ผลสำรวจจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) พบว่าในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19

  • ผู้คนกว่า 59% มีรายได้ลดลง
  • 52% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น
  • 62% มีเงินออมลดลง
  • 36% มีหนี้สินเพิ่มพูนมากกว่าเดิม 

และกับพวกเราชาวมนุษย์เงินเดือน หลายคนโดนลดเงินเดือน บางคนบริษัทต้องปิดตัวกระทันหันแบบไม่ทันตั้งตัว และบางคนก็ต้องยินยอม Leave without pay เพื่อไม่ให้โดนไล่ออก ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบกับรายได้ของคนทำงานกันถ้วนหน้า วันนี้ OfficeMate จึงชวนมาดูเทคนิคการใช้จ่ายในยุคโควิด-19 ว่าควรจะบริหารรายรับที่เข้ามายังไง? เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้พวกเราชาวมนุษย์เงินเดือนอยู่รอดจนกว่าวิกฤตนี้จะสิ้นสุด ไปดูกัน!  

6 เทคนิค ‘เพิ่มความมั่นคงทางการเงิน’ ฉบับมนุษย์เงินเดือน

หลักการง่ายๆ ที่จะช่วยให้การเงินของเรามั่นคง ก็คือ รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย และสถานะทางการเงินแต่ละเดือนต้องไม่ติดลบ ไปดูกันว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่ช่วยได้!

ตรวจสอบการใช้เงิน ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

ขั้นแรกของการเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน คือตรวจสอบการใช้เงินตัวเอง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการใช้เงินในอนาคต วิธีตรวจสอบการใช้เงินที่ดีและง่ายที่สุด คือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย แนะนำให้ทำทุกวัน จดทุกอย่างลงไปแม้จะเป็นเพียงค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เช่น ค่าวินมอเตอร์ไซต์ ค่าขนม ค่าลูกอม ฯลฯ การทำบัญชี จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมการใช้เงินของตัวเองว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ขณะนี้เหลือเงินอีกเท่าไหร่ และสามารถใช้จ่ายได้อีกเท่าไหร่ 

ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพิ่มความมั่นคงทางการเงิน
ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

วิธีนี้จะช่วยให้เรามองเห็นสถานะการเงินของตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากทำบัญชีแล้วมองเห็นว่ารายจ่ายมีแนวโน้มว่าจะมากกว่ารายรับ เราก็จะสามารถวางแผนเพื่อตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้ทัน เพื่อไม่ให้เงินในบัญชีติดลบนั่นเอง

เคลียร์หนี้เก่า และอย่าเพิ่งสร้างหนี้เพิ่ม

หากต้องการเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในช่วงที่รายรับไม่แน่นอน และหน้าที่การงานที่พร้อมสั่นคลอนได้ตลอดเวลาแบบนี้ แนะนำว่าให้งดหรือชะลอการใช้จ่ายที่อาจเป็นการเพิ่มหนี้สิ้นออกไปก่อน เช่น การซื้อคอนโด ซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือแม้แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต 

ส่วนคนที่มีหนี้เก่าอยู่แล้ว แนะนำให้จ่ายหนี้ตามจำนวนขั้นต่ำที่สุดที่เจ้าหนี้กำหนดไว้แทน แม้การรีบเอาเงินสดไปโปะจะช่วยให้หมดหนี้เร็วขึ้น แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรมีเงินเหลือเอาไว้เพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น หรือสำรองใช้ยามฉุกเฉิน สำหรับคนที่รายรับน้อยลงจนอาจมีเงินไม่พอหมุนและจ่ายหนี้ ควรขอต่อรองกับเจ้าหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น หรือให้เจ้าหนี้พิจารณาเลื่อนการชำระหนี้ออกไปก่อน (หากจะพักชำระหนี้ อย่าลืมชี้แจงเหตุผลและแจ้งสลิปเงินเดือนที่ลดลงแก่เจ้าหนี้ จะได้กลายเป็นคนหนีหนี้จนเสียเครดิตนะคะ)     

จัดสรรค่าใช้จ่ายจำเป็น และงดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น คือ ค่าใช้จ่ายที่มีผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ค่ากิน ค่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าของใช้ส่วนตัว (ผ้าอนามัย สบู่ แชมพู ที่โกนหนวด ฯลฯ) สำหรับคนที่ต้องดูแลครอบครัวหรือมีลูก ก็ให้บวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้าไป และจัดสรรแบ่งเงินก้อนเอาไว้เป็นอันดับแรกหลังจากได้รับเงินเดือน

ส่วนค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง คือ ค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น ให้ลองพิจารณาดูว่า หากจ่ายเงินไปกับสิ่งนี้แล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไร? หรือถ้าไม่จ่ายแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่? ถ้าคำตอบคือไม่ ก็แนะนำว่าให้ลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงจะดีกว่า เพื่อเก็บเงินเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน 

ออมเงินเป็นประจำ และงดหยิบยืมเงินออมของตัวเอง

การจะเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน คงจะขาดเงินออมไปไม่ได้ แม้ในช่วงนี้จะออมเงินได้ยาก เพราะรายจ่ายเท่าเดิม (แถมมากขึ้น) ในขณะที่รายรับกลับน้อยลง แต่อย่างที่บอกว่า เมื่อได้รับเงินมาแล้ว ให้กันเงินส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นออก ส่วนเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายจำเป็น อาจแบ่งออกอีกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเก็บเป็นเงินออม อีกส่วนหนึ่งอาจใช้สำหรับค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่อาจมีเข้ามา

ซึ่งการจะออมเงินให้ได้ผล คือการไม่ไปหยิบยืมออกมาใช้ และหากมีเงินเหลือก็แนะนำให้โปะเข้าไปในบัญชีเงินออม จะได้เพิ่มพูน และสามารถใช้เป็นเงินสำรองในยามฉุกเฉินได้อีกด้วย

ออมเงินเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน
ออมเงินเป็นประจำ

note : เงินสำรอง ควรเก็บไว้ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจำเป็น (ค่ากิน ค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ฯลฯ) อย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อเก็บเป็นเงินเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ป่วยเข้าโรงพยาบาล ซ่อมรถ ซ่อมบ้าน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเข้ามาแบบกระทันหัน

ทำประกันช่วยบริหารความเสี่ยง

แม้ในช่วงนี้เราควรรักษาเงินสดเอาไว้ในมือ แต่การทำประกันก็เป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินได้ ในกรณีที่เรามีเงินสำรองน้อย ซึ่งบางครั้งอาจไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่เข้ามา เช่น รถชน หรือเจ็บป่วย หากเรามีประกันสุขภาพ หรือประกันรถยนต์ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระเงินที่ต้องจ่ายได้ ซึ่งการทำประกันก็แนะนำให้เลือกประกันที่เหมาะสมกับช่วงชีวิต เพื่อไม่ให้เงินที่ส่งประกันไปนั้นเสียเปล่า และเราจะได้รับผลตอบแทนกลับมาอย่างเหมาะสม 

หาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ทางเดียว อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินได้ ก็คือการมีรายรับเพิ่ม ลองหาอาชีพเสริมทำในช่วงเวลาว่าง อย่างเวลาหลังเลิกงาน หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อาจเป็นอาชีพเสริมในด้านที่เราถนัดและลงทุนน้อย เช่น เขียนบทความ รับแปลภาษา พิสูจน์อักษร พิมพ์เอกสาร เป็นติวเตอร์ หรือจะขายของออนไลน์ เปิดรับพรีออเดอร์ ก็ได้เช่นกัน เพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติมที่ ทำให้เรามีรายรับและเก็บเงินได้มากขึ้น ช่วยคลายกังวลในช่วงที่งานประจำสั่นคลอน และรายได้หลักไม่มั่นคง

การใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเอง เป็นสิ่งที่ช่วยคลายเครียดจากสถานการณ์อันแสนตึงเครียดได้ แต่ในช่วงวิกฤตที่มีทั้งโรคระบาด และพิษเศรษฐกิจแบบนี้ก็ต้องบอกว่าการซื้อความสุขให้ตัวเองอาจต้องชะลอออกไปก่อน ควรหันมาโฟกัสกับความเป็นอยู่ ปากท้อง และการสร้างความมั่นคงกับชีวิตในอนาคตให้มากขึ้น หวังว่าเทคนิคเพิ่มความมั่นคงทางการเงินที่ OfficeMate นำมาฝาก จะเป็นประโยชน์และช่วยให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนเอาตัวรอดจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และโรคระบาดนี้ไปได้ OfficeMate เป็นกำลังใจให้นะคะ

ส่วนพ่อค้าแม่ค้าและผู้ประกอบคนไหนที่มองหาวิธีลดรายจ่าย เข้ามาช้อปสินค้าในราคาพิเศษ หรือจะขอเครดิตเทอมซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เอาวัตถุดิบไปรันธุรกิจเพิ่มยอดขายได้นาน 30 วัน ข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1281 หรือช้อปสินค้าราคาโปรโมชั่น คลิกเว็บไซต์ OfficeMate

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.krungsri.com
moneyhub.in.th
www.bangkokbiznews.com