รู้หรือไม่ว่า ความทรงจำของมนุษย์จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงอายุ 20 ปี และเมื่อโตขึ้นก็จะมีการเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ ตามช่วงวัย ดังนั้น เรื่องของความจำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่เราจะต้องใส่ใจในการดูแล เพื่อป้องกันอาการหลงลืม ซึ่งการที่จะเรียกคืนความจำ กระตุ้นความจำนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คุณสามารถที่จะฝึกฝนทักษะ เพิ่มความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพความจำได้ด้วยเคล็ดลับต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณมีความจำที่เฉียบคม สามารถจดจำสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างแม่นยำ

และหนึ่งในเคล็ดลับที่มีการบอกต่อมากที่สุด ก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพความจำแบบง่ายๆ จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  มหาวิทยาลัยที่หลายคนคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นหนึ่งในเป้าหมายของผู้คนทั่วโลกที่อยากจะไปเรียนรู้ที่นี่ โดยฮาร์วาร์ดเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีและมีชื่อเสียงมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงยังเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ที่ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลามากกว่า 300 ปีอีกด้วย 

ดังนั้น ในบทความนี้เราจะพาคุณไปดูวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำสิ่งต่างๆ กระตุ้นพัฒนาการสมองและการเรียนรู้ให้คุณสามารถจำเรื่องราวได้อย่างแม่นยำและเฉียบคม ซึ่งจะดีต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การเรียนและอื่นๆ อย่างมาก รวมถึงยังเป็นการช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย 

เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพให้ความจำสไตล์ฮาร์วาร์ด

เทคนิคการจำสไตล์ฮาร์วาร์ด ที่แต่ละเคล็ดลับสามารถทำได้ไม่ยาก เป็นคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยระดับโลกที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปใช้เพื่อกระตุ้นความจำให้มีประสิทธิภาพแบบง่ายๆ 

“เล่นเกมฝึกสมอง” พัฒนาความจำ

เกมที่น่าสนใจทั้งสนุก และช่วยกระตุ้นสมอง ต้องบอกเลยว่ามีตัวเลือกไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น หมากรุก เกมยอดฮิตสำหรับฝึกวางแผน และวิเคราะห์คู่แข่ง,  Soduku เกมไขปริศนาตัวเลข , Crossword เกมปริศนาอักษรไขว้ ,  รูบิก ของเล่นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ช่วยให้คุณสามารถฝึกสมองได้เป็นอย่างดี 

เพิ่มประสิทธิภาพให้ความจำ

ดังนั้น สำหรับใครที่คิดว่าการฝึกสมองให้จดจำได้อย่างเฉียบคมเป็นเรื่องที่ยาก ให้เริ่มต้นด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลายอย่างการเล่นเกมฝึกสมองวันละนิดวันละหน่อย จะช่วยให้คุณความจำดีขึ้นได้แน่นอน

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เป็นเคล็ดลับที่ดูเหมือนง่าย แต่อาจจะทำได้ยากสำหรับบางคน หลายๆ คนอาจจะคิดว่าการอดนอน การนอนน้อย การไม่นอนแล้วค่อยนอนชดเชยวันอื่นจะไม่ส่งผลเสีย แต่บอกเลยว่าการที่คุณอดนอนบ่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองเป็นอย่างยิ่ง และทำให้ความสามารถในการจดจำของคุณลดน้อยลงอีกด้วย รวมถึงยังมีปัญหาด้านอื่นๆ อย่าง การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ การตัดสินใจที่แย่ลง ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ รวมถึงยังส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและผิวพรรณอีกด้วย

การอดนอนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และยังมีผลเสียมากมายที่จะส่งผลต่อระบบสมองและประสาท โดยเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณสามารถนอนหลับได้ง่ายและสนิทนั้น แนะนำว่าควรจัดสภาพแวดล้อมที่นอนให้เหมาะสมสำหรับการพักผ่อน, หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนก่อนเวลานอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง, ปิดเสียงรบกวน หลีกเลี่ยงการใช้งานโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ เป็นต้น 

ใช้ ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพิ่มประสิทธิภาพการจดจำ

เป็นเคล็ดลับที่น่าสนุกไม่น้อยเลยทีเดียว คุณสามารถกระตุ้นความจำด้วยการใช้ประสาททั้งห้าสำหรับการเชื่อมโยง โดยประสาททั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย สำหรับการจดจำเรื่องราวต่างๆ ความรู้สึก ความประทับใจที่เชื่อมโยงไปกับสถานการณ์ เหตุการณ์และประสบการณ์ในอดีต ว่าสัมผัสที่ได้รับนั้น มีความคล้ายกับเหตุการณ์ใด เป็นแบบไหน แล้วคืออะไรกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการจดจำชื่อน้ำหอมกลิ่นต่างๆ ให้คุณลองจินตนาการไปถึงกลิ่นน้ำหอมที่คุณชื่นชอบแต่ละกลิ่น สัมผัสช่วงเวลาดังกล่าว กลิ่นหอมกลิ่นนี้มาจากกลิ่นอะไร มีขวดรูปทรงไหน เป็นของแบรนด์อะไร และมีชื่อเรียกว่าอะไร เป็นต้น การใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเข้ามาช่วยสามารถประสิทธิภาพได้ดีอย่างดีน่าเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการจดจำในชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียนและอื่นๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นเคล็ดลับที่น่าสนใจอย่างมาก 

“เว้นช่วง” ทบทวนซ้ำอีกครั้งเพื่อจำได้ยิ่งกว่าเดิม

หลายๆ ครั้งที่เรามักจะกดดันตัวเองว่าต้องจำให้ได้ จำให้ได้ทั้งหมด แต่นั่นอาจจะเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้น หนึ่งในเคล็ดลับที่มีการแนะนำในการจดจำก็คือ การใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘เว้นช่วง’ โดยจะเป็นการเว้นระยะสำหรับการจดจำให้ห่างกันสักช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 1 วัน, วันเว้นวัน, 3 วัน, 1 สัปดาห์ ซึ่งการที่คุณได้ทบทวนซ้ำกับข้อมูลที่ต้องการจดจำจะสามารถจดจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการกระตุ้นความจำของคุณได้ดีมากกว่าการเร่งให้จำเนื้อหาทีเดียวแบบรวดเดียวหรือจำให้ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วแบบครั้งเดียวจบ 

ดังนั้น สำหรับใครที่กำลังต้องการอ่านข้อมูลหรือจดจำสิ่งต่างๆ ให้ได้ ลองกำหนดเวลาการเว้นช่วงแล้วกลับมาอีกตามกำหนด จะช่วยให้คุณจดจำได้ดียิ่งขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

“แบ่งเป็นชุดเล็กๆ” จดเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่

เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ การแบ่งเป็นชุดเล็กๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว คนเราจะสามารถจดจำเรื่องเล็กๆ รายละเอียดยิบย่อยได้ง่ายมากกว่าเรื่องใหญ่ ดังนั้น ให้เราลองนำจุดนี้มาพัฒนาในการจดจำสิ่งต่างๆ เพื่อให้คุณสามารถจดจำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณต้องการจดจำเนื้อหาข้อมูล 1 หน้าจำนวน 30 บรรทัด ลองแบ่งออกเป็นชุดละ 5 – 10 บรรทัดเพื่อให้คุณสามารถเรียนรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น หรือจะเป็นการจำตัวเลข 13 หลัก ก็อาจจะลองแบ่งออกเป็น 6 + 7 แล้วจำทีละนิด นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ได้หลายๆ อย่าง เช่น การอ่านหนังสือวันละ 5 – 10 หน้าหรือทีละน้อย ที่สามารถจำได้ดีมากกว่าการอ่านรวดเดียวทั้งเล่ม เป็นต้น

การ “จด” ช่วยจำ การเขียนช่วยกระตุ้นความจำให้แม่นยำ

เพิ่มประสิทธิภาพให้ความจำ

เคล็ดลับที่หลายๆ คนทำแล้วเห็นผลได้ดีเลยทีเดียวสำหรับการ ‘จดช่วยจำ’ ที่ช่วยให้จำได้มากกว่าการอ่านเพียงอย่างเดียว การที่คุณจดรายละเอียดต่างๆ จดพร้อมทบทวนสิ่งที่คิด ความรู้และข้อมูลที่ได้รับมา จะช่วยให้คุณสามารถจดจำสิ่งนั้นได้อย่างแม่นยำมากกว่าการอ่านผ่านตาไปเฉยๆ การเขียนจะช่วยให้คุณได้ระลึกถึงเนื้อหาต่างๆ ที่คุณต้องการจดจำจนกลายเป็นความจำที่แม่นยำและมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณต้องการอ่านหนังสือสอบ แนะนำให้ลองหาสมุดโน้ตพร้อมเขียนทบทวนความจำไปพร้อมๆ กับการอ่าน จะช่วยให้คุณสามารถทวนสิ่งที่เรียนรู้ ได้แยกย่อยรายละเอียดของหนังสือ ได้จดบันทึกเป็นข้อมูลที่กระตุ้นความจำได้ดี เป็นต้น 

เชื่อมั่นมั่นใจว่าคุณสามารถทำได้และจำได้

หนึ่งในพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ บนโลกนี้ได้คือ ความเชื่อมั่น ผลการศึกษาจากผู้สูงอายุและคนในวัยกลางคนพบว่า ความจำของมนุษย์สามารถที่จะแปรสภาพไปตามความเชื่อมั่นได้ หมายถึง ถ้าหากคุณเชื่อมั่นว่าคุณสามารถทำได้ มีความตั้งใจที่แน่วแน่ และมั่นใจในตัวเอง ก็จะช่วยให้คุณสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความจำก็จะไม่เสื่อมสภาพลงไปตามช่วงวัยอย่างแน่นอน ดังนั้น ถ้าหากคุณต้องการที่จดจำสิ่งต่างๆ หรือกำลังกังวลกับการทำงาน การเรียน การเชื่อมั่นในตัวเอง ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยได้มากแน่นอน 

“ขยายขอบเขต” จำได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม

ลองเปลี่ยนรูปแบบการจดจำด้วยการอ่านในใจ มาเป็นการจดจำด้วยการขยายขอบเขตของข้อมูล เพื่อให้คุณสามารถนำจดได้อย่างดียิ่งขึ้น หนึ่งในเคล็ดลับที่ฮาร์วาร์ดแนะนำคือการขยายขอบเขต เช่น การจดบันทึก หรือการวาดภาพประกอบ ให้คุณสามารถเห็นภาพที่ชัดเจนและขยายการจดจำได้มากยิ่งขึ้น, การจัดทำแผนผัง, การอ่านออกเสียง ที่ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ยากและยังเพิ่มความสนุกสนานให้แก่การกระตุ้นความจำอีกด้วย 

“เรียกชื่อ”ทบทวนความจำ กระตุ้นความคิด

คุณจะสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้นจากการเรียกชื่อ เพื่อสามารถทบทวนและกระตุ้นความจำในช่วงเวลานั้น ดังนั้น ลองตั้งชื่อให้กับสิ่งที่คุณต้องการจดจำหรือการเรียกชื่อคนที่คุณรู้จัก ลูกค้าของคุณ เพื่อนร่วมงานของคุณและอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มความจำได้ดีแน่นอน 

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพความจำง่ายๆ จากคำแนะนำของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะเห็นได้ว่าแต่ละวิธีสามารถทำได้ไม่ยาก เป็นเคล็ดลับที่ง่ายต่อการฝึกฝนและยังเสริมพัฒนาการได้เป็นอย่างดี เป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวันที่คุณสามารถเรียนรู้และจดจำได้อยู่เสมอ และนี่ก็เป็นเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพความจำสไตล์ฮาร์วาร์ดแบบง่ายๆ ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจและผลลัพธ์ที่ทำได้จริง!

หนึ่งในเคล็ดลับช่วยจำ คือการ ‘จด’ เข้ามาช้อปอุปกรณ์สำหรับจดบันทึก เอาไปเลคเชอร์ก่อนสอบได้เลยที่ OfficeMate ช้อปครบ 499 บาท ส่งฟรีทั่วประเทศ!

บทความแนะนำ

ขอบคุณข้อมูลจาก