กลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) เป็นตัวแปรสำคัญลำดับต้นๆ ที่คนทำธุรกิจและนักการตลาดไม่ควรมองข้าม เรียกว่าเป็นตัวตั้งต้นสำหรับใช้วางแผนธุรกิจในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ จะใช้ช่องทางไหนให้กลุ่มเป้าหมายของเรารับรู้ข่าวสารของแบรนด์ได้? หรือจะสื่อสารอย่างไรให้ดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด? ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคในแต่ละเจนเนอเรชั่นนั้นมีความแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องความสนใจ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต พฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียล ช่องทางการติดตามข่าวสาร และอื่นๆ ดังนั้น ก่อนจะวางแผนทำธุรกิจให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค เราไปทำความเข้าใจผู้บริโภคในแต่ละเจนเนอเรชั่นกัน!

ผู้บริโภคกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) 

ผู้บริโภคกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) กลุ่มคนที่เกิดในปี พ.ศ. 2489 – 2507 ช่วงอายุจะอยู่ที่ 57-75 ปี เรียกว่าเป็นผู้บริโภควัยเกษียณ มีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ และส่วนใหญ่หันมาเข้าสู่วงการดิจิทัลกันแบบเต็มตัว 

ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเบบี้บูมเมอร์

กลุ่มเบบี้บูมเมอร์กลายเป็นฐานลูกค้าหลักของตลาดสมาร์ทโฟนและไอแพด เนื่องด้วยเวลาว่างที่เยอะพอสมควร จึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่อเดือนมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแอปพลิเคชั่นเกมส์ ดังนั้น หากต้องการลงทุนเพื่อประชาสัมพันธ์หรือสร้าง Awareness ให้แบรนด์หรือธุรกิจ การโฆษณาบนแอปฯ เกมส์ เป็นหนึ่งช่องทางที่จะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ได้

กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหญิงวัย 50 ปี ขึ้นไป ใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นพื้นที่รวมกลุ่มเพื่อนและสร้างสังคมเฉพาะกลุ่มขึ้นมา เพื่อใช้เป็นช่องทางสำหรับติดต่อสื่อสาร ผลสำรวจจาก MediaPost ยังพบว่า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ให้ความสนใจและเชื่อคำโฆษณาที่พบเจอบนเฟซบุ๊กมากกว่าเจนเนอเรชั่นอื่นๆ ถึงร้อยละ 19 

การบริการที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้สนใจ ได้แก่ความบันเทิงในรูปแบบของซีรีย์ และภาพยนตร์ นอกจากนั้น ตลาดสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตในกลุ่มลูกค้าเบบี้บูมเมอร์ คือ อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ เช่น นาฬิกาตรวจจับการเต้นของหัวใจ นาฬิกาสำหรับออกกำลังกาย เครื่องนับก้าว และเครื่องตรวจวัดสุขภาพอื่นๆ    

ผู้บริโภคกลุ่ม Gen X 

ผู้บริโภค Gen X เป็นกลุ่มคนที่เกิดในปี พ.ศ. 2508 – 2523 ช่วงอายุจะอยู่ที่ 41-56 ปี พบว่าเป็นวัยที่ให้ความสำคัญในเรื่องของงานอดิเรก การทำกิจกรรมนอกบ้าน และความสวยความงาม

ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม Gen X

จากรายงานของ WGSN พบว่า กลุ่ม Gen X กว่าร้อยละ 49 มักใช้เวลาอยู่กับตัวเอง โดยมองหางานอดิเรกแปลกใหม่ หรือทำสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบในเวลาว่าง นอกจากนั้น ยังชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกบ้าน ด้วยเหตุผลว่าเบื่อหน่ายโลกโซเชียล 

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสำหรับหนุ่มใหญ่ Gen X คือการทำอาหาร ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะยอมลงทุนกับอุปกรณ์ราคาสูง เพื่อให้ได้เครื่องครัวเครื่องใช้ที่ดีที่สุด ส่วนหญิงสาว Gen X ความสนใจจะไปอยู่ที่เรื่องของความสวยความงาม โดยเฉพาะความงามที่ดูอ่อนกว่าวัย มักมีการทดลองใช้สกินแคร์ใหม่ๆ รวมไปถึงการทำตามเคล็ดลับคงความอ่อนเยาว์ที่เจอจากเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ต หญิงสาว Gen X จะสะดุดตา และถูกดึงดูดกับการโปรโมตสินค้าเพื่อความงามผ่านทีวีอินสตาแกรมได้มากกว่าสินค้าที่โฆษณาบนยูทูป หรือเฟซบุ๊ก เพราะการโฆษณาบนทีวีอินสตาแกรมมักมาในรูปแบบของ Diary Routine หรือมีการทดลองใช้ให้เห็น ซึ่งดูเป็นการโปรโมตที่ผ่านการใช้จริงมากกว่า

สำหรับพฤติกรรมการช้อปปิ้ง กลุ่มคน Gen X นิยมช้อปปิ้งกับร้านค้าใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หรือที่ที่นัดรับได้สะดวก สินค้าที่เป็นที่ต้องการของคนกลุ่มนี้ คือ สินค้าสำหรับใช้ในครัวเรือน เครื่องครัว ของใช้ในบ้าน โดยคำนึงจากความประหยัด คุ้มค่า สินค้าลดราคา รวมไปถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         

ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y (Millennial) 

ผู้บริโภค Gen Y เป็นกลุ่มคนที่เกิดในปี พ.ศ. 2524 – 2539 ช่วงอายุจะอยู่ที่ 25-40 ปี ถือเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นช่วงวัยที่มีความเหงา และค่อนข้างเครียดจากภาระหน้าที่ต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการพักผ่อน สุขภาวะ และกิจกรรมที่สามารถสร้างสมดุลให้กับชีวิตได้

ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y (Millennial)

กลุ่ม Gen Y ให้ความสำคัญกับ Work Life Balance องค์กรที่กฎระเบียบยืดหยุ่น หรือมีมุมพักผ่อนระหว่างวัน จะดึงดูดชาว Gen Y ได้มากกว่าองค์กรอื่นๆ  

ชาว Gen Y นิยมมองหากิจกรรมเพื่อพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ จากสถิติพบว่า ชาว Gen Y กว่าร้อยละ 77 ชื่นชอบการไปคาเฟ่ นั่งร้านกาแฟ หรือท่องเที่ยวเพื่อโชว์ไลฟ์สไตล์ลงสื่อโซเชียลทุกๆ สัปดาห์ นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่พักผ่อน ยอมลงทุนกับบ้าน คอนโด หรือห้องพัก เพื่อสร้างเซฟโซนให้ตัวเอง ทั้งยังชื่นชอบการตกแต่งบ้านสไตล์มินิมอล ที่เรียบง่ายและดูสงบมากกว่าไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา 

ธุรกิจประเภท D2C (Direct to Consumer) เป็นสไตล์ธุรกิจที่ดึงดูดชาว Gen Y ได้มากที่สุด คน Gen Y นิยมเข้าหาและซื้อสินค้าจากแบรนด์โดยตรง ซึ่งสินค้าและบริการที่เป็นที่สนใจของชาว Gen Y คือสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์เรื่องสุขภาวะ (Wellness) การสร้างอารมณ์ในเชิงบวก และสามารถสร้างสมดุลให้ชีวิตและหน้าที่การงานได้ (Work Life Balance) เช่น คอร์สออกกำลังกาย อาหารคลีน ละครเวที ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต คาเฟ่สัตว์เลี้ยง ฯลฯ เพื่อปรับสมดุลให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายความเครียดจากหน้าที่การงาน 

ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z 

ผู้บริโภค Gen Z เป็นกลุ่มคนที่เกิดในปี พ.ศ. 2540 – 2552 ช่วงอายุ 12-24 ปี เป็นเจนเนอเรชั่นที่เต็มไปด้วยความกังวล ความไม่แน่ใจ และความรู้สึกไม่ปลอดภัย เด็กๆ Gen Z จึงโหยหาพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะพื้นที่ในโลกออนไลน์ สำหรับสร้างคอมมูนิตี้แชร์เรื่องราว และแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน

ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z

นอกจากนั้น ยังชื่นชอบความรู้สึก Nostalgia หรือการได้ย้อนกลับไปในช่วงเวลาเก่าๆ เพื่อหลีกหนีความจริงในยุคปัจจุบัน สินค้าแบบอนาล็อก เช่น แผ่นเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง เทปคาสเซ็ต กล้องฟิล์ม จึงกลับมาได้รับความนิยมในผู้บริโภคกลุ่มนี้อีกครั้ง

ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย เรียกว่าเป็นช่วงวัยที่ใช้เวลาอยู่กับสื่อโซเชียลมากที่สุด โดยชาว Gen Z กว่าร้อยละ 33 ใช้เวลาออนไลน์มากกว่า 6 ชั่วโมง ต่อวัน ส่วนใหญ่จะใช้ Instagram เพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์และตัวตน นิยมใช้ Facebook กับ Twitter ในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง และส่วนมากจะคลายเครียดด้วย TikTok ทั้งยังเก่งเรื่องการเข้าถึงข้อมูล การค้นหา การเปรียบเทียบ หากต้องการทำการตลาดกับชาว Gen Z แบรนด์ก็ควรนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้วยความจริงใจ ไม่หมกเม็ด  

เนื่องจากเป็นวัยที่เผชิญกับภาวะวิกฤตหลายๆ อย่างมาตลอดช่วงอายุ เด็ก Gen Z จึงให้ความสนใจกับประเด็นต่างๆ ทางสังคมมาก ทั้งยังให้ความสำคัญเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ และคาดหวังเรื่องการแสดงออกของแบรนด์ที่มีต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม เช่น การใส่ใจสิ่งแวดล้อม การไม่เบียดเบียนใคร อย่างแคมเปญ Save Ralph ที่รณรงค์งดทดลองเครื่องสำอางค์กับสัตว์ เด็กกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะหันไปอุดหนุนสกินแคร์แบบ Cruelty Free มากกว่า และจากผลสำรวจก็พบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยอมจ่ายมากขึ้น 10% หากแบรนด์นั้นตระหนักและมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาทางสังคม 

นอกจากกลุ่มผู้บริโภคทั้ง 4 กลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการขายสินค้าและบริการแล้ว ยังมีผู้บริโภคกลุ่ม Alpha ซึ่งช่วงอายุน้อยกว่า 11 ปี เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ทั้งยังถูกเลี้ยงดูด้วยทัศนคติและการปฏิบัติที่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าพอสมควร ว่ากันว่า พ่อแม่ของเด็กในรุ่น Alpha มีเวลาและมีเงินมากกว่า จึงพยายามสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูกๆ เด็กสมัยใหม่นี้จึงเติบโตมาด้วยมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น มีความคิดความอ่านใกล้เคียงผู้ใหญ่ มีการวางกรอบคุณค่า สามารถตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้เอง ธุรกิจที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายวัย Alpha ในอนาคต จึงควรมีการทำความเข้าใจเรื่องทัศนคติทางสังคม เช่น ค่านิยมเรื่องเพศ ความคิดความอ่าน แนวโน้มเรื่องอาชีพ และอื่นๆ เพื่อเอาไปปรับใช้กับแบรนด์ในอนาคต 

ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม Alpha

การเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละช่วงวัย จะช่วยให้คนทำธุรกิจอย่างเราๆ กำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยเรื่องการใช้ภาษาสื่อสาร การเลือกช่องทางประชาสัมพันธ์ การออกแบบโฆษณา และอื่นๆ อีกมากมาย รับรองว่าข้อมูลเหล่านี้ รู้ไว้ แล้วเอาไปปรับใช้ ได้เปรียบกว่าเจ้าอื่นๆ แน่นอน!

เต็มอาหารสมองกันแล้ว อย่าลืมของในสต็อก! ช้อปไอเทมเพื่อธุรกิจ ร้านอาหาร คาเฟ่ ขายของออนไลน์ คลินิก และโรงงาน ได้เลยที่ OfficeMate ช้อปออนไลน์สบายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการส่งฟรี เมื่อช้อปครบ 499 บาท คลิกเลย!

ขอบคุณข้อมูลจาก
tcdc
marketingoops