ไข้เลือดออก โรคระบาดร้ายแรงที่วนมาคร่าชีวิตผู้คนเป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูฝน นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่า 10,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 คน (1 มกราคม – 5 พฤษภาคม 2563 ) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นเป็นเด็กในช่วงอายุ 10-14 ปี

สาเหตุของโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่มี ‘ยุงลาย’ เป็นพาหะนำเชื้อมาสู่คน เมื่อยุงลายดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่ในตัว ไวรัสนี้จะฟักตัวและเพิ่มจำนวนขึ้น จนเกิดเป็นโรคระบาดหนักเมื่อยุงลายเริ่มออกตระเวนดูดเลือดผู้คนต่อไปเป็นทอดๆ

ไข้เลือดออก เป็นแล้วเป็นซ้ำได้ แถมยังรุนแรงขึ้น!

เชื้อไวรัสเดงกี่ที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกนี้มีทั้งหมด 4 สายพันธ์ุ คือ DENV-1 ถึง DENV-4 ซึ่งในแต่ละปี เชื้อไวรัสทั้ง 4 สายพันธ์ุนี้จะมีจำนวนการระบาดแตกต่างกันไป สำหรับคนที่เคยติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ุใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านได้ตลอดชีวิต แต่หากวันใดดันไปติดเชื้อไวรัสอีกสายพันธ์ุหนึ่งเพิ่มมา อาการของโรคก็จะทวีความรุนแรงขึ้นมาก

หากเราเคยเป็นไข้เลือดออกจากไวรัส DENV-1 แล้วรักษาจนหาย เราจะไม่กลับไปเป็นโรคไข้เลือดออกจากไวรัส DENV-1 อีก แต่ถ้าอยู่ๆ มียุงลาย นำพา DENV-2 มาสู่เรา เราก็สามารถกลับไปเป็นโรคไข้เลือดออกอีกได้ ซึ่งอาการจะทรุดและรุนแรงขึ้นกว่าครั้งก่อน

ส่วนสาเหตุที่การติดเชื้อครั้งที่ 2 รุนแรงขึ้น นั่นเป็นเพราะว่า การรับเชื้อไวรัสเดงกี่มาในครั้งแรก ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสนั้น แต่ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้น ไม่ได้สร้างขึ้นแบบถาวร และสามารถต่อต้านได้เพียงเชื้อไวรัสสายพันธ์ุเดียวเท่านั้น หากเราได้รับเชื้ออีกเป็นครั้งที่สอง โดยสายพันธ์ุของไวรัสแตกต่างไปจากเดิม จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายสับสน ทำงานต่อต้านเชื้อไวรัสได้ไม่ดีพอ หรือในบางคนภูมิคุ้มกันกลับเปลี่ยนไปจับคู่กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ช่วยให้ไวรัสแข็งแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้ การติดเชื้อไวรัสเดงกี่ หรือการเป็นไข้เลือดออกซ้ำรอบที่ 2 จึงอันตรายมากกว่าในครั้งแรกนั่นเอง

โรคไข้เลือดออก

อาการของโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก แบ่งอาการได้เป็น 3 ระยะ คือ

โรคไข้เลือดออกระยะที่ 1

ในระยะที่ 1 เป็นระยะของสัญญาณเตือนภัย ว่ามีเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าสู่ร่างกาย อาการ คือ มีไข้สูงขึ้นฉับพลัน และสูงอยู่ตลอดเวลา ตัวแดง หน้าแดง ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ เบื่ออาหาร เซื่องซึม และอาเจียน ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสีย ที่สังเกตได้ชัด คือ มีผื่นแดงขึ้นตามลำตัว แขนขา และอาจมีจ้ำเขียว หรือจุดเลือดเกิดขึ้น หากใครมีอาการดังนี้ ให้สงสัยตัวเองไว้ก่อนว่าเป็นไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคไข้เลือดออกระยะที่ 2

ไข้เลือดออกระยะที่ 2 ถือเป็นระยะวิกฤต และอันตรายมากที่สุด มักเกิดในช่วงวันที่ 3-7 นับตั้งแต่ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากไข้ขึ้นสูงอยู่หลายวัน กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น ความดันเลือดต่ำ หากทรุดหนัก จะมีเลือดกำเดาไหล อาเจียน อุจจาระเป็นเลือด และมีเลือดออกตามร่างกาย ระยะทรุดนี้ จะกินเวลาราวๆ 24 – 48 ชั่วโมง หากสามารถรักษาและประคองอาการเอาไว้ได้ ผู้ป่วยก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่ถ้าทรุดหนัก และรักษาไม่ทันถ่วงที จะเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตในที่สุด

โรคไข้เลือดออกระยะที่ 3

ไข้เลือดออกระยะที่ 3 เรียกว่า ระยะฟื้นตัว หากผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นวิกฤตในระยะที่ 2 มาได้ ร่างกายของผู้ป่วยก็จะเริ่มฟื้นฟู ทานอาหารได้ กลับมาลุก-นั่งได้ ปัสสาวะได้เป็นปกติ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น จนหายเป็นปกติ

‘ยาลดไข้’ ทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออก อาการทรุดลงได้

การทานยาลดไข้เอง อาจทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออก อาการทรุดลงได้

ด้วยลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ซึ่งบางคนจะแยกไม่ออกว่าเป็นไข้เลือดออก หรือเป็นไข้หวัดธรรมดา จึงอาจซื้อยาลดไข้มาทานเอง หากเป็นยาลดไข้ในกลุ่ม ‘พาราเซตามอล’ นั้น สามารถใช้ได้ และไม่เป็นอันตราย แต่หากเป็นยาลดไข้ในกลุ่ม เอ็นเสด (NSAID : Non-Steroidal Anti-Inflammatory) จำพวก ‘แอสไพริน (Aspirin)’ หรือ ‘ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)’ นอกจากจะไม่ทำให้ไข้ลดแล้ว ยังทำให้อาการทรุดลง และมีเลือดออกมากขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งนี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คุณหมอมักจะแนะนำให้ทานยาพาราเซตามอลไปก่อน หากตรวจแล้วยังไม่พบอาการที่แสดงออกชัดเจนว่าเป็นไข้เลือดออกนั่นเองค่ะ

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

แม้ไข้เลือดออกจะเป็นอีกหนึ่งโรคที่ระบาดหนัก แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนที่ช่วยรักษา หรือฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้แบบ 100% ซึ่งการรักษาจะทำได้เพียงแค่รักษาตามอาการ และเฝ้าระวังในช่วงระยะวิกฤตอย่างใกล้ชิดเท่านั้น เพราะฉะนั้น การระวังตัว และหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองได้รับเชื้อเดงกี่มาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

  • ฉีดวัคซีน

ถึงจะไม่มีวัคซีนทำลายเชื้อไวรัส แต่ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การฉีดวัคซีนจึงอาจไม่ได้ผลสำหรับบางคน นอกจากนั้น วัคซีนยังเหมาะสำหรับคนที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน และฉีดเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ ทั้งยังไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ติดเชื้อ HIV หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

เพราะยุงลาย คือตัวการสำคัญที่นำเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาสู่คน การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสลงไปได้ การทำลายแหล่งเพาะพันธ์ุยุงลายแบบง่ายที่สุด คือ ลดพื้นที่ที่มีน้ำขังรอบๆ บริเวณบ้าน เช่น หากบริเวณบ้านมีโอ่ง หรืออ่างน้ำ ควรมีฝาปิดให้มิดชิด และอย่าปล่อยให้รอบๆ บ้านมีวัตถุที่น้ำสามารถขังอยู่ได้ เช่น ยางรถยนต์ เป็นต้น เพราะพื้นที่น้ำขังเพียงนิดเดียว ยุงลายก็สามารถไปวางไข่เพาะพันธุ์ได้แล้ว

  • ใช้โลชั่น หรือ ยาทากันยุง

โลชั่นกันยุง หรือ ยาทากันยุง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดความเสี่ยง หากต้องออกไปข้างนอก หรือถ้าพบว่าบริเวณบ้านมียุงลายชุม ก็ควรทายา หรือโลชั่นกันยุง เพื่อป้องกันยุงกัด เลือกแบบที่กลิ่นหอมระเหยของตะไคร้ หรือลาเวนเดอร์ นอกจากจะช่วยกันยุงได้แล้ว ยังทำให้ตัวหอมสดชื่นด้วยนะคะ

  • ติดมุ้งลวดที่ประตูและหน้าต่าง

อยู่ในบ้านก็สามารถโดนยุงกัดได้ ทางที่ดี บ้านควรมีประตูมุ้งลวด เป็นประตูด้านในอีก 1 ชั้น รวมถึงหน้าต่างก็ควรติดบานมุ้งลวดด้วยเช่นกัน ข้อดีของมุ้งลวด จะช่วยป้องกันยุง รวมถึงแมลงต่างๆ ไม่ให้เข้ามาในบ้านได้ ทั้งยังทำให้เราสามารถเปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศในบ้าน โดยไม่ต้องกังวล ช่วยให้อากาศในบ้านถ่ายเทได้สะดวกอีกด้วย

ติดมุ้งลวดที่ประตูและหน้าต่าง ช่วยป้องกันยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก

สำหรับบ้านใครที่มีมุ้งลวดอยู่แล้ว ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ อย่าลืมสำรวจมุ้งลวดในจุดต่างๆ ดูว่ามีส่วนที่ชำรุดหรือไม่ หากพบจุดที่มุ้งลวดชำรุดหรือฉีดขาด ควรรีบเปลี่ยนอันใหม่ หรือใช้เทปกาวซ่อมมุ้งลวด ปิดรอยที่ชำรุด ยุงลายจะได้ไม่เข้ามาในบ้านของเรานะคะ

นอกจากนั้น ควรหมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ ได้อีกขั้นหนึ่งนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

ไข้เลือดออก Dengue fever

ไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออก ภัยเงียบคร่าชีวิตคนนับร้อยภายในไม่กี่วัน

รู้จักกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

รู้จัก ‘ไข้เลือดออก’ กันอีกที

การป้องกัน ไข้เลือดออก