‘ยังไม่ได้นอนเลยจะสิบโมงเช้า’ ใครมีพฤติกรรมนอนเช้าแบบนี้บ่อยๆ แนะนำว่าให้รีบปรับ ไม่อย่างนั้นอาจเรื้อรัง กลางคืนไม่ยอมหลับ กลางวันไม่อยากตื่น จนกลายเป็น ‘โรคร่าเริง’ ซึ่งบอกเลยว่าโรคนี้ไม่ได้ร่าเริงสมชื่อ เพราะมันนำพาผลกระทบและโรคร้ายแทรกซ้อนให้ร่างกายได้อีกหลายต่อหลายโรค

โรคร่าเริง คืออะไร?

โรคร่าเริง (Lychnobite) คือโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตแบบขาดบาลานซ์ ส่งผลให้นาฬิกาชีวิตผิดเพี้ยน สาเหตุของโรค หลักๆ ก็เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ซึ่งพบมากในวัยรุ่น วัยทำงาน ชาวออฟฟิศ สายงานครีเอทีฟ โปรแกรมเมอร์ คนทำงานกะกลางคืน และมนุษย์ฟรีแลนซ์

โรคร่าเริง

พฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคร่าเริง

  • อ่านหนังสือ ทำงาน หรือเล่นเกมหามรุ่งหามค่ำ จนกลางคืนไม่ได้นอน รู้ตัวอีกทีก็ได้เห็นแสงแรกของวันใหม่
  • ติดสมาร์ทโฟน หรือชอบเล่นสมาร์ทโฟนก่อนนอน แสงสีฟ้าจากหน้าจอสมาร์ทโฟนเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบประสาทตื่นตัวจนไม่ง่วง และยังทำให้นอนหลับยากกว่าปกติ
  • ติดกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลัง อาจเป็นการดื่มเพื่อให้ตื่นตัว จะได้เร่งปั่นงานให้เสร็จหรืออ่านหนังสือให้จบ แม้จะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ณ ขณะนั้น แต่เมื่อเครื่องดื่มหมดฤทธิ์ร่างกายก็จะอ่อนเพลีย การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ติดๆ กันเป็นเวลานาน ยังอาจทำให้เสพติด หากไม่ดื่มจะไม่มีแรง ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันผิดปกติไป

คนเป็นโรคร่าเริงมีอาการยังไง?

คนเราย่อมมีวันที่นอนดึกตื่นสาย ซึ่งในช่วงกลางวันก็จะง่วงเหงาหาวนอนเป็นปกติ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคร่าเริงนั้น จะมีอาการแตกต่างออกไป คือ

ผู้ที่เป็นโรคร่าเริง จะมีอาการกระปรี้กระเปร่า มีสมาธิ สมองแล่น ปิ๊งไอเดียดีๆ และทำงานสนุกในช่วงกลางคืน ซึ่งไม่ใช่เพียงมีสมาธิธรรมดา แต่คนเป็นโรคร่าเริงจะมีสมาธิดีกว่าปกติ และทำงานตอนกลางคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงจะดูเป็นผลดี แต่มันกลับส่งผลร้ายในตอนกลางวัน 

โรคร่าเริง

หลังจากใช้สมาธิเต็มที่ ร่าเริงเต็มเหนี่ยวตอนพระอาทิตย์ตกดิน ในช่วงเวลากลางวัน คนที่เป็นโรคร่าเริงจะรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดเวลา ไม่มีสมาธิ หัวตื้อ ตื่นเช้าไม่ไหว เพราะร่างกายไม่ได้พักผ่อน ต้อง Snooze นาฬิกาปลุกไปเรื่อยๆ บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ซึ่งก็เป็นผลมาจากการนอนไม่พอ

แต่ผลกระทบจากโรคร่าเริงไม่ใช่เพียงแค่ง่วงนอนตอนกลางวันเท่านั้น หากไม่รีบปรับพฤติกรรม จะส่งผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาว และเร่งให้อายุขัยของเราสั้นลง!!   

โรคร่าเริงส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าที่คิด!

  • โรคร่าเริงทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน

‘โกรทฮอร์โมน’ ฮอร์โมนตัวสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ควบคุมความเครียด และช่วยเผาผลาญอาหาร ซึ่งจะหลั่งออกมาในช่วงที่เรานอนหลับ หรือช่วง 22.00 น.- 02.00 น. แต่เมื่อเป็นโรคร่าเริง ทำให้กลางคืนไม่ได้นอน หรือนอนไม่เต็มที่ ก็จะส่งผลให้โกรทฮอร์โมนไม่หลั่งตามที่ควรจะเป็น

ผลกระทบจากการที่โกรทฮอร์โมนไม่หลั่ง ทำให้ร่างกายไม่ได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูไม่เต็มที่ ร่างกายไม่แข็งแรง อ่อนเพลียง่าย ผิวพรรณขาดความชุ่มชื่นไม่เปล่งปรั่ง เผาผลาญอาหารได้น้อยลง มีอาการอยากหวาน ส่งผลไปยังน้ำหนักตัว อ้วนง่ายขึ้น และอาจมีโรคเบาหวานตามมา ในเพศหญิง การที่ฮอร์โมนแปรปรวน ยังส่งผลถึงรอบเดือนที่ผิดปกติ และอาจทำให้มีอาการ PMS รุนแรงมากขึ้น (อาการก่อนมีประจำเดือน)

  • โรคร่าเริงทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ

เมื่อนอนและตื่นไม่เป็นเวลา ก็มักจะตามมาด้วยการทานอาหารไม่ตรงเวลา โดยเฉพาะมื้อเช้า ที่ควรทานในช่วงลำไส้กำลังทำงาน ประมาณ 05.00 น. – 07.00 น. อาหารเช้าและน้ำ จะกระตุ้นการขับถ่าย ช่วยให้ลำไส้ทำงานปกติ แต่หากทานข้าวสาย เลยช่วงที่ลำไส้ทำงานไปแล้ว จะส่งผลให้ระบบขับถ่ายแปรปรวน ท้องผูกง่าย เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้

โรคร่าเริง
  • โรคร่าเริงทำให้ติดคาเฟอีน

ภัยร้ายแฝงที่อันตรายไม่แพ้กัน คือ โรคร่าเริงสามารถทำให้เรากลายเป็นคนติดคาเฟอีนได้ ด้วยความที่กลางคืนปั่นงาน ต้องมีคาเฟอีนแก้ง่วง ตัดมาตอนเช้าที่ไม่ได้นอน ก็ต้องพึ่งคาเฟอีนให้กระปรี้กระเปร่าอีกเช่นกัน เมื่อใช้ชีวิตวนลูปไปเช่นนี้ ก็จะทำให้ติดคาเฟอีนไปโดยไม่รู้ตัว หากไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน ก็จะง่วงซึม อ่อนเพลีย ปวดหัว และไม่มีแรง การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากๆ ยังเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้

  • โรคร่าเริงส่งผลกระทบไปยังการเรียน และการทำงาน

แม้จะมีงานส่งในตอนเช้า หรืออ่านหนังสือสอบได้จนจบ แต่การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือไม่ได้นอน จะทำให้ร่างกายไม่สดชื่น ไม่สามารถทำงานตอนเช้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะด้านการสื่อสารและการแก้ปัญหาลดลง เพราะสมองไม่สามารถประมวลผลได้เต็มที่ ผลกระทบเรื่องอารมณ์ที่หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ยังทำให้เสียบุคลิกภาพอีกด้วย

ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนร่างกายให้ร่าเริง แต่ไม่เป็นโรค

การรักษาในขั้นต้นของโรคร่าเริง คือการรีบปรับพฤติกรรม ก่อนที่โรคนี้จะส่งผลกระทบร้ายแรงให้ร่างกาย การปรับพฤติกรรม ทำได้ดังนี้

  • ปรับนาฬิกาชีวิต ตื่นและเข้านอนให้เป็นเวลา

อาจจะทำได้ยาก หากคุณต้องนำงานค้างกลับมาทำที่บ้าน แต่แนะนำว่าอย่างน้อยๆ ไม่ควรนอนดึกจนเกินเที่ยงคืน เพื่อให้โกรทฮอร์โมนได้มีเวลาเข้าฟื้นฟูร่างกาย และเผาผลาญอาหารที่ทานเข้าไป 

ในตอนเช้า หากไม่สามารถตื่นได้เอง ก็แนะนำให้ตั้งนาฬิกาปลุก ซึ่งควรตั้งเป็นเวลาเดิมทุกวัน และห้ามกด Snooze แล้วกลับไปนอนต่อเด็ดขาด เพราะจะทำให้ง่วงซึม และตื่นยากขึ้นกว่าเดิม 

เมื่อได้เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมๆ ไปสักพัก ร่างกายก็จะปรับตัว สามารถตื่นเองได้ และง่วงเมื่อถึงเวลานอน ซึ่งดีต่อสุขภาพมากกว่า  

  • เปลี่ยนอาหารการกิน

หากไม่อยากรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน แนะนำให้งดหรือลดทานอาหารจำพวกแป้ง แล้วเปลี่ยนมาเน้นทานโปรตีนให้มากขึ้น จะช่วยให้ร่างกายมีแรง และตื่นตัวได้มากกว่า

อ่านบทความเพิ่มเติม ‘ดูแลตัวเองฉบับคนวัยทำงาน ทานอาหารอย่างไรให้สุขภาพดี’

โรคร่าเริง
  • ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น

การดื่มน้ำเปล่าจะช่วยลดความหนืดในเลือด ให้เลือดสูบฉีดได้ดี ทำให้เราไม่รู้สึกอ่อนเพลีย ดังนั้น ควรดื่มน้ำเปล่าทันทีหลังตื่นนอนตอนเช้า เพื่อเพิ่มความสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า ให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และกระตุ้นระบบขับถ่าย ส่วนตอนกลางวันหากรู้สึกง่วง หรือเพลีย ให้จิบน้ำเปล่าบ่อยๆ ดีกว่าสั่งน้ำหวาน หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้

ส่วนเครื่องดื่มคาเฟอีน อย่างชาหรือกาแฟนั้นดื่มได้ แต่ควรดื่มในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ตื่นตัวเกินไปในตอนกลางคืน และจำกัดปริมาณการดื่มต่อวันให้น้อยลงจะดีต่อสุขภาพมากกว่านะคะ  

อ่านบทความเพิ่มเติม ‘คอกาแฟห้ามพลาด! ‘Decaf Coffee’ กาแฟทางเลือกใหม่ของคนอยากถอนคาเฟอีน’

  • ออกกำลังกายบ้าง

การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ยังช่วยเรื่องระบบไหลเวียนของโลหิต ให้เลือดสูบฉีดได้ดีขึ้น มีแรงและกระปรี้กระเปร่า ทั้งยังช่วยให้นอนหลับสบายในตอนกลางคืน แต่อย่าเผลอออกกำลังกายหนักไป จนร่างกายเกิดระบมจนพาลไปทำงานไม่ไหวนะคะ    

อ่านบทความเพิ่มเติม ‘5 ทริคเด็ด ออกกำลังกาย ‘ด้วยตัวเอง’ ให้ได้ผล’ และ ‘9 ทริคเด็ด รู้ไว้ก่อนร่างพัง! ออกกำลังกายยังไงไม่ให้บาดเจ็บ’

  • เปิดเพลงฟัง

อีกหนึ่งอย่างที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวได้ นั่นก็คือ ‘เสียงเพลง’ ในช่วงกลางวัน อาจหาเวลาพักเปิดเพลงฟังซักแป๊บ เพื่อกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว และคลายความเครียด หรือใครที่ทำงานแบบไม่ต้องใช้สมาธิมาก อาจเปิดเพลงคลอไปเบาๆ ระหว่างทำงานด้วยก็ได้เช่นกัน

อ่านบทความเพิ่มเติม ‘เปิดเพลงฟัง VS นั่งทำงานเงียบๆ แบบไหนได้งานมากกว่ากัน?’

มนุษย์วัยทำงานอย่างเราๆ อาจคิดว่าการนอนดึก หรืออดหลับอดนอนเป็นเรื่องธรรมดา ด้วยหลายๆ ปัจจัย ทั้งปริมาณงาน ความเครียด และอื่นๆ แต่อย่างที่เห็นว่าผลกระทบในระยะยาวของการนอนดึก ไม่นอน หรือนอนไม่พอ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย สามารถนำพาโรคร้ายต่างๆ มาได้มากมาย ใครที่ชอบนอนดึกบ่อยๆ หรือมีอาการคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นโรคร่าเริง ก็อย่าปล่อยเอาไว้ รีบปรับพฤติกรรมด่วนๆ ก่อนจะสายเกินแก้นะคะ

เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ลองบูธพลังด้วยวิตามินดีๆ สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และอย่าลืมทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายบ้าง เท่านี้คนวัยทำงานอย่างเราๆ ก็สุขภาพดีขึ้นได้แล้ว ช้อปวิตามินและอาหารเสริม มี อย. คลิก OfficeMate

ขอบคุณข้อมูลจาก : today.line.me / sanook