หลายคนคงรู้ดีว่าอาหารอร่อยๆ ช่วยเยียวยาจิตใจ และคลายเครียดได้จริง แต่สำหรับบางคนการกินนั้นเป็นปัญหาทำให้เครียด และรู้สึกโกรธตัวเองทุกครั้งหลังกินเสร็จ ซึ่งอาการนี้ไม่ใช่การกลัวอ้วน แต่เป็นพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เรียกว่า Binge Eating Disorder หรือโรคกินไม่หยุด 

โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) คืออะไร? 

โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) เป็นความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน ผู้ป่วยจะกินอาหารเยอะกว่าปกติ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กินแม้แต่ในตอนที่ไม่หิว และจะรู้สึกเครียด มีความโกรธเกลียดตัวเองหลังจากกินอาหารเสร็จ ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่หากไม่รีบเข้ารับการรักษา จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้

อาการของโรคกินไม่หยุด

โรคกินไม่หยุดมีอาการต่างจากการกินเก่ง หรือชอบกิน สังเกตได้จากพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ รวมถึงสภาวะทางด้านอารมณ์ ดังนี้ 

อาการโรคกินไม่หยุด

พฤติกรรมการกิน

  • กินอาหารมากกว่าปกติ กินแม้ในตอนที่ไม่รู้สึกหิว
  • ควบคุมการกินของตัวเองไม่ได้ แม้จะอิ่มแล้วก็ยังกินต่อ
  • กินอาหารปริมาณมากหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว 
  • ชอบเก็บ หรือซ่อนอาหารเอาไว้ในสถานที่แปลกๆ
  • มักปฏิเสธการกินอาหารร่วมกับคนอื่นๆ
  • เลือกการกินแทนที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ 

พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติเหล่านี้ มักเกิดขึ้น 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่สำหรับบางคนที่มีอาการรุนแรง พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติอาจเกิดขึ้นมากถึง 14 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือในบางคนที่มีอาการเพียงสัปดาห์ละครั้ง แต่เป็นติดต่อกันนาน 3 เดือน ก็เข้าข่ายเป็นโรคกินไม่หยุดได้เช่นกัน      

สภาวะทางด้านอารมณ์

นอกจากพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ยังพบว่าผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดมีสภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกโกรธ เกลียดตัวเองที่กินเยอะ รู้สึกผิดและละอายใจหลังกินอาหาร ชอบโทษตัวเอง มีความรู้สึกไม่ชอบตัวเอง และมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง  

สาเหตุของโรคกินไม่หยุด 

โรคกินไม่หยุดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่เกิดได้กับคนในทุกช่วงอายุ สาเหตุหลักๆ ที่ส่งผลให้เป็นโรคกินไม่หยุด 

สาเหตุโรคกินไม่หยุด
  • เคยเสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการดูแลรูปร่าง และเคยล้มเหลวจากการลดน้ำหนัก
  • ผ่านเหตุการณ์เศร้า สะเทือนใจ และหันมาใช้การกินเพื่อคลายความเศร้า
  • มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด ไบโพลาร์ หรือ PTSD 
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder)
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคกินไม่หยุดส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว คือ โรคอ้วน
  • เลปติน หรือเกรลิน ฮอร์โมนที่ทำให้หิว หลั่งมากผิดปกติ ทำให้อยากอาหาร (สาเหตุที่ฮอร์โมนหลั่งออกมามาก อาจเกิดจากความเครียด ความเศร้า และความรู้สึกด้านลบอื่นๆ) 

ผลกระทบและอาการที่ตามมาหลังเป็นโรคกินไม่หยุด

ผลกระทบหลักๆ ที่เกิดจากโรคกินไม่หยุด คือ ปัญหาทางสุขภาพร่างกาย การกินเยอะจนร่างกายได้รับสารอาหาร และปริมาณอาหารที่มากเกินไป สามารถส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิต กรดไหลย้อน ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ รวมไปถึงโรคมะเร็งจากการกินแบบไม่เลือก เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน ในผู้หญิงยังอาจส่งผลไปถึงประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งจะมีผลกับการตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน 

นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพร่างกาย โรคกินไม่หยุดยังส่งผลด้านอารมณ์ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยจะรู้สึกแปลกแยก ชอบเก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม เพราะกังวลเรื่องกินเยอะ หรือกังวลในรูปร่างหน้าตา ไม่มั่นใจในตัวเอง ส่งผลไปถึงเรื่องบุคลิกภาพ ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และอาจลุกลามกลายเป็นอาการซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคไบโพลาร์ได้  

วิธีรักษาโรคกินไม่หยุด

การรักษาโรคกินไม่หยุด แพทย์จะรักษาตามอาการหรือตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค มีทั้งการใช้ยาเพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง หรือยาต้านเศร้า ทำจิตบำบัดเพื่อควบคุมอารมณ์ด้านลบของผู้ป่วย รวมถึงการรักษาด้วยวิธีการลดน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต ออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ นอนหลับให้เพียงพอ และจดบันทึกสภาพจิตใจ รวมถึงอาหารที่กินแต่ละมื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้สังเกต และเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองในทางที่ดีขึ้น 

ป้องกันโรคกินไม่หยุด

ป้องกันโรคกินไม่หยุด

ถ้าดูจากสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคแล้ว โรคกินไม่หยุดค่อนข้างที่จะป้องกันยาก แต่เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ดังนี้

  • กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ มีชีทเดย์ได้บ้างอาทิตย์ละ 1-2 มื้อ 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานได้ปกติ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • หากเครียดหรือเศร้า แนะนำให้ลองหากิจกรรมอื่นๆ ทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูซีรีย์ หรือทำงานอดิเรกอื่นๆ อย่าเพิ่งจัดการกับความเครียดด้วยการกิน 

ใครที่มีอาการกินแล้วเครียด แต่ยิ่งเครียดก็ยิ่งกิน กินจนอิ่มแต่ก็ยังกินไม่หยุด เป็นแบบนี้ซ้ำๆ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยจะได้รักษาได้ทัน ไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อร่างกาย 

แต่สำหรับใครที่ชอบกินชาบูบุฟเฟต์แบบจัดหนักก็อย่างเพิ่งตกใจไป เพราะอย่างที่บอกว่า โรคกินไม่หยุดกับการกินเยอะนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นอาการนี้ไม่ต้องพบแพทย์ แต่แนะนำให้กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกายบ้าง จะได้ไม่เป็นโรคอ้วน หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาทีหลังนะคะ ช้อปอุปกรณ์ออกกำลังกาย ไปกระตุ้นการเผาผลาญ เบิร์นไขมันที่บ้าน ได้เลยที่ OfficeMate ช้อปออนไลน์วันนี้ ส่งฟรีไม่ขั้นต่ำถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้เท่านั้น! 

ขอบคุณข้อมูลจาก pobpad / sanook