‘กรดไหลย้อน’ พบได้ในทุกช่วงอายุ และทุกวันนี้ก็ดูเหมือนว่าชาวออฟฟิศจะเป็นกรดไหลย้อนกันมากขึ้น เรียกว่าตีตื้นมากับการเป็นออฟฟิศซินโดรม เราไปดูกันดีกว่าว่า กรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากอะไร? จะใช่การกินแล้วนอนเหมือนที่เค้าบอกๆ กันรึเปล่า แล้วจะเลี่ยง หรือรักษาได้อย่างไร หากเป็นกรดไหลย้อน เริ่มเลย!!  

กรดไหลย้อน คืออะไร?

กรดไหลย้อน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gastro-Esophageal Reflux Disease : GERD เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายและอาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบได้  

กรดไหลย้อน GERD

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

สาเหตุที่กรด ไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารได้ ทางกายภาพเกิดจากหูรูดหลอดอาหารที่มีหน้าที่ป้องกันกรดมีความหย่อน หรือเปิดบ่อยกว่าปกติ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีแรงกระตุ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและอาหารการกินของเราด้วยเช่นกัน

  • การดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการสูบบุหรี่ ส่งผลให้ความดันของหูรูดหลอดอาหารต่ำลง และทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดบ่อย ซึ่งทำให้เกิดกรดไหลย้อน 
  • อาหารที่มีไขมันสูง และช็อกโกแลต มีส่วนทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง ส่งผลให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะนานขึ้น เพิ่มโอกาสให้เกิดกรดไหลย้อน
  • นอนทันทีหลังกินอาหาร ทำให้หูรูดหลอดอาหารทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะการนอนราบหลังกินอาหารมื้อใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นกรดไหลย้อนได้มากถึง 2 เท่า 
  • คนที่มีภาวะโรคอ้วน หรือกำลังตั้งครรภ์ มีโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้ง่ายกว่า 
  • ยาบางชนิดทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้อาการหอบหืด 

อาการ และสัญญาณเตือนกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน GERD

อาการ และสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น ‘กรดไหลย้อน’

  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก ลิ้นปี่ หรือลำคอหลังจากรับประทานอาหาร อาจแสบร้อน หรือเจ็บต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง
  • คลื่นไส้ 
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • เรอบ่อย และเรอเปรี้ยว
  • หายใจมีเสียงดังหวีด
  • เวียนศีรษะ 
  • มีเสมหะ หรือของเหลวรสเปรี้ยวไหลขึ้นมาที่ลำคอ
  • กลืนอาหารลำบาก คล้ายมีก้อนมาขวางอยู่ที่คอ
  • เสียงแหบ 
  • มีอาการไอเรื้อรัง
  • มีกลิ่นปาก หรือมีฟันผุ 

วิธีป้องกันกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน GERD

นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ถ้าอยากป้องกันการเป็นกรดไหลย้อน ให้เริ่มจากปรับพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิต ดังนี้ 

  • ลด หรืองดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้หูรูดหลอดอาหารคลายตัวบ่อยครั้งขึ้น
  • ลดการกินอาหารมื้อใหญ่ หรือกินจนรู้สึกแน่นท้อง เปลี่ยนมากินแต่พออิ่ม หรือกินละน้อยๆ แต่กินบ่อยขึ้น
  • ไม่กินดึก กินอาหารเย็นก่อนเข้านอน อย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • เลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือคับแน่น 
  • คนที่มีภาวะโรคอ้วน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดน้ำหนัก จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นกรดไหลย้อนได้
  • หลังกินอาหาร ไม่ควรนอน ออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือเอี้ยวตัวเยอะ 

อาหารต้องห้ามสำหรับคนเป็นกรดไหลย้อน

นอกจากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว คนเป็นกรดไหลย้อน ไม่ควรกินอาหารเหล่านี้ 

  • อาหารไขมันสูง เช่น ของทอด ฟาสต์ฟู้ด กะทิ นม เนย ชีส ไอศครีม และเนื้อสัตว์ติดมัน
  • อาหาร และเครื่องดื่มที่มีแก็ส หรือทำให้เกิดแก็สในกระเพาะ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ อาหารรสจัด ถั่ว 
  • อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น อาหารรสเปรี้ยว น้ำส้มสายชู ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด ซอสมะเขือเทศ 
  • ผักดิบ และผักที่มีกรดสูง เช่น พริก กระเทียม พริกไทย หอมแดง 
  • อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ 
  • วิตามิน และอาหารเสริมบางชนิด เช่น น้ำมันตับปลา วิตามินอี และวิตามินซี
  • หมากฝรั่ง

โรคกรดไหลย้อนเป็นง่าย แต่รักษายาก และไม่หายขาด ดังนั้น ปรับพฤติกรรมการกิน กินให้เป็นเวลา และไม่กินดึก สำหรับชาวออฟฟิศที่เลี่ยงกินดึกไม่ได้ ก็แนะนำให้กินอาหารเย็นเบาๆ แทนการกินมื้อหนัก จะช่วยให้นอนหลับสบาย และลดโอกาสการเป็นกรดไหลย้อน 

มาดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย ด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายจาก OfficeMate ช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมโปรลดแรงตลอดทั้งเดือน แถมด้วยบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท!

บทความแนะนำ!

ขอบคุณข้อมูลจาก