เชื่อว่าผู้ประกอบการ SME หลายคนที่ดำเนินธุรกิจมาซักระยะหนึ่ง คงมีความคิดอยากตั้งโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง เพื่อขยับขยายธุรกิจ หาช่องทางในการสร้างกำไรเพิ่ม ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการจ้างโรงงานผลิตสินค้า (Outsource) อีกด้วย แต่การจะตั้งโรงงานได้นั้น จำเป็นต้องขออนุญาตให้เป็นเรื่องเป็นราว วันนี้ OfficeMate จึงรวบรวมขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง. 4 มาฝากชาว SME ที่อยากเปิดโรงงาน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี? ไปอ่านบทความนี้พร้อมๆ กันเลย!

ทำไมต้องขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน?

เหตุผลที่ต้องขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน หลักๆ แล้ว คือการทำตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายการจัดตั้งโรงงานระบุเอาไว้ว่า โรงงานที่มีเครื่องจักรขนาด 50 แรงม้า หรือโรงงานที่มีคน 50 คนขึ้นไป จะต้องดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมให้การดำเนินกิจกรรมในโรงงานนั้นไม่เกิดผลเสียต่อสังคมรอบข้าง และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีโรงงานบางประเภทที่ได้รับการยกเว้น ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) เราไปดูกันดีกว่าว่าตามกฎหมายแล้วโรงงานมีกี่ประเภท แล้วประเภทไหนบ้างที่ต้องขอใบอนุญาต

ประเภทของโรงงาน

โรงงานจำพวกที่ 1

โรงงานจำพวกที่ 1 คือ โรงงานที่มีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า มีการประกอบธุรกิจ หรือดำเนินกิจกรรมภายในโรงงาน ดังนี้ โรงงานฟักไข่โดยใช้ตู้อบ โรงงานทำน้ำตาลจากมะพร้าว โรงงานซ่อมรองเท้า/เครื่องหนัง โรงงานล้างรถยนต์ โรงงานซ่อมนาฬิกา/เครื่องประดับ โรงงานทำเส้นขนมจีน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นโรงงานที่ไม่ก่อปัญหามลพิษ ได้รับการละเว้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) 

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง.4

โรงงานจำพวกที่ 2

โรงงานจำพวกที่ 2 เช่น โรงงานผลิตน้ำดื่ม โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานทำไอศกรีม โรงงานทำน้ำอัดลม โรงงานแกะสลักไม้ ฯลฯ ซึ่งโรงงานทั้งหมดต้องมีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน 75 แรงม้า หรือมีคนงานไม่เกิน 75 คน โรงงานจำพวกที่ 2 นี้ ได้รับการละเว้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) แต่ต้องแจ้งให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อนมีการก่อตั้งโรงงานหรือปฏิบัติงาน

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการแจ้งเจ้าหน้าที่พนักงาน เพื่อขอใบรับแจ้งประกอบกิจการ

  • สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (สำหรับบุคคลธรรมดา)
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ระบุชื่อผู้มีอำนาจลงนาม ที่ตั้งสำนักงาน และวัตถุประสงค์ (สำหรับนิติบุคคล)
  • แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงงาน
  • เอกสารอื่นๆ ตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด

โรงงานจำพวกที่ 3  

โรงงานจำพวกที่ 3 เป็นโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีขนาดเครื่องจักรมากกว่า 75 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 75 คน ซึ่งโรงงานจำพวกที่ 3 นี้เอง ที่จำเป็นต้อง ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ก่อนการจัดตั้ง เพราะถือเป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษ หรืออาจสร้างความเดือดร้อน และต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด 

พูดง่ายๆ ว่า หากโรงงานที่จะจัดตั้ง มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือคนไม่เกิน 50 คน ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

อ่านรายละเอียดประเภทโรงงาน เพิ่มเติมได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/062/T_0013.PDF 

สถานที่ห้ามตั้งโรงงาน

แม้จะมีโรงงานบางจำพวกที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ก็มีข้อห้ามเกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงงานที่ผู้ประกอบการควรรู้ก่อนการเลือกทำเลตั้งโรงงาน  

  • โรงงานจำพวกที่ 1, 2 และ 3 ห้ามตั้งในบริเวณบ้านจัดสรร อาคารชุด ห้องแถว และบ้านเพื่อการพักอาศัย
  • โรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ห้ามตั้งอยู่ในบริเวณเขตติดต่อสาธารณสถาน เช่น โรงเรียน วัด โรงพยาบาล โบราณสถาน สถานที่หน่วยงานของรัฐ และแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะ 50 เมตร
  • โรงงานจำพวกที่ 3 ห้ามตั้งอยู่ในบริเวณเขตติดต่อสาธารณสถาน ภายในระยะ 100 เมตร

นอกจากนั้น โรงงานทั้ง 3 จำพวก ควรตั้งอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และไม่ก่อให้เกิดเหตุอันตรายต่อบุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ก่อนจัดตั้งและขอใบอนุญาต ก็อย่าลืมหาทำเลเหมาะๆ การขออนุญาตจัดตั้งโรงงานจะได้ผ่านฉลุย!

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง.4

สิ่งที่ต้องทำก่อนยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) 

  1. ผู้ประกอบการต้องเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานให้เหมาะสม และไม่ผิดกฎหมาย 
  2. โรงงานจำพวกที่ 3 บางประเภท จำเป็นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งรายงานนี้ต้องได้รับการอนุมัติก่อนถึงจะสามารถดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปได้
  3. ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในละแวกที่ตั้งโรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อตั้งโรงงาน 

หากผ่าน 3 ขั้นตอนนี้ไปได้ ก็จะสามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้แล้วค่ะ 

ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่ไหนได้บ้าง? 

  • สำหรับโรงงานในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ หรือยื่นออนไลน์ ได้ที่ http://dsapp.diw.go.th/Login.aspx?ReturnUrl=%2f
  • สำหรับโรงงานในต่างจังหวัด ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนั้นๆ 

เอกสารต้องเตรียม สำหรับขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4)

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจัดตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 เอกสารที่ต้องเตรียมเป็นหลักฐานการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) มีดังนี้ 

  1. คำขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน คลิกดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
  2. หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล คัดสำเนาไม่เกิน 3 เดือน (สำหรับนิติบุคคล)
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม (สำหรับบุคคลธรรมดา)
  4. หนังสือมอบอำนาจ
  5. สำเนาโฉนดที่ดิน หรือเอกสารแสดงการมีสิทธิ์ใช้ที่ดิน
  6. แบบแปลนแผนผังอาคารโรงงาน ที่ลงนามรับรองความปลอดภัยโดยวิศวกร
  7. แผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักร ที่ลงนามรับรองความปลอดภัยโดยวิศวกร 
  8. สำเนาหนังสืออนุญาตก่อสร้าง
  9. ขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด 
  10. เอกสารอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่กำหนด เช่น ผลรายงานการประเมินความเสี่ยง
ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง.4

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

เมื่อเตรียมเอกสารต่างๆ ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการ SME ก็นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นคำขออนุญาต เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้ว ก็จะทำการตรวจสอบเอกสาร พิจารณาความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง เมื่อพิจารณาจนถี่ถ้วนแล้ว หากคำขอได้รับการอนุมัติ เจ้าหน้าที่ก็จะออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) ให้ ก็เป็นอันเสร็จ แต่ถ้าคำขอไม่ได้รับการอนุมัติ ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งสิทธิอุทธรณ์ต่างๆ จะมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือแจ้งไม่อนุมัตินั่นเองค่ะ

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าตั้งโรงงานโดยไม่ขออนุญาต?

อย่างที่บอกการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานนั้นเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย หากฝ่าฝืน ก่อตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโรงงานจำพวกที่ 2 หากฝ่าฝืน ก่อตั้งโรงงานหรือดำเนินกิจการโดยไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานรับทราบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะฉะนั้นแล้ว ผู้ประกอบการ SME ที่อยากมีโรงงานเป็นของตัวเอง ควรดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อทำธุรกิจให้ราบรื่น ไม่สะดุดจะดีกว่านะคะ 

หวังว่าคู่มือการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และข้อควรรู้ต่างๆ ที่เรานำมาฝากในวันนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เตรียมตัวให้พร้อมและเริ่มต้นได้ถูกต้องนะคะ OfficeMate ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบ SME รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ทุกคน และเราพร้อมเป็นตัวช่วยให้คุณดำเนินธุรกิจ รวมถึงดำเนินกิจกรรมในโรงงานได้อย่างไม่ติดขัด ด้วยอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับใช้ในโรงงาน พร้อมให้เหล่าผู้ประกอบการช้อปได้ครบครัน ในราคาโปรโมชั่น พร้อมด้วยบริการเครดิตเทอม นานสูงสุด 30 วัน และบริการส่งฟรีทั่วไทย เมื่อช้อปครบ 499 บาท! อยากเปิดโรงงาน แต่ยังมีอุปกรณ์ไม่ครบ คลิก OfficeMate เลย!

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.proindsolutions.com