สุขภาพร่างกายที่ไม่เต็มร้อย เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่คอยขัดขวางการทำงาน ชาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น รวมแล้วหลายสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนต้องทรมานกับอาการปวดหลัง ปวดศีรษะ หรือที่เรียกกันว่าออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ไม่ว่าจะทำงานที่บ้านหรือทำงานที่ออฟฟิศ ก็ดูเหมือนว่าอาการเหล่านี้จะตามติดไปทุกที่ ความปวดร้าวเหมือนแบกภูเขาเอาไว้บนหลัง ทำให้เสียสมาธิ ไม่มีกระจิตกระใจจะจดจ่อกับงานตรงหน้า นอกจากสุขภาพจะพังแล้ว ยังพาให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แถมด้วยสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ เพราะไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามเป้า บวกกับอาการปวดหลังที่นับวันยิ่งทวีคูณมากขึ้น 

อาการของคนเป็นออฟฟิศซินโดรม

  • ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น คอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก
  • มีอาการที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เหน็บชาที่ขา มือ แขน หรือสะบัก  
  • หากมีอาการปวดคอ อาจมีอาการมึนงง ตาพร่า หรือหูอื้อร่วมด้วย
  • มีอาการของโรคระบบประสาทถูกกดทับ เช่น ชาที่บริเวณมือและแขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง

หนึ่งในวิธีช่วยรักษาและบรรเทาออฟฟิศซินโดรมได้ คือ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนั่งทำงานมากขึ้น ไม่ว่าตอนนี้คุณจะทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ หรือยัง WFH อยู่ ไอเทม 5 ชิ้นที่เราเอามาแนะนำในวันนี้ จะช่วยเปลี่ยนชีวิตการทำงานของคุณให้ดีขึ้น แบบไม่ต้องกังวลกับอาการออฟฟิศซินโดรมอีกต่อไป!

5 ไอเทมเปลี่ยนชีวิต ช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม  

เก้าอี้เพื่อสุขภาพ

เก้าอี้สำหรับนั่งทำงาน ควรเป็นเก้าอี้ที่พร้อมรองรับสรีระและตอบโจทย์การนั่งทำงานหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน เก้าอี้เพื่อสุขภาพหรือที่เรียกว่าเก้าอี้เออร์โกโนมิค เป็นเก้าอี้ที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ แม้ลักษณะภายนอกจะดูเหมือนเก้าอี้นั่งทำงานทั่วๆ ไป แต่ทุกส่วนประกอบของเก้าอี้เพื่อสุขภาพ ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยจัดระเบียบร่างกายของผู้ใช้งานให้อยู่ในท่านั่งที่ถูกต้อง หลักการเลือกเก้าอี้เพื่อสุขภาพ ให้ดูว่ามีที่พักศีรษะสำหรับผ่อนคลายต้นคอ พนักพิงหลังควรมีซัพพอร์ตช่วยรับน้ำหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังทำงานหนักเกินไป เบาะรองนั่งลึกเต็มบั้นท้าย บางรุ่นอาจปาดเบาะด้านหน้าให้เทลง เพื่อลดจุดกดที่ข้อพับขา ที่พักแขนและเก้าอี้ควรปรับระดับได้ นั่งแล้วแขนสามารถวางระนาบไปกับโต๊ะได้พอดีและเท้าติดพื้น  

เบาะรองนั่งและเบาะหลัง

สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมเปลี่ยนเก้าอี้หรือไม่สามารถเปลี่ยนเก้าอี้ที่ออฟฟิศเองได้ แนะนำให้ใช้เบาะรองนั่งและเบาะรองหลังเป็นไอเทมเสริม เบาะรองนั่งจะช่วยกระจายน้ำหนัก ทำให้นั่งได้สบายขึ้น ป้องกันอาการเหน็บชาที่ขาหรือบั้นท้ายเมื่อต้องนั่งทำงานนานๆ ส่วนเบาะรองหลังจะช่วยซัพพอร์ตให้นั่งตัวตรง หลังและสะโพกแนบสนิทกับเก้าอี้ได้พอดีมากขึ้น ทั้งยังช่วยรับน้ำหนักและลดแรงกดที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อหลัง และก้นกบ ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลัง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือกระดูกโค้งงอผิดรูป หลักการเลือกเบาะรองนั่งและเบาะรองหลัง ให้ดูที่วัสดุ ควรจะนุ่มและมีความแน่น ต้องคืนตัวได้ดี รับน้ำหนักได้มาก นั่งแล้วไม่จม        

โต๊ะปรับระดับ

การนั่งทำงานนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม แต่ถ้าจะให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ก็คงไม่ได้งาน ปัจจุบันจึงมีการออกแบบโต๊ะทำงานรูปแบบใหม่ ที่สามารถปรับระดับความสูงได้ หากนั่งทำงานนานๆ แล้วเริ่มรู้สึกเมื่อย ก็ปรับระดับโต๊ะให้สูงขึ้น แล้วเปลี่ยนอิริยาบถมายืนทำงาน ช่วยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวระหว่างวัน กล้ามเนื้อไม่ตึงเกร็ง ลดอาการปวดจากการกดทับที่เกิดจากการนั่งนานๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวกมากขึ้น เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้คุณเปลี่ยนอิริยาบถได้บ่อยๆ โดยไม่เสียงานเสียการ เผลอๆ ยังอาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อีกด้วย   

แท่นวางโน้ตบุ๊ก

หนึ่งในหลักการนั่งทำงานที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ คือ จอคอมพิวเตอร์ต้องอยู่ในระดับสายตาพอดี แบบที่ไม่ต้องเงยหน้าหรือก้มหน้าเพิ่มเพ่งมองจอ แต่สำหรับคนที่ใช้งานโน้ตบุ๊กหรือแล็ปท็อป ส่วนใหญ่หน้าจอมักจะอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา เมื่อองศาการมองต่ำลง ก็ทำให้เราเผลอก้มหน้า คอยื่น หรือหลังงอไปโดยไม่รู้ตัว หากอยู่ในอิริยาบถนี้นานๆ ก็จะทำให้ปวดคอ ปวดหลัง ตาพร่า และปวดศีรษะได้ แนะนำให้เสริมด้วยแท่นวางโน้ตบุ๊กที่ปรับระดับได้ เอาไว้สำหรับจัดองศาให้จอโน้ตบุ๊กของเราอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ ไปได้ แล้วอย่าลืมซื้อชุดคีย์บอร์ดต่อแยก จะได้พิมพ์งานสบายๆ ไม่ต้องยกแขนขึ้นไปพิมพ์บนแท่นวางสูงๆ นั่นด้วยนะคะ    

เม้าส์เพื่อสุขภาพ

เม้าส์เพื่อสุขภาพ ออกแบบมาให้เราใช้งานได้สบายมือยิ่งขึ้น โดยปกติเวลาใช้เม้าส์ เราต้องคว่ำข้อมือเพื่อจับและคลิกเม้าส์ ซึ่งทำให้เกิดจุดกดทับที่บริเวณข้อมือ ทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อแขน รวมไปถึงหัวไหล่อยู่ในท่าที่ไม่ผ่อนคลาย เมื่อจับเม้าส์นานๆ จึงทำให้เกิดความเกร็ง ส่งผลให้ตึงและปวด ทั้งยังทำให้มีอาการชาและเกิดภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียนได้อีกด้วย แต่สำหรับเม้าส์เพื่อสุขภาพที่รูปลักษณ์และการใช้งานอาจจะขัดกับความเคยชิน แต่รูปทรงแนวตั้งจะช่วยให้เราจับเม้าส์ได้สบายยิ่งขึ้น ไม่ต้องพลิกข้อมือ ไม่มีจุดกดที่ข้อมือ สามารถช่วยบรรเทาและป้องกันอาการมือและแขนชา และภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน  

5 ไอเทมนี้ไม่ต้องรอให้มีอาการก็ซื้อมาใช้งานได้ทันที เพื่อป้องกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยเบลออาการปวดหลังจนออฟฟิศซินโดรมมาทำลายความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณ เข้ามาช้อป 5 ไอเทมเด็ด ไปใช้เปลี่ยนชีวิตกันได้เลยที่ เว็บไซต์ OfficeMate ช้อปครบ 499 บาท มีบริการส่งฟรีด้วยนะ!