โควิด-19 รอบนี้ที่ระบาดมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ถือว่าหนักหนาและน่าจะลากยาวไปอีกหลายเดือน ด้วยยอดผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน เราทุกคนต่างก็ต้องดูแลตัวเองกันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย ยิ่งต้องดูแลแบบรัดกุม และระมัดระวังมากขึ้นหลายเท่าตัว

ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่ภูมิคุ้มกันเริ่มถดถอย มีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อได้ง่าย และหากป่วยก็จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้คนวัยอื่นๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของอาการข้างเคียง หรือสุขภาพระยะยาวที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่แข็งแรงเหมือนเดิมแม้จะหายป่วยจากการติดเชื้อแล้วก็ตาม ดังนั้น หากบ้านไหนที่มีผู้สูงอายุ ในช่วงนี้ขอให้ดูแลเป็นพิเศษโดยอาจทำตามคำแนะนำที่เราเอามาฝากในวันนี้ ไปดูกันค่ะ

7 วิธีดูแลผู้สูงอายุช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก

ดูแลอาหารการกินของผู้สูงอายุ

ดูแลผู้สูงอายุช่วงโควิด-19

ผู้สูงอายุควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และควรเป็นอาหารปรุงสุก ทำมาจากวัตถุดิบที่สดสะอาด เน้นเป็นอาหารโปรตีนสูง แต่ควรเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ปลา หรือไก่ ปรุงรสอ่อนๆ หลีกเลี่ยงผงชูรส และอาหารที่ปรุงแบบรสจัด เช่น เค็มจัด หรือหวานจัด นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง งดของทอด ของมัน ควบคุมปริมาณข้าวและแป้งให้พอเหมาะ งดสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือ ควรให้ผู้สูงอายุแยกตัวทานอาหารคนเดียว เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจแพร่เชื้อตอนอาหารร่วมกัน  

ปรับอารมณ์ผู้สูงอายุอย่าให้เครียด 

ด้วยมาตรการ Social Distancing ผู้สูงอายุบางคนที่เคยมีสังคม มีเพื่อนบ้านให้ออกไปพบปะพูดคุยแก้เหงา แต่ 2 ปีมานี้กลับต้องอยู่แต่บ้าน บวกกับข่าวคราวน่าวิตกต่างๆ ก็อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียดได้ คนในครอบครัวควรหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของผู้สูงอายุในบ้าน คอยถามไถ่ พูดคุย อย่าปล่อยให้เหงา หรืออาจหากิจกรรมให้ทำ อย่างกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชอบ เช่น อ่านหนังสือ ร้องคาราโอเกะ ทำอาหาร ทำขนม ปลูกต้นไม้ หรืออาจเป็นการนั่งสมาธิเพื่อผ่อนคลายจิตใจ และควรจำกัดการดูข่าวสารในแต่ละวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเครียด หรือมีอาการหวั่นวิตก 

พาผู้สูงอายุออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ดูแลผู้สูงอายุช่วงโควิด-19

การออกกำลังกายถือเป็นตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันชั้นดี สำหรับผู้สูงอายุแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ ในบ้าน อาจเป็นการเดิน การแกว่งแขน ยืดเส้นยืดสาย หรือจะเปิดยูทูปหาวิดีโอท่ารำไทเก็กให้ทำตามก็ได้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4-5 วัน วันละ 20-30 นาที (ตามแต่สภาพร่างกาย) และหากเป็นไปได้ควรพาผู้สูงอายุออกไปรับแสงแดดบ้างในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น เพื่อให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้น

ผู้สูงอายุต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนของผู้สูงอายุ แนะนำให้นอนวันละ 7-9 ชั่วโมง หากผู้สูงอายุมีอาการนอนหลับยาก ควรให้งดนอนกลางวัน งดเครื่องดื่มคาเฟอีน และออกกำลังกายตอนกลางวัน จะช่วยให้ตอนกลางคืนนอนหลับง่ายขึ้น นอกจากนั้น ควรดูแลเรื่องการดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ควรงดดื่มช่วงก่อนเข้านอน จะได้ไม่ต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกนั่นเองค่ะ

ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ต้องดูแลเป็นพิเศษ

สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรดูแลให้ทานยาให้ครบ และพบแพทย์ตามนัด แต่ถ้าผู้สูงอายุมีอาการคงที่ การตรวจโรคครั้งล่าสุดยังปกติดี หรือไม่มีอาการจากโรคประจำตัวกำเริบ ก็อาจเลื่อนนัดให้ยาวขึ้น เพื่อลดการไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรวางแผนการสำรองยาให้เพียงพอ และหาช่องทางการติดต่อแพทย์ประจำตัวเอาไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉิน 

หลีกเลี่ยงการพาผู้สูงอายุออกนอกบ้าน หรือพบปะผู้คน

ดูแลผู้สูงอายุช่วงโควิด-19

ในช่วงนี้ควรงดพาผู้สูงอายุออกนอกบ้าน และหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนให้ได้มากที่สุด แนะนำว่าไม่ควรให้คนแปลกหน้า เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ญาติที่เดินทางมาจากที่อื่นเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุ แนะนำให้เยี่ยมและพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงคนในครอบครัว และผู้ดูแลเองก็ควรรักษาระยะห่างจากผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน ทางที่ดีควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดเสมอเมื่อต้องเข้าใกล้ผู้สูงอายุ ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด แต่ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น พาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตามนัด หรือไปฉีดวัคซีน ตอนกลับถึงบ้านต้องดูแลให้ผู้สูงอายุล้างมือ อาบน้ำสระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย และอย่าลืมทำความสะอาดของใช้ติดตัวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ทันที 

อ่านเพิ่มเติม : UPDATE คำแนะนำ ก่อนฉีด-หลังฉีด วัคซีนโควิด-19 ปฏิบัติตัวอย่างไร?

สังเกตอาการผู้สูงอายุอยู่เสมอ

ข้อสุดท้าย แต่จำเป็นมากที่สุด คือคนในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุ ทั้งอาการจากโรคประจำตัว และอาการที่น่าสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อโควิด-19 เช่น อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศา มีอาการร้อนๆ หนาวๆ ไอ อ่อนเพลีย หมดแรง หายใจเร็ว และเบื่ออาหาร ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือใช้ชุดตรวจ Antigen test ตรวจหาเชื้อในเบื้องต้นทันที เพื่อเข้ารับการรักษาให้ได้ไวที่สุด นอกจากนั้น อุปกรณ์ที่ควรมีติดเอาไว้เพื่อสังเกตอาการ คือ เทอร์โมมิเตอร์ หรือปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว อาจมีเครื่องวัดความดันติดเอาไว้ด้วย 

อ่านเพิ่มเติม

ในช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนอาจจะเหนื่อยมากขึ้น ทั้งจากหน้าที่การงาน และการต้องดูแลตัวเอง แต่ก็ไม่อยากให้ปล่อยปละละเลย หรือทอดทิ้งผู้สูงอายุในบ้าน เพราะความหวังเดียวของเขาก็คือลูกหลานอย่างเราๆ นี้เอง ออฟฟิศเมทเป็นกำลังใจให้นะคะ

หากต้องการหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ หรือเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เข้ามาช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยที่ OfficeMate พร้อมบริการส่งฟรีที่สะอาดและปลอดภัย เมื่อช้อปครบ 499 บาท แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน!

ขอบคุณข้อมูลจาก