หลากหลายเหตุผลที่ทำให้คนหนึ่งคนคิดอยากลาออกจากงาน ถ้าคุณที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ เกิดมีความคิดนี้ขึ้นมาบ่อยๆ หรือตัดสินใจได้แล้วว่าอยากลาออก OfficeMate จะบอกว่าอย่าเพิ่งรีบร้อน ลาออกได้แต่ต้องใจเย็นๆ อย่าเพิ่งบุ่มบ่ามเดินไปบอกหัวหน้า ถามตัวเองให้ดี และควรจัดการวางแผนชีวิตตัวเองให้พร้อมก่อน เพื่อการลาออกที่สวยงาม มีความเป็นมืออาชีพ และไม่เคว้ง OfficeMate มีคำแนะนำดีๆ มาฝาก ไปดูกัน! 

7 อย่างต้องทำ ก่อนลาออกจากงาน

บอกล่วงหน้า เคลียร์งานที่ค้างไว้ให้เรียบร้อย

หลายบริษัทมีกฎว่าต้องบอกล่วงหน้าก่อนลาออก 1-2 เดือน แต่ถึงไม่มีกฎข้อนี้ ก็ควรแสดงความเป็นมืออาชีพ บอกล่วงหน้าอย่างน้อยซัก 1 เดือน ว่าคุณต้องการลาออก บอกทั้งหัวหน้า พาร์ทเนอร์ และลูกค้าที่เคยทำงานร่วมกัน บริษัทจะได้มีเวลาหาคนใหม่ มีเวลาสอนงานและส่งต่องานกันได้ ทั้งยังช่วยให้คุณมีเวลาสำหรับการเตรียมตัวลาออกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้น ก็ควรเคลียร์งานที่คั่งค้างเอาไว้ให้เสร็จเรียบร้อย จะได้ลาออกอย่างสบายใจ ไม่มีใครโทรมาทวงถามงานหรือหาไฟล์งานจากคุณอีก แล้วอย่าลืมลบไฟล์งาน ไฟล์ขยะ ล็อกเอาท์อีเมลและแอคเคาท์ต่างๆ ให้เรียบร้อย จะได้ไม่เป็นภาระคนที่มาใช้คอมพิวเตอร์ต่อนะคะ 

หางานใหม่ หรือหาอาชีพรองรับให้ได้ก่อนลาออก 

ถ้าไม่อยากรู้สึกเคว้งหลังลาออกจากงานประจำ แนะนำให้หางานใหม่ให้ได้ก่อนถึงวันลาออก หรือคนที่มีเป้าหมายอยากลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือไปเป็นฟรีแลนซ์ ก็ต้องแน่ใจว่าแผนและเป้าหมายนั้นมีความชัดเจน ไม่ใช่แผนที่วางเอาไว้ในใจหรือแค่คิดไว้ในหัวเท่านั้น   

อ่านบทความเพิ่มเติม : 6 ข้อต้องคิด ก่อนผันตัวจากมนุษย์ออฟฟิศมาเป็นฟรีแลนซ์

เตรียมเอกสารและใบลาออกให้พร้อม

หลังตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าอยากลาออก บอกหัวหน้าและบริษัทเรียบร้อย ก็ถึงเวลาจัดเตรียมเรื่องเอกสาร สิ่งที่ต้องทำอย่างเป็นทางการก็คือ ‘การยื่นใบลาออก’ ยื่นเพื่อขอลายเซ็นอนุมัติจากนายจ้างอย่างเป็นทางการ และใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าคุณลาออกแล้วจริงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เข้าใจผิด หรือเข้าข่ายขาดงานโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งอาจทำให้นายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ 

นอกจากนั้น ก่อนลาออกควรขอเอกสารอื่นๆ จาก HR เผื่อเอาไว้ด้วย เช่น ใบรับรองการผ่านงาน ใบรับรองเงินเดือน หรือเอกสารรับรองว่าคุณเคยทำงานที่องค์กรนี้ เผื่อเอาไว้ใช้ในการสมัครงานใหม่หรือเรียนต่อในอนาคต

ทยอยเก็บข้าวของ

กระบวนการนี้อาจไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ทำงานในบริษัทเดิมมานาน อาจจะมีข้าวของเยอะ ไม่ว่าจะเอกสาร ของตกแต่งโต๊ะ หมอน ผ้าห่ม ของใช้จุกจิกต่างๆ ควรเริ่มเคลียร์และทยอยเก็บเอากลับบ้านแต่เนิ่นๆ จัดการขยะให้เรียบร้อย วันสุดท้ายจะได้ไม่เหนื่อย และไม่เป็นภาระคนที่มาใช้โต๊ะต่อต้องตามเก็บหรือทำความสะอาดในภายหลัง  

จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับคนที่ทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทแล้วจะลาออกจากงาน อย่าลืมเช็กว่าที่ทำงานใหม่ของคุณมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ ถ้ามี คุณสามารถโอนกองทุนเลี้ยงชีพเอาไปออมต่อกับนายจ้างคนใหม่ได้ แต่ถ้ายังไม่เริ่มงานทันทีหรืออฟฟิศใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณต้องขอลาออกจากกองทุน ซึ่งจะได้รับเงินออมเต็มจำนวนบวกกับเงินสมทบจากบริษัท รวมถึงผลกำไรที่ได้จากการลงทุน 

อ่านบทความเพิ่มเติม : ตอบทุกข้อสงสัย ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ คืออะไร? สมัครแล้วใครได้ประโยชน์?  

ลงทะเบียนคนว่างงาน

สำหรับคนที่ลาออกแล้วและยังไม่มีงานใหม่รองรับหรือยังไม่รู้จะไปทำอะไรต่อ แนะนำให้เข้าไปลงทะเบียนเป็นคนว่างงานในเว็บไซต์กรมการจัดหางานหลังลาออกภายใน 30 วัน เพื่อรับเงินชดเชย โดยมีเงื่อนไข คือ คนที่สามารถลงทะเบียนรับเงินชดเชยได้ จะต้องเป็นคนที่จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ในช่วงระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน ซึ่งเงินชดเชยที่จะได้รับ ก็มาจากเงินประกันสังคมที่หักจากบัญชีเงินเดือนไปทุกๆ เดือนนั่นเอง

นอกจากนั้น ถ้าไม่อยากเสียสิทธิ์ประกันสังคม ให้ยื่นสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 39 คือ เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ จะได้รับการคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย, อุบัติเหตุ, คลอดลูก, ทุพพลภาพ, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ และเสียชีวิต  

วางแผนเรื่องเงินก่อนลาออก

เงินเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนลาออก OfficeMate แนะนำดังนี้

  1. มีเงินสำรอง

เงินสำรองควรมีเอาไว้ให้พอใช้อย่างน้อย 6-12 เดือน คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ และอาจมีเงินสำรองอีกส่วนเอาไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉิน 

  1. เคลียร์หนี้สินให้ได้มากที่สุด

หนี้สินที่มีอยู่ รีบเคลียร์ให้เรียบร้อยในตอนที่ยังได้เงินเดือน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต หากไม่สามารถจ่ายได้หมด ก็แนะนำให้เพิ่มเงินสำรองสำหรับทยอยจ่ายหนี้ในช่วงที่ยังว่างงาน

  1. สมัครบัตรเครดิต ทำธุรกรรมต่างๆ ให้เรียบร้อย

เมื่อลาออกแล้วยังไม่มีงานประจำที่ใหม่รองรับ สิ่งที่จะเสียไปก็ คือ ‘เครดิต’ ใครที่อยากสมัครบัตรเครดิต หรือมีธุรกรรมทางการเงินที่ต้องทำ แนะนำให้รีบสมัครและสะสางให้เรียบร้อยก่อนลาออก เพราะเมื่อลาออกแล้ว รายได้ประจำที่เคยมีหายไป ก็จะทำให้การทำธุรกรรมและการอนุมัติสมัครบัตรเครดิตยากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับธนาคาร หากคุณมีการเก็บออมเงินอย่างสม่ำเสมอ มีบัญชีที่มีเงินฝากเข้าทุกเดือนๆ ก็อาจไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ก็ได้ค่ะ

การลาออกเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ควรตัดสินใจให้ดีและวางแผนลาออกอย่างรอบคอบ จะได้ไม่รู้สึกเคว้งหรือเสียศูนย์ไปนะคะ 

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ www.officemate.co.th/blog/ หรือเข้ามาช้อปสินค้าหลากหลายรายการ พร้อมบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท คลิกเลยที่ OfficeMate

ขอบคุณข้อมูลจาก