ในยุค Thailand 4.0 แบบนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในยุคปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะเพื่อการทำงานหรือการพักผ่อน ซึ่งการใช้มือถือ แท๊บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆติดต่อกันนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสายตาและประสิทธิภาพของการมองเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะที่ต้องใช้สายตาเพ่งมองไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ  อย่างพนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ HR หรือกลุ่มผู้ทำงานกราฟฟิคดีไซน์ ทำให้คนกลุ่มนี้มักจะมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว และบ่อยครั้งที่จะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งาน ซึ่งการจ้องหน้าจอนานๆ ติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) ได้สูง

Computer Vision Syndrome (CVS) คืออะไร?

Computer Vision Syndrome คือ กลุ่มของอาการทางตาและการมองเห็น ที่มีผลมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ปวดตา แสบตา ตามัว และการมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งาน เพราะเวลาที่เรานั่งทำงานต่างๆ โดยคอมพิวเตอร์นั้น ดวงตาของเราจะถูกใช้งานแตกต่างจากการอ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ไม่ว่าจะเป็นระยะการมองหรือมุมที่ต้องก้มขณะที่อ่าน รวมทั้งความเข้มหรือความสว่างของหน้าจอซึ่งอาจถูกปรับตั้งไว้อย่างไม่เหมาะสมในขณะใช้งาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องใช้สายตามากกว่าปกติในขณะที่ใช้คอมพิวเตอร์และส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าจากการใช้งานดังกล่าวเป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นโรค CVS ได้ในที่สุด

Computer Vision Syndrome (CVS)

สาเหตุของโรค Computer Vision Syndrome

Computer Vision Syndrome เกิดมาจากพฤติกรรมการมองจอคอมพิวเตอร์ที่ใกล้เกินกว่าครึ่งฟุต หรือประมาณ 6 นิ้ว เป็นเวลานานๆ ทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาทำงานหนักขึ้น เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อตาตึงเครียด ล้าหรือบางรายมีอากรตาแห้ง แสบตา มองภาพได้ไม่ชัดเจน และโดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะตามมาอีกด้วย นอกจากระยะการมองจอภาพแล้ว แสงสว่างหรือแสงสะท้อนจากหน้าจอก็มีผลต่อการเกิดความผิดปกติทางสายตา การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานนั้นจะทำให้สุขภาพดวงตาเสื่อมโทรม เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบดวงตาเกร็งตัว เมื่อมองแสงสีของภาพจากหน้าจอที่มีสีฉูดฉาด เคลื่อนที่เร็ว จะทำให้ประสาทตาเกิดการอ่อนล้า  รู้สึกปวดรอบดวงตา ปวดศีรษะ และตาแห้ง ซึ่งหากปล่อยไว้ นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของดวงตาลดลงแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพดวงตาในระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุของโรค Computer Vision Syndrome ในกรณีที่มีภาวะสายตาสั้น เอียง หรือยาวอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำการแก้ไข การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ มีผลทำให้ค่าสายตานั้นๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรค Computer Vision Syndrome มากที่สุด?

พนักงานออฟฟิศทั่วไป นักเขียน คนทำงานด้านกราฟฟิค หรืออาชีพอื่นๆ ที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เนื่องจากหลายครั้ง ภาพที่เรามองเห็นบนจอคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสมกับสายตา แสงน้อยไปหรือมากเกินไป และบางครั้งภาพมีความคมชัดน้อย ส่งผลให้เกิดอาการ Computer Vision Syndrome โดยอาการของโรค เริ่มจากปวดรอบดวงตา ปวดศีรษะ แสบตา ตาเริ่มพร่ามัว ตาแห้ง บางครั้งมีน้ำตาไหล มองเห็นภาพไม่ชัด ภาพซ้อน หรือบางท่านอาจมีอาการปวดบริเวณบ่า ไหล่ ร่วมด้วย ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการอาจจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้สายตาอยู่กับหน้าจอ อาการเหล่านี้คือตัวบ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าสู่กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรค Computer Vision Syndrome แล้วล่ะค่ะ

โรค Computer Vision Syndrome ป้องกันได้ด้วย 4 วิธี

Computer Vision Syndrome (CVS)
  1. ระยะและมุมตำแหน่งคอมพิวเตอร์เป็นปัจจัยหลักๆ ในการเกิด Computer Vision Syndrome ดังนั้นเราควรจัดวางระยะห่างของหน้าจอกับสายตาให้อยู่ในระยะที่เหมาะสม โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นควรวางห่างจากสายตา 20-28 นิ้วโดยประมาณ และจัดให้จุดกึ่งกลางของหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 15-20 องศาโดยประมาณ
  2. การจัดแสง ทั้งแสงสว่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และแสงสว่างจากบริเวณที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป และไม่ควรจัดวางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้หันเข้าไปทางหน้าต่าง หรือหันหน้าจอไปทางแสงจนทำให้เกิดแสงตกกระทบที่หน้าจอคอมพิวเตอร์และสะท้อนเข้าตาผู้ใช้งาน ควรปรับตั้งค่าความเข้มของหน้าจอคอมพิวเตอร์ แบบพอประมาณหรือ 75% หากในกรณีที่ไม่สามารถเลี่ยงในส่วนของแสงได้ แนะนำให้ใช้แผ่นจอกรองแสง เป็นตัวช่วยในการลดความจ้าของแสง และเพิ่มความคมชัดให้กับหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกด้วย
  3. เมื่อต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพักสายตาจากหน้าจออย่างน้อยทุกๆ 20 นาที โดยการทอดสายตาไปมองสิ่งรอบตัวที่อยู่ในระยะ 6 เมตร เพื่อเป็นการพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 20 วินาที แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ
  4. สำหรับพนักงานออฟฟิศที่มีภาวะสายสั้นผิดปกติอยู่แล้ว ควรใช้เลนส์ชนิดมัลติโค้ด เพื่อช่วยในการตัดแสง กรองแสงจากจอคอมพิวเตอร์ได้อีกแรง เพื่อเป็นการถนอมสายตาและความเสี่ยงการเกิดโรค Computer Vision Syndrome
  5. เลือกใช้จอคอมพิวเตอร์ที่มีเทคโนโลยี Eye Safe เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการปล่อยแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ทำให้ดวงตาของคุณปลอดภัยขึ้นอีกขั้น ทำงานได้นานขึ้น และสบายตามากกว่า

โรค Computer Vision Syndrome นั้นถือเป็นโรคที่ใกล้ตัวเรามากจนยากที่จะละเลยหรือไม่สนใจ เพราะในยุคปัจจุบันคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บแล็ตกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราต้องใช้ในทุกๆ วันไปแล้ว แต่เนื่องจากโรค CVS เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม จึงไม่สายที่จะแก้ไขนะคะ ดังนั้นควรเริ่มสังเกตตัวเอง และพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุของการเกิดโรค ใช้ชีวิตหน้าจอแต่พอดีและถูกวิธี ก็จะช่วยถนอมสายตาให้ไม่เสี่ยงกับโรค Computer Vision Syndrome หรือใครที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่ การหันมาดูแลตัวเอง ก็จะช่วยให้อาการที่เป็นอยู่น้อยลงและหายเป็นปกติได้ในที่สุด อย่าลืมนะคะว่า เรามีดวงตาเพียงแค่คู่เดียว หมั่นดูแลรักษาไว้ให้อยู่กับเราไปนานๆ รักงานแล้วก็ต้องรักตัวเองด้วยนะคะ

ช้อปจอคอมพิวเตอร์ Eye Safe ได้ที่ร้านค้า OfficeMate

บทความแนะนำ!

ขอบคุณข้อมูลจาก : World Medical Hospital/ PhytovyOnline/ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล