นม เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ ดื่มได้ทุกเพศทุกวัย มีสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะแคลเซียมที่มีส่วนช่วยบำรุงกระดูก ทั้งยังมีโปรตีนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง การดื่มนมยังช่วยลดกรดในกระเพาะและช่วยคลายเครียดได้ แม้นมจะมีประโยชน์มากมาย ถึงขั้นมีวลีที่ว่า ‘รักใครให้ดื่มนม’ แต่บางคนดื่มนมแล้วดันมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับนมวัว ซึ่งอาการผิดปกติหลังจากดื่มนมวัวนั้น มี 2 ประเภท คือ อาการแพ้นมวัว และ ภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง

อาการแพ้นมวัว คืออะไร?

อาการแพ้นมวัว ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กตั้งแต่วัยทารกและจะหายได้เองเมื่อโตขึ้น เป็นอาการแพ้โปรตีนที่อยู่ในนม แต่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘แพ้นมวัว’ เมื่อเด็กดื่มนมวัวเข้าไป ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน โดยอาการจะเริ่มแสดงให้เห็นภายใน 1-3 ชั่วโมงหลังจากดื่มนม หรือบางคนอาจนานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ 

สังเกตอาการแพ้นมวัว

อาการแพ้นมวัวแสดงออกได้หลายรูปแบบ ได้แก่

  1. อาการทางผิวหนัง : ผื่นคัน ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ บวมแดง
  2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ : น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีเสมหะ คัดจมูก หายใจมีเสียงหวีด หอบ
  3. อาการทางระบบทางเดินอาหาร : ปากบวม อาเจียน ท้องเสีย มีมูกเลือดปะปนมากับอุจจาระ ในเด็กเล็กอาจมีอาการโคลิค (ร้องไห้ตอนกลางคืน) 

ป้องกันอาการแพ้นมวัว 

อาการแพ้นมวัวสามารถหายได้เองและจะหายขาดเมื่อเด็กโตขึ้น โดยเด็กที่มีอาการแพ้นมวัวร้อยละ 81-95 นั้น หายเองเมื่ออายุครบ 5 ปี 

เด็กทารกเพิ่งคลอดควรดื่มนมแม่เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย นมแม่ช่วยป้องกันการแพ้อาหารในเด็กได้เมื่อเติบโตขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันการรับโปรตีนแปลกปลอมจากนมผสมอื่นๆ สำหรับคุณแม่ให้นมลูกที่มีอาการแพ้นมวัวนั้น ยังคงสามารถให้นมต่อไปได้ แต่ให้คุณแม่งดดื่มนมวัวและอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ แล้วทานอาหารที่มีแคลเซียมหรือโปรตีนอื่นๆ ทดแทน ส่วนเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงหรือนมผสมอื่นๆ ให้เลือกนมที่ไม่มีโปรตีนจากสัตว์ เช่น นมที่ใช้โปรตีนจากถั่วเหลือง หรือนมสูตรเฉพาะสำหรับเด็กแพ้นมวัว เป็นต้น 

ภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง คืออะไร?

อาการแพ้นมวัว

สำหรับผู้ใหญ่ที่คิดว่าตัวเองมีอาการแพ้นมวัว คือ ดื่มนมแล้วท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง หรือท้องเสีย อาการเหล่านี้ไม่ถึงขั้นกับแพ้นมวัว แต่เราเรียกว่าภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง

ภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) เป็นอาการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลกโทสได้เป็นปกติ สาเหตุมาจากเยื่อบุผนังลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์แลกเทสน้อยลง เรียกได้อีกชื่อว่า ภาวะขาดเอนไซม์แลกเทส (เอนไซม์แลกเทสเป็นตัวย่อยน้ำตาลแลกโทส) เมื่อย่อยไม่หมด แลกโทสที่เหลืออยู่จึงทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น 

อาการผิดปกติจากภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง     

น้ำตาลแลกโทสนั้นพบมากในนมวัว และผลิตภัณฑ์ Diary ทั้งหลายที่ผลิตมาจากนมวัว เช่น ขนมปัง ชีส เบเกอรี่ต่างๆ หากคุณทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น อาจแปลได้ว่าคุณมีภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง อาการผิดปกติที่พบได้บ่อย เช่น

  • ท้องอืด แน่นท้อง 
  • มีเสียงท้องร้องเพราะลำไส้บีบตัวผิดปกติ
  • ผายลมบ่อย มีเสียงลมกุกกักอยู่ในท้อง
  • ปวดบริเวณท้องน้อยหรือบริเวณสะดือ
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวและมีฟองอากาศปะปน

ความรุนแรงของอาการผิดปกตินั้นแตกต่างกันออกไป บางคนอาจทานนมได้เป็นปกติแต่แค่รู้สึกท้องอืดหรือผายลมบ่อย แต่บางคนอาจถึงขึ้นท้องเสีย คลื่นไส้และอาเจียนออกมา หากเป็นเช่นนั้น ก็แนะนำให้หยุดดื่มนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว หันไปรับแคลเซียมและโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ ทดแทน  

นมสำหรับเด็กแพ้นมวัวหรือคนที่มีภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง 

สำหรับเด็กแพ้นมวัวและคนที่มีภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง แนะนำให้ดื่มนมที่ทำจากโปรตีนอื่นๆ ทดแทน เช่น 

นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์
  • นมถั่วเหลือง ผลิตมาจากถั่วเหลือง อุดมไปด้วยโปรตีน (จากถั่วเหลือง) วิตามินเอ วิตามินบี12 วิตามินดี โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ให้สารอาหารใกล้เคียงกับนมวัวที่สุด ทั้งยังดื่มง่าย รสชาติดี อยู่ท้อง หาซื้อง่าย และราคาถูก ใครอยากดื่มแบบร้อนๆ อาจดื่มเป็นน้ำเต้าหู้แทนได้ 
  • นมอัลมอนด์ ปลอดน้ำตาลแลกโทสแลแคลอรีต่ำ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ อุดมไปด้วยวิตามินอีและไขมันดีจากอัลมอนด์ แต่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เพราะนมอัลมอนด์ให้สารอาหารน้อยกว่านมถั่วเหลืองและนมวัว 
  • น้ำนมข้าว เป็นนมทางเลือกสำหรับคนที่มีภาวะย่อยแลกโทสบกพร่อง แพ้กลูเตน รวมไปถึงแพ้ถั่ว แต่แนะนำให้เลือกน้ำนมข้าวที่มีการเสริมโปรตีนและแคลเซียม เพราะน้ำนมข้าวแบบเพียวๆ แม้จะมีวิตามินแต่กลับมีสารอาหารน้อยและค่อนข้างดื่มยาก  
  • นมเปรี้ยว เป็นนมที่มีการเติมแบคทีเรีย หมักต่อจนได้เป็นจุลินทรีย์ มีประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายและลำไส้ น้ำตาลในนมถูกทำให้เป็นกรด คนที่มีภาวะย่อยแลกโทสบกพร่องจึงสามารถดื่มนมเปรี้ยวได้สบายๆ 

**นอกจากหันมาดื่มนมทางเลือกแล้ว ควรเสริมโปรตีนและแคลเซียมจากอาหารประเภทอื่นๆ ให้มากขึ้น เช่น โปรตีนจากอกไก่ เต้าหู้ หรือแคลเซียมจากปลาตัวเล็ก เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคกระดูกพรุนเมื่อแก่ตัวลง  

อ่านบทความเพิ่มเติม : ประโยชน์ของ ‘โปรตีน’ กับชาวออฟฟิศ ช่วยลดน้ำหนัก แถมแก้ง่วงระหว่างวัน

สำหรับคนที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติหลังจากดื่มนม ก็แนะนำให้ดื่มนมต่อไป อย่างน้อยวันละ 1 แก้ว/กล่อง เพราะนมมีคุณประโยชน์และสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการมากมาย และเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากนมแบบเต็มร้อย อาจทำตามวิธีเหล่านี้ 

เคล็ดลับการดื่มนมให้ได้ประโยชน์เต็มร้อย!

ดื่มนม
  1. อย่าดื่มนมตอนท้องว่าง เพราะในกระเพาะอาหารจะไม่มีกรดช่วยย่อยแคลเซียม ควรดื่มนมหลังมื้ออาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง 
  2. ค่อยๆ จิบนมทีละนิด อย่าดื่มรวดเดียวหมด เพื่อให้เอนไซม์ในลำไส้ค่อยๆ ทำงาน จะรู้สึกสบายท้องขึ้น 
  3. ไม่ควรดื่มนมระหว่างมื้ออาหาร เพราะกรดในกระเพาะที่ร่างกายหลั่งออกมาเพื่อย่อยอาหาร จะถูกนมที่มีค่า pH (ค่าความเป็นกรด-ด่าง) ต่ำกว่า ทำให้ความเป็นกรดลดลง ส่งผลให้ร่างกายย่อยอาหารและดูดซึมแคลเซียมจากนมได้ไม่เต็มที่ 
  4. ดื่มนมตามช่วงเวลาที่เหมาะสม 
    • 05:00-07:00 ช่วงเช้าเป็นช่วงที่ลำไส้ใหญ่เริ่มทำงาน ให้ดื่มนมเปรี้ยวที่มีจุลินทรีย์ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
    • 07:00-09:00 หลังทานมื้อเช้า อาจเสริมด้วยนมพาสเจอร์ไรส์หรือนมมอลต์ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร 
    • 09:00-12:00 ดื่มนมผสมโยเกิร์ต หรือทานโยเกิร์ต จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลให้ความจำดีขึ้น
    • 12:00-15:00 หลังอาหารกลางวัน ลองดื่มนมเปรี้ยวซัก 1 ขวด จะช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ให้ย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น
    • 15:00-17:00 ช่วงเวลานี้กระเพาะปัสสาวะจะเริ่มทำงาน แนะนำให้ดื่มนมเปรี้ยว เพื่อกระตุ้นการขับของเสียออกจากร่างกาย
    • 17:00-21:00 ใครไม่รู้จะทานอะไรเป็นมื้อเย็น แนะนำให้ดื่มนม จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและอยู่ท้อง
    • 21:00-23:00 นอนไม่หลับหรือเกิดหิวกลางดึก ดื่มนมอุ่นๆ จะช่วยให้นอนหลับสบายและหลับง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นช่วงที่ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีที่สุดอีกด้วย     

“รักใครให้ดื่มนม” แต่เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมเลือกนมที่เหมาะสมให้กับคนที่เรารักด้วยนะคะ หากดื่มนมวัวไม่ได้ ก็ดื่มนมจากพืชทดแทน แล้วเสริมด้วยโปรตีนและแคลเซียมจากแหล่งอื่นๆ แต่สำหรับคนที่ไม่มีอาการแพ้หรือย่อยนมได้ยาก ก็แนะนำให้ดื่มนมวัววันละ 1 กล่อง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุนตอนแก่ตัวลง แล้วอย่าลืมเอาเคล็ดลับการดื่มนมที่เราแนะนำไปลองทำตาม รับรองว่าจะช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากนมได้เต็มที่ยิ่งขึ้น!

ช้อปสารพัดนมคุณภาพดี ได้เลยที่ เว็บไซต์ OfficeMate ช้อปออนไลน์วันนี้ มีบริการส่งฟรีเมื่อช้อปครบ 499 บาท!

ขอบคุณข้อมูลจาก