ความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แม้จะรู้ว่าเครียดแล้วไม่ดีต่อร่างกาย แต่ใครจะห้ามไม่ให้ตัวเองเครียดได้จริงมั้ยคะ? ด้วยภาระต่างๆ ที่ต้องแบกรับ ทั้งหน้าที่การงาน การเงิน ครอบครัว เพื่อน แฟน และอีกหลายปัจจัยในชีวิตประจำวันต่างก็ส่งผลให้เกิดความเครียดได้ไม่ยาก ซึ่งผลกระทบหนึ่งของความเครียดที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน คือ อาการเครียดลงกระเพาะ วันนี้ OfficeMate จะพามนุษย์วัยทำงานทุกคน ไปทำความรู้จักกับโรคนี้กัน เผื่อจะได้เตรียมรับมือและหาทางป้องกันได้ทันเวลา!! 

อ่านเพิ่มเติม พกความเครียดกลับบ้าน อันตรายที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง!

เครียดลงกระเพาะ คืออะไร?

เครียดลงกระเพาะ เป็นอาการรูปแบบหนึ่งของโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารที่มีสาเหตุมาจากความเครียดล้วนๆ

เมื่อเราเกิดความเครียดมากๆ จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน เส้นเลือดบีบตัวมากขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อถึงขั้นนี้ร่างกายจะสั่งให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ ซึ่งน้ำย่อยเหล่านี้เองที่ไปกัดกระเพาะ จนเนื้อเยื่อบริเวณกระเพาะอาหารอักเสบ เกิดเป็นอาการปวดท้อง นอกจากนั้น ความเครียดยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารหลายอย่าง เช่น

  • ระบบย่อยอาหารหลั่งกรดที่จำเป็นต่อการย่อยออกมาน้อยลง ทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย
  • ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ส่งผลให้หลอดอาหารบีบตัวมากขึ้น ทำให้เกิดกรดไหลย้อน
  • ความเครียดสามารถส่งผลไปถึงลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสีย    
  • เมื่อกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้ไม่ดี หรือหยุดชะงักไป ก็อาจทำให้กรดในกระเพาะเพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นอาการปวดแสบปวดร้อน และคลื่นไส้
  • สำหรับคนที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคลำไส้อักเสบ ความเครียดยังกระตุ้นให้อาการกำเริบได้

หลักๆ แล้ว ความเครียดนั้นส่งผลให้การทำงานของระบบย่อยอาหารแย่ลง เมื่อกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้ทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดเป็นอาการปั่นป่วนที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย 

เช็กอาการเครียดลงกระเพาะ

เครียดลงกระเพาะ

อาการที่เกิดจากโรคเครียดลงกระเพาะของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการเหล่านี้

  • มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ เกิดได้ตอนท้องว่าง หรือหลังกินข้าวเสร็จ
  • จุกเสียดที่หน้าอก 
  • มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน
  • ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย  
  • มีแก็สในกระเพาะมาก เรอบ่อย และเรอเหม็นเปรี้ยว 
  • บางคนอาจมีอาการนอนไม่หลับ เพราะความเครียดไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนเร่งปฏิกิริยาการเผาผลาญอาหาร ซึ่งจะทำให้หิว อยากอาหาร และนอนหลับไม่สนิท

สำหรับคนที่มีอาการรุนแรง อาจจะอาเจียนเป็นเลือด หรือขับถ่ายเป็นเลือด หากถึงขั้นนี้แสดงว่ามีแผลในกระเพาะอาหาร แนะนำให้รีบไปพบแพทย์   

วิธีรักษาและป้องกันอาการเครียดลงกระเพาะ

สำหรับการรักษาหากมีอาหารเครียดลงกระเพาะ คือการทานยาตามอาการ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะ ยาลดอาการบีบเกร็งในช่องท้อง หรือยาเคลือบกระเพาะ จะช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ แต่ถ้าอยากหายขาด นอกจากทานยาแล้ว แนะนำให้ปรับพฤติกรรม หันมาใส่ใจดูแลตัวเอง และอาหารการกินให้มากขึ้น

ปรับพฤติกรรมการกิน เพื่อดูแลกระเพาะอาหาร  

พยายามกินข้าวให้ตรงเวลา และกินให้ครบ 3 มื้อ หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด ของทอด ของมัน ของดอง อาหารที่น้ำตาลและไขมันสูง รวมไปถึงน้ำอัดลม ชา และกาแฟ แนะนำให้ทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ อย่างนมเปรี้ยว ยาคูลท์ หรือโยเกิร์ต จะมีจุลินทรีย์ที่ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในร่างกาย ทำให้ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น

เปลี่ยนวิธีการคลายเครียด

เมื่อเกิดความเครียด แต่ละคนก็จะมีแนวทางการแก้เครียดในแบบฉบับของตัวเอง แต่แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการคลายเครียดด้วยบุหรี่ หรือแอลกอฮอล์ ใครเครียดมากๆ ลองเอาพละกำลังไปลงที่การออกกำลังกาย อาจเลือกเป็นการเล่นกีฬาที่ชอบ เช่น ต่อยมวย เต้นแอโรบิค เวทเทรนนิ่ง หรือวิ่ง นอกจากสุขภาพแข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายยังส่งผลให้ร่างกายกระตุ้นการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลาย และช่วยลดความเครียดได้

อ่านเพิ่มเติม อยู่บ้าน ก็เบิร์นได้! ด้วย HIIT Workout เทคนิคช่วยสลายไขมันใน 30 นาที

เครียดลงกระเพาะ

นอกจากนั้น งานวิจัยบอกยังบอกอีกว่าการฝึกสมาธิก็ช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินได้เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย หากฝึกสมาธิเป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้ผ่อนคลายหายเครียดแล้ว ยังช่วยให้สมองทำงานเป็นระบบ และอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ลองเริ่มจากการกำหนดลมหายใจเข้าออก นับ 1 และนับไปเรื่อยๆ วันละ 10-15 นาที ทุกเช้าหรือก่อนเข้านอน พยายามโฟกัสที่ลมหายใจ และปล่อยวางเรื่องอื่นๆ ในหัวที่ผุดขึ้นมา ตอนแรกอาจจะยาก แต่ถ้าฝึกบ่อยๆ จะช่วยให้เราสมาธิดี และรู้สึกแจ่มใสขึ้นได้  

จัดตารางการทำงานในแต่ละวัน

หน้าที่การงานถือเป็นบ่อเกิดหลักแห่งความเครียด ก่อนเริ่มทำงานในแต่ละวัน แนะนำให้จัดตารางว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง และลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อนหลัง จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวม กำหนดเวลางานแต่ละชิ้นได้เหมาะสม ทั้งยังสะสางงานตามลิสต์ได้ครบถ้วน แต่ถ้างานที่ต้องรับผิดชอบมีมากเกินไป หรือรู้สึกว่าควบคุมไม่ไหว ควรขอความช่วยเหลือ หรือพูดคุยหาทางแก้ปัญหากับหัวหน้างานโดยตรง ดีกว่ามานั่งเครียดอยู่คนเดียวนะคะ 

สุดท้ายนี้ ถ้าจะบอกว่าไม่ให้เครียดก็คงยาก เอาเป็นว่าถ้ารู้สึกเครียดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็อย่าปล่อยไว้ หาสาเหตุของความเครียดแล้วแก้ให้ตรงจุด หรือออกไปทำอย่างอื่นให้ผ่อนคลายและสบายใจขึ้นก่อน แล้วค่อยกลับมาแก้ปัญหากันใหม่ แต่ถ้าไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ด้วยตัวเอง ก็แนะนำให้ลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางออกก็ได้เช่นกันค่ะ

ความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายอย่าง และเป็นบ่อเกิดของโรคอีกหลายโรค ดังนั้น ในช่วงนี้อะไรที่ทำแล้วมีความสุขก็ขอให้ทำต่อไป เป็นรางวัลให้ตัวเองที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งวีค ถ้าใครไม่รู้จะทำอะไรก็มาออกกำลังกาย กระตุ้นสารแห่งความสุข ได้ทั้งสุขภาพ ได้ทั้งความผ่อนคลาย ช้อปอุปกรณ์ออกกำลังกายไปเปิดยิมส่วนตัวที่บ้านได้เลยที่ OfficeMate

อ่านเพิ่มเติม 8 ไอเทมสำหรับออกกำลังกายที่บ้าน ฉบับมือใหม่ ฟิตได้ไม่ต้องง้อยิม!

ขอบคุณข้อมูลจาก