ทุกวันนี้โลกหมุนไวอย่างไม่น่าเชื่อ เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นติดต่อกันแทบจะทุกวินาที โดยปกติแล้ว หลายๆ คน มักเลือกที่จะรับรู้เพียงบางเหตุการณ์ที่ตัวเองสนใจ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะรับรู้ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทุกๆ เทรนด์ที่เข้ามา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพฤติกรรมปกติในยุคโซเชียลมีเดีย แต่อันที่จริง ทางการแพทย์ถือว่าพฤติกรรมนี้มีความผิดปกติ และสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจ บุคลิกภาพ และสุขภาพร่างกาย

รู้จักกับ อาการกลัวตกกระแส : โฟโม (Fear Of Missing Out : FOMO)

อาการกลัวตกกระแส มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า FOMO (โฟโม) แปลความหมายตรงตัว ก็คือ Fear Of Missing Out เป็นอาการของคนที่กลัวการตกข่าว กลัวตกเทรนด์ รวมถึงกลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ และมีความอยากเป็นคนสำคัญ จึงต้องติดตามข่าวสาร เช็กกระแสต่างๆ เพื่อที่จะแชร์สิ่งที่รู้มาออกไปเป็นคนแรกๆ ทั้งยังคอยติดตามดูว่าใครกำลังทำอะไรที่ไหนอย่างไรแทบจะ ‘ตลอดเวลา’

อาจจะดูเป็นเรื่องปกติของสังคมในยุคโซเชียล ที่ข่าวสารแพร่กระจายได้ไว และผู้คนก็มีแพลตฟอร์มที่เอื้อให้รับรู้และติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ตลอดเวลา แต่สำหรับคนมีอาการโฟโม แล้ว เขาไม่ใช่แค่คนที่คอยติดตามข่าวสารตลอดเวลาเท่านั้น

คนเป็นโฟโม (FOMO) มีอาการแบบไหน?

นอกจากจะต้องการติดตามข่าวสารสถานการณ์ต่างๆ ตลอดเวลา ต้องรีเฟรชหน้าเว็บไซต์ทุกๆ 5 นาที คนมีอาการโฟโมยังจะมีความเครียดมากกว่าปกติเมื่อตัวเองเกิดพลาดตกข่าวอะไรซักอย่างไป หรือแชร์โพสต์แล้วมีจำนวนคนกดไลค์เพียงน้อยนิด 

อาการโฟโม เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะเกิดมากกับกลุ่มวัยรุ่น ในช่วง Gen Millennial (2529-2538) ไปจนถึง Gen Z (2539-2552) และส่วนใหญ่แล้ว คนมีอาการโฟโมมักจะไม่รู้ตัวเอง ส่งผลให้อาการย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เพราะไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

วันนี้ OfficeMate เลยมาชวนทุกคนเช็กกันว่า คุณนั้นเข้าข่ายการเป็นโฟโม (FOMO) แล้วหรือยัง? เพื่อจะได้รีบแก้ รีบปรับพฤติกรรมกันได้ทันถ่วงที

พฤติกรรมที่เข้าข่ายโฟโม (FOMO) 

  • หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน และกระวนกระวาย เมื่อไม่ได้เช็กโทรศัพท์ หรือไม่ได้เข้าโซเชียล 
  • กลัวที่จะรู้ข่าวช้ากว่าคนอื่น ติดการใช้ Facebook Instagram และ Twitter 
  • ใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน อดใจไม่ได้ และกระสับกระส่ายเมื่อมีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้น
  • อัปเดตและแชร์เรื่องราวของตัวเองบนโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง
  • รู้สึกแย่เมื่อเห็นเพื่อนๆ ออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมโดยที่ไม่ได้ไปด้วย
  • เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ตลอดเวลา และรู้สึกด้อยค่าเมื่อเห็นคนอื่นได้เที่ยวหรู กินดี หรือได้เช็กอินในสถานที่ฮอตฮิต แต่เรายังไม่ได้ไป

โฟโม (FOMO) ส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

อย่างที่บอกว่าคนมีอาการ FOMO มักจะไม่รู้ตัว ไม่ได้รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะตัวเองได้ทำพฤติกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะกลายเป็นคนที่คล้ายจะย้ำคิดย้ำทำ ส่งผลต่อบุคลิกภาพ กลายเป็นคนที่ก้มดูโทรศัพท์ตลอดเวลา รับฟังคนอื่นน้อยลง และเสียโอกาสการพัฒนาตัวเองในด้านอื่นๆ ทั้งยังทำให้สภาพร่างกายย่ำแย่ นอนน้อย นอนไม่หลับ สายตาเสียจากแสงสีฟ้า เพราะใช้เวลาไปกับการเช็กสมาร์ทโฟนจนดึกดื่นตลอดคืน 

นอกจากนั้น โฟโมยังทำให้เป็นโรคหลงตัวเอง จากการได้ยอดไลค์ยอดแชร์จำนวนมาก อารมณ์ร้อนง่าย เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยหรือโดนตำหนิ และจะรู้สึกโกรธแค้นมากกว่าที่จะคิดทบทวนกับตัวเอง อาจส่งผลลุกลามไปถึงการเป็นโรคซึมเศร้า จากการเปรียบเทียบวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ มักคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ เมื่อไม่มีเหมือนคนอื่นเขา

เช็กแล้วว่าเป็นโฟโม (FOMO) แก้ยังไงดี?

ผลกระทบจากโฟโมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เมื่อเช็กอาการแล้วว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟน ชอบเสพโซเชียลจนเข้าข่ายมีอาการโฟโมควรรีบแก้ไข ดังนี้

  • เริ่มจากยอมรับว่าตัวเองมีอาการโฟโม เมื่อยอมรับได้ ก็จะเกิดการเปิดใจและยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลองปิดโทรศัพท์ในวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วใช้เวลากับงานอดิเรกอื่นๆ 
  • ออกจากแชทและโซเชียล แล้วไปเที่ยวกับเพื่อน หรือไปทานข้าวกับครอบครัวในโลกความจริง
  • ใช้ชีวิตให้ช้าลง หัดมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ รอบตัว หรือความสำเร็จเล็กๆ ที่ตัวเองทำได้ จะช่วยให้เรารักตัวเองมากขึ้น  
  • ปรับความคิด ยินดีที่เพื่อนประสบความสำเร็จ หรือมีความสุข แทนที่จะรู้สึกหงุดหงิด

การรักษาอาการโฟโมนั้น ขึ้นอยู่กับการปรับทัศนคติและพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ใครที่เช็กแล้วว่าตัวเองเป็นโฟโม ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนที่ละนิด หรือหากมีคนรอบข้างที่เป็นโฟโม ก็ควรให้กำลังใจ และลองชวนเขาออกไปทำนู่นทำนี่ จะช่วยให้ไม่เครียด และหายจากอาการโฟโมได้ดีกว่าการหักดิบ อย่างการยึดโทรศัพท์มือถือ หรือต่อว่าด่าทอ เพราะอาจทำให้เครียดและมีอาการต่อต้านมากกว่าเดิม แต่หากรู้สึกว่าหนักเกินกว่าจะรับมือไหวด้วยตัวเอง การปรึกษาจิตแพทย์เป็นอีกหนึ่งทางออกที่เวิร์ค รับรองว่าผู้เชี่ยวชาญจะมีคำตอบและคำแนะนำดีๆ ที่จะช่วยให้เราหรือคนรอบข้างหายจากอาการโฟโมได้แน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.rama.mahidol.ac.th / http://infographic.in.th/ / www.mangozero.com