ว่ากันว่า ‘กองทุนรวม’ เหมาะสำหรับมือใหม่ ที่มีความรู้เรื่องการลงทุนไม่มากนัก รวมถึงพนักงานออฟฟิศที่มีรายได้ทางเดียว หรืออาชีพอิสระที่ไม่มีประกันสังคม วันนี้เราจะพาไปดูว่า การลงทุนกับกองทุนรวมนั้นเหมาะกับคนเหล่านี้จริงมั้ย? ผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์อะไร? แล้วควรจะวางแผนเริ่มต้นลงทุนกับกองทุนรวมอย่างไร? ใครกำลังสนใจอยากลงทุนกับกองทุนรวม ห้ามพลาด!

กองทุนรวมคืออะไร?

กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นผ่านการระดมเงินจากคนจำนวนมาก
โดยมี ‘ผู้จัดการกองทุน’ ที่อยู่ใน ‘บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน’ (บลจ.) เป็นผู้ดูแล 

กองทุนรวม

ก่อนเปิดระดมทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. นี้ จะจัดตั้งกองทุนของตัวเองออกมา มีการออกนโยบาย เงื่อนไข นำเสนอผลตอบแทน เพื่อดึงดูดนักลงทุน เมื่อมีคนสนใจก็จะนำเงินไปลงทุนในกองทุนนั้นๆ และจะได้รับเป็นหน่วยลงทุน (Unit Trust) กลับมา (หน่วยลงทุน หรือ Unit Trust นี้สามารถขายคืนได้) ผู้จัดการกองทุนของ บลจ. ก็จะนำเงินที่คนลงทุนมานี้ ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อีกหนึ่งต่อ เพื่อสร้างกำไรให้งอกเงย แล้วนำกำไรที่ได้นั้นมาเฉลี่ยคืนให้ผู้ร่วมลงทุนทั้งหมด ซึ่งจะได้รับมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเงินที่เราลงทุนไปนั่นเอง

ทำไมพนักงานออฟฟิศ และฟรีแลนซ์ ควรลงทุนกับกองทุนรวม?

ถ้าเทียบกับการลงทุนอื่นๆ การลงทุนกับกองทุนรวม ถือว่าสะดวกและง่าย เหมาะสำหรับมนุษย์ออฟฟิศ และชาวฟรีแลนซ์ที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุน หรือติดตามผลมากนัก รวมถึงชาวเฟิร์สจ็อบเบอร์ที่เพิ่งเริ่มทำงาน เงินในมือยังน้อย แต่อยากเริ่มต้นลงทุน เพราะ

ลงทุนกับกองทุนรวม ใช้เงินเริ่มต้นเพียงไม่กี่บาท

ว่ากันว่า ลงทุนกับกองทุนรวม มีเงินเพียง 1 บาท ก็สามารถลงทุนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการลงทุนของแต่ละ บลจ. สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น เป็นนักลงทุนมือใหม่ หรือเฟิร์สจ็อบเบอร์ที่มีเงินไม่มากนัก อาจเริ่มจากการแบ่งเงิน 10% ของรายได้มาลงทุน เลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำๆ ไปก่อน แล้วเก็บเงินหรือผลกำไรที่ได้ เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน หรืออาจเริ่มจากจำนวนเงินที่น้อยกว่านั้นแต่ลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์ แล้วค่อยๆ ศึกษาผลตอบแทนของกองทุนแต่ละกองทุน เพื่อต่อยอดไปลงทุนด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้นหรือกองทุนที่ความเสี่ยงสูงขึ้นในอนาคต

เงินที่ลงทุนกับกองทุนรวม มีมืออาชีพคอยดูแลให้ตลอดเวลา

กองทุนรวม

อย่างที่บอกข้างต้นว่า กองทุนรวมที่เราลงทุนกับ บลจ. นั้น จะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแล ซึ่งมีความเป็นมืออาชีพ สามารถให้คำแนะนำ บริหารความเสี่ยง ช่วยวางแผนการลงทุนรายเดือน รายปี และอื่นๆ ให้กับเราได้ เรียกว่าเพียงแค่นำเงินไปลงทุนกับกองทุนรวม แล้วรอรับเงินปันผลเท่านั้น ไม่ต้องบริหาร หรือนั่งเฝ้าหน้าจอดูกราฟด้วยตัวเองทั้งวัน

กองทุนรวม มีประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนได้หลากหลาย

กองทุนรวมมีประเภทของสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนหลากหลาย ตั้งแต่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ไปถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง 

ข้อดีของการมีสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลาย คือ เราสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายของเราได้ เช่น หากเราอยากลงทุนกับกองทุนเพื่อนำเงินที่ได้เอาไว้เป็นเงินเก็บสำรอง ก็สามารถเลือกลงทุนกับกองทุนความเสี่ยงต่ำ แล้วค่อยๆ สะสมเงินปันผลไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอยากลงทุนกับกองทุนรวมเพื่อเก็งกำไร หรืออยากมีเงินล้าน ก็อาจเลือกลงทุนกับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ได้เงินปันผลเยอะกว่า ก็จะมีเงินล้านเก็บภายในเวลาไม่นาน เป็นต้น

ลงทุนกับกองทุนรวมแล้วได้อะไร?

สิ่งแรกที่จะได้เมื่อร่วมลงทุนกับกองทุนรวม คือ เงินปันผล (Dividen) มาจากการเฉลี่ยกำไรที่กองทุนนั้นได้รับมา แต่ละคนจะได้รับไม่เท่ากัน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงินที่ลงทุนไป 

กองทุนรวม

ส่วนที่ 2 คือ กำไรส่วนเกิน ในส่วนนี้จะได้รับก็ต่อเมื่อเราขายหน่วยลงทุนคืน (Unit Trust) หาก ณ ขณะที่ขาย หน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าตอนที่เราซื้อมา เงินส่วนต่างนั้น ก็คือ กำไรส่วนเกินที่เราจะได้รับนั่นเอง

นอกจากนั้น หากเราลงทุนกับกองทุนรวมบางประเภท เช่น SSF RMF หรือ LTF เราสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

เริ่มต้นลงทุนกับกองทุนรวมอย่างไรดี?

ได้ทำความเข้าใจกองทุนรวม และเห็นสิทธิประโยชน์จากการลงทุนกันไปแล้ว คราวนี้มาดูกันว่า ถ้าสนใจอยากเริ่มต้นลงทุนกับกองทุนรวม ควรจะเริ่มยังไงไม่ให้หลงทาง?

สำรวจเป้าหมายของตัวเองก่อนตัดสินใจลงทุนกับกองทุนรวม

อันดับแรกก่อนตัดสินใจลงทุนกับกองทุนรวม ควรมีเป้าหมายให้ตัวเองชัดเจนว่า อยากลงทุนเพื่ออะไร การกำหนดเป้าหมาย จะช่วยให้เราสามารถเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ เช่น เป้าหมายคืออยากลงทุนเพื่อหวังเงินล้าน ก็ควรเลือกลงทุนกับกองทุนรวมที่ความเสี่ยงปานกลางไปถึงสูง เพื่อผลตอบแทนที่สูงตามไปด้วย ก็จะมีสิทธิจับเงินล้านได้ แต่ถ้าไม่กำหนดเป้าหมาย อาจจะหลงทิศหลงทาง เลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่ไม่สามารถพาคุณไปถึงเป้าหมายได้นั่นเอง

ศึกษานโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมให้ละเอียด 

ต่อมา ก่อนเริ่มลงทุน ควรศึกษารายละเอียดการลงทุน นโยบาย เงื่อนไขการลงทุนของแต่ละกองทุน และแต่ละ บลจ. ให้ละเอียด ซึ่งสามารถศึกษาได้จาก Fund Fact Sheet ของ บลจ. ที่เราสนใจได้เลย หรือจะลองปรึกษาผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญของแต่ละ บลจ. ก็ได้เช่นกัน

การศึกษา Fund Fact Sheet จะทำให้เรารู้ข้อมูลของการกองทุน จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ควรศึกษา คือ

  • ข้อมูลเบื้องต้นของกองทุนรวม 
  • ระดับความเสี่ยง
  • นโยบายการลงทุน
  • ผลตอบแทนย้อนหลัง
  • อัตราค่าธรรมเนียม (กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมสูง ผลตอบแทนที่ได้จะลดลง)
  • ข้อมูลการซื้อขายหน่วยลงทุน (Unit Trust)

วางแผนเรื่องการเงิน และเตรียมเงินสำรองเอาไว้เผื่อฉุกเฉิน

อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ และจำเป็นต้องทำก่อนเริ่มต้นนำเงินไปลงทุนกับกองทุนรวม คือ การวางแผนและแบ่งสัดส่วนของเงิน เก็บไว้เป็นเงินสำรอง 

กองทุนรวม

เงินที่นำมาลงทุนกับกองทุนรวม ควรเป็นเงินที่ปลอดภาระ ไม่ใช่เงินส่วนที่ต้องนำไปจ่ายหนี้บัตรเครดิต ค่าเช่าบ้าน หรือค่าน้ำค่าไฟ และเมื่อนำเงินส่วนนี้มาลงทุนแล้ว ยังต้องพอกินพอใช้ มีเงินพอจ่ายหนี้ทั้งหมดได้ และต้องมีเงินอีกส่วนที่เก็บสำรองเอาไว้ในยามฉุกเฉิน จะได้ไม่ต้องคอยขายหน่วยลงทุน เพื่อนำเงินออกมาใช้ระหว่างทาง เสี่ยงที่จะขาดทุนสูง ทำให้การลงทุนเสียเปล่า 

เรียกง่ายๆ ว่า หากมีเงินเยอะ นำไปลงทุนแล้วยังพอกินพอใช้ บวกกับเหลือเก็บสำรอง ก็สามารถลงทุนได้ แต่ถ้ากำลังทรัพย์ยังไม่เยอะ แล้วต้องเจียดเงินไปลงทุน ก็อาจจะเลือกลงทุนเพียงน้อยๆ หรือเบรคการลงทุนเอาไว้ก่อนก็จะดีกว่า

เลือกแหล่งสำหรับเปิดบัญชีกองทุนรวม

เมื่อผ่าน 3 ข้อด้านบนมาได้ สเต็ปถัดมา คือการเลือกบลจ. ที่เราจะเปิดบัญชีกองทุนรวมด้วย

  • เปิดบัญชีกองทุนรวมกับธนาคาร ทำได้สะดวก รวดเร็ว เพราะธนาคารมีสาขาให้ติดต่อเยอะ แต่การเปิดกับบัญชีกับธนาคาร อาจเลือกซื้อหน่วยลงทุนได้เฉพาะกับ บลจ. ที่อยู่ในเครือของธนาคารเท่านั้น 
  • เปิดบัญชีกองทุนรวมกับบลจ. โดยตรง หากตัดสินใจแล้วว่าอยากลงทุนกับ บลจ. นี้ ก็สามารถเปิดบัญชีกับบลจ. นี้ได้เลย 
  • เปิดบัญชีกองทุนรวมผ่านตัวกลาง เช่น Finnomena, WealthMagik, Philip จะสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลายบลจ. ภายในบัญชีเดียว

ติดตามผลการลงทุนอยู่เสมอ

เมื่อนำเงินไปลงทุนกับกองทุนรวมแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างสุดท้าย คือ หมั่นติดตามผลการลงทุนอยู่เสมอ แม้จะบอกว่ากองทุนรวมมีผู้ช่วยบริหารอย่างผู้จัดการกองทุน แต่เจ้าของเงินทุนอย่างเรา ก็ควรตรวจสอบอยู่เสมอว่า การลงทุนนั้นเป็นไปตามเป้าหมายแรกเริ่มของเรามากน้อยแค่ไหน กองทุนให้ผลตอบแทนดีหรือไม่ ควรจะซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติม หรือขายหน่วยลงทุน เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นแทน ซึ่งการติดตามนี้ ก็สามารถติดตามได้จากหน้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นของ บลจ. ที่เราลงทุนไป 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เหล่านักอยากลงทุนทั้งหลาย ตัดสินใจและเริ่มต้นลงทุนกันได้อย่างไม่หลงทางนะคะ ส่วนกองทุนสินทรัพย์ไหนมีความเสี่ยงระดับใด หรือกองทุนรวมที่น่าสนใจลงทุนมีอะไรบ้าง ติดตามกันต่อในบทความหน้านะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : tmbbank / finspace / moneybuffalo