บอนสีขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชินีแห่งไม้ใบ’ ด้วยลวดลายของใบที่มีสีสันแต่งแต้ม ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของบอนสีที่หาไม่ได้จากบรรดาไม้ประดับชนิดอื่นๆ  และความยูนีคนี้เองที่ทำให้หลายคนพยายามตามหาบอนสีลวดลายแปลกๆ สีสันใหม่ๆ มาครอบครอง จนทำให้บอนสีกลายมาเป็นไม้ประดับบ้านยอดฮิต ทั้งยังมีการแข่งขันประกวดบอนสีกันอีกด้วย

สำหรับใครที่อยากลองปลูกบอนสีเอาไว้ประดับบ้านดูบ้าง วันนี้ OfficeMate รวมเรื่องต่างๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับบอนสีเอาไว้แล้ว รับรองว่าเหมาะสำหรับมือใหม่หัดเล่นบอนสีแน่นอน ไปดูกันค่ะ

ทำความรู้จักกับ ‘บอนสี’ 

บอนสี เป็นพืชในตระกูล Caladium มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศในแถบเขตร้อน เช่น อเมริกาใต้ อินเดีย และอินโดนีเซีย ว่ากันว่าบอนสีเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในอดีตเรียกกันว่า ‘บอนฝรั่ง’ 

ลักษณะทั่วไปของบอนสี คือ เป็นไม้ประดับล้มลุก มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินคล้ายมันฝรั่ง อวบน้ำ ใบแตกเป็นกอ มีหลายขนาด และหลายรูปแบบ ใบบอนสีแต่ละแบบจะมีสีสันและลวดลายแตกต่างกันออกไป บอนสีเป็นพืชที่ชอบความชื้น และแสงแดดแบบรำไร เติบโตได้ดีในอุณหภูมิประมาณ 21-35 องศาเซลเซียส    

บอนสี มีกี่ประเภท?

บอนสีมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น บอนสีอิเหนา บอนสีฮกหลง บอนสีทับทิมบูรพา ฯลฯ แต่ละสายพันธุ์สามารถแบ่งตามรูปแบบของ ‘ใบ’ ได้เป็น 5 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  • บอนสีใบไทย มีใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ก้านใบกลม เช่น สายพันธุ์เทพทรงศีล ภูพิงค์ พลายชุมพล  
บอนสีใบไทย
บอนสีใบไทย
  • บอนสีใบยาว มีใบเป็นรูปหัวใจคล้ายกับบอนสีใบไทย แต่ปลายใบเรียวและแหลมกว่า หูใบยาวฉีกถึงก้านใบ เช่น สายพันธุ์ดอนเจดีย์ เทพธิดา เจ้าหญิง
บอนสีใบยาว
บอนสีใบยาว
  • บอนสีใบกลม ใบมีลักษณะค่อนข้างกลม ปลายใบมน หรือมนแล้วมีติ่งแหลม เช่น สายพันธุ์รัตนาธิเบศร์ เมืองอุบล
บอนสีใบกลม
บอนสีใบกลม
  • บอนสีใบกาบ ใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบเป็นกาบ มีรยางค์ที่เรียกว่าแข้ง เช่น สายพันธุ์รัชมงคล ฤาษีมงคล เทพพิทักษ์
บอนสีใบกาบ
บอนสีใบกาบ
  • บอนสีใบไผ่ ใบมีลักษณะคล้ายหอก หรือใบไผ่ ยาว และเรียวแหลม เช่น สายพันธุ์ไผ่สยาม หยกมณี
บอนสีใบไผ่
บอนสีใบไผ่

นอกจากแบ่งตามประเภทใบแล้ว ยังสามารถจำแนกบอนสีออกได้ตามสีสันบนใบบอน ได้แก่

  • บอนไม่กัดสี คือบอนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสีของใบ ว่าง่ายๆ คือใบอ่อนสีไหน ใบโตเต็มวัยก็จะมีสีเดียวกัน หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น สายพันธุ์นายจันหนวดเขี้ยว หรือบอนสีตับวีรชน
  • บอนกัดสี คือบอนที่มีการเปลี่ยนแปลงสีสันบนใบ สีสันของใบจะเปลี่ยนเมื่อบอนโตเต็มวัย เช่น ใบอ่อนมีสีเขียว เมื่อโตเต็มที่ใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือชมพู หรือมีจุดสีแต้มอยู่ที่ใบ 
  • บอนป้าย คือบอนที่มีแถบสีแดงพาดอยู่บนพื้นใบสีเขียว เช่น สายพันธุ์อัปสรสวรรค์ 
  • บอนด่าง คือบอนที่มีด่างสีขาวอมเขียว ด่างสีขาวอมแดง หรือด่างเหลือง อยู่บนพื้นใบสีเขียว 

การปลูกบอนสี

การปลูกบอนสีนิยมปลูกในกระถาง โดยเฉพาะในกระถางดินเผา เพราะสามารถควบคุมความชื้นในดินได้ง่ายกว่าการปลูกลงดิน สำหรับการปลูกต้องกลบดินให้มิดบริเวณหัวบอน หรือฝังหัวบอนลงดินให้ลึกราวๆ 3 เซนติเมตร หากต้องการให้บอนสีแตกพุ่มออกมาสวยๆ อาจหาไม้ค้ำใบบอนเอาไว้ และหมั่นเช็ดใบบอนให้สะอาด จะช่วยให้ใบมีสีสดใสอยู่ตลอดเวลา  

ดินสำหรับปลูกบอนสี ควรเป็นดินที่อุ้มน้ำได้ แต่ก็ต้องร่วนซุยพอมีช่องว่างให้อากาศระบายได้ เพื่อเติมออกซิเจนในดิน ช่วยไม่ให้รากและหัวบอนสีเน่า เช่น ดินผสมกากมะพร้าว

การรดน้ำ ควรรดให้ชุ่มวันละครั้งตอนเช้า ไม่ควรรดที่โคนต้นโดยตรง เพราะอาจทำให้โคนหักได้ กระถางควรมีจานรองเพื่อกักน้ำเอาไว้ไม่ให้แห้ง เนื่องจากบอนเป็นไม้ที่ชอบความชื้น และต้องการน้ำมากพอสมควร

ปลูกบอนสี

แสงแดดต้องไม่จัด เพราะอาจทำให้ใบเหี่ยวไหม้ แต่ก็ต้องไม่อ่อนจนเกินไป เพราะจะทำให้ใบของบอนสีซีดและไม่สดใส ควรตั้งวางบอนสีเอาไว้ในที่ที่มีแสงแดดรำไร เพื่อให้สีสันของใบบอนเข้ม สดใส และออกลวดลายที่สวยงาม

ความชื้นมีผลต่อการเติบโตของบอนสี ซึ่งจะเติบโตได้ดีในหน้าฝนที่มีความชื้นในอากาศสูง บอนสีมักพักตัวในฤดูหนาว คือ ใบจะเหี่ยวแห้งจนหลุดออกจากต้น ไม่มีการแตกใบใหม่ เหลือแต่หัวที่อยู่ใต้ดิน ดังนั้นในหน้าหนาว ควรเก็บบอนสีเอาไว้ในตู้ หรือโรงเรือน เพื่อคงความชื้นในอากาศเอาไว้ ต้นบอนสีก็จะสวยงามอยู่ได้ตลอดทั้งปี 

เลี้ยงบอนสีเอาไว้ในบ้าน ดูแลยังไงดี?

สำหรับใครที่ต้องการปลูกต้นบอนสีเอาไว้ประดับมุมห้องภายในบ้าน ควรดูแลบอนสี ดังนี้

ปลูกบอนสีในบ้าน
  • วางกระถางบอนสีเอาไว้ในตำแหน่งที่มีแสงแดดส่องถึงค่อนข้างมาก 
  • ไม่ควรปลูกต้นบอนสีในห้องมีเปิดแอร์เย็นเกินไป เพราะบอนสีจะพักตัว และทิ้งใบจนหมด
  • หมุนกระถางบอนสีเป็นประจำเพื่อไม่ให้ต้นเอนเข้าหาแสง
  • เอาบอนสีออกไปรับลมและแสงแดดข้างนอกทุกสัปดาห์ 

ในกรณีที่บอนสีพักตัวและทิ้งใบจนหมด ควรงดรดน้ำ และนำกระถางไปวางไว้ในที่แดดส่องถึงมากขึ้น หรือในที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าในบ้าน รอจนบอนสีแตกใบใหม่ แล้วค่อยเริ่มต้นการดูแลตามสเต็ปอีกครั้ง

หากต้องการขยายพันธุ์บอนสี วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การแยกหน่อ รอจนบอนสีเติบโตและแตกหน่อใหม่ออกจากโคนของต้นแม่ ก็สามารถขุดหน่อนั้นไปปลูกใหม่ได้

บอนสีก็คล้ายกับพืชทั่วๆ ไปที่ต้องการการดูแล หากดูแลดีใบของบอนสีก็จะสวยสดงดงามให้คนเลี้ยงได้ชื่นใจแน่นอน ว่าแล้วก็มาช้อปกระถางสวยๆ ไปปลูกต้นบอนสี เพิ่มมุมสีเขียวภายในบ้านกันดีกว่าค่ะ คลิกเลย OfficeMate 

ขอบคุณข้อมูลจาก
baanlaesuan
kaset.today