกับขยะจากอาหารเดลิเวอรีที่เรานำมาฝาก ไม่ยากเกินไปใช่มั้ยคะ? เพียงแค่ทำตามนี้เราก็อิ่มท้อง ไปพร้อมๆ กับรักษาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว และอย่าลืมว่าการใช้พลาสติกนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแค่ใช้แล้วทิ้งให้เป็นเท่านั้น หรือหากมีหนทางที่จะลดปริมาณการใช้แล้วไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็แนะนำให้ร่วมด้วยช่วยกันเพราะเรายังต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพอากาศดีๆ ไปอีกนาน 

แยกขยะที่บ้านต้องมี! ช้อปถุงขยะ และถังขยะไปแยกประเภท ได้เลยที่ OfficeMate ช้อปออนไลน์วันนี้ ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้เท่านั้น!

ขอบคุณข้อมูลจาก : thestandard / condonewb / azay