แบตเตอรี่หรือที่เรียกกันอย่างเคยชินว่า ถ่านไฟฉายเป็นแหล่งพลังงานขนาดเล็ก ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถใช้งานได้ มนุษย์เราเริ่มใช้ถ่านไฟฉายกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันนี้คงไม่มีใครไม่เคยใช้ถ่านไฟฉายแน่นอน

ถ่านไฟฉายแม้จะใช้งานง่ายและดูปลอดภัย แต่ก็เคยมีรายงานเหตุการณ์ถ่านไฟฉายระเบิดมาแล้วจากการใช้ถ่านไฟฉายผิดวิธี วันนี้ OfficeMate จึงรวบรวมพฤติกรรมการใช้ถ่านไฟฉายแบบผิดๆ ที่หลายๆ คนอาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อน มาลองเช็คกันดูนะคะ ว่าพฤติกรรมไหนที่ไม่ควรทำ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ถ่านไฟฉายครั้งต่อไป  

เก็บถ่านไฟฉายไว้ในตู้เย็น เพื่อยืดอายุการใช้งาน

เชื่อว่าหลายคนคงเจอปัญหาถ่านไฟฉายหมดเร็วหรือหมดก่อนที่จะนำมาใช้ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะถ่านไฟฉายมีการปลดปล่อยประจุอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะยังไม่ได้นำมาใช้งาน และอัตราการปลดปล่อยประจุจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อถ่านไฟฉายอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง จึงเป็นที่มาของการเก็บถ่านไฟฉายไว้ในตู้เย็น เพื่อลดอัตราการปลดปล่อยประจุและยืดอายุการใช้งานถ่านไฟฉายให้นานขึ้น ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดการปล่อยประจุได้จริง แต่สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเก็บถ่านไฟฉายไว้ในตู้เย็นคือหยดน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาการควบแน่น ความชื้นและหยดน้ำจะเข้าไปกัดกร่อนและทำลาย ทำให้ถ่านไฟฉายบวม นอกจากถ่านไฟฉายจะเสียหายแล้ว สารเคมีภายในที่รั่วไหลออกมายังอาจปนเปื้อนไปกับอาหารที่อยู่ในตู้เย็นได้อีกด้วย ทางที่ดีควรเก็บรักษาถ่านไฟฉายไว้ที่อุณหภูมิห้อง ในที่แห้ง ดีกว่าเก็บไว้ในที่ชื้นอย่างตู้เย็นหรือที่ที่อุณหภูมิสูงอย่างในรถยนต์

ใช้ถ่านไฟฉายเก่าและใหม่ร่วมกัน

ใช้ถ่านไฟฉายแบบถูกวิธี

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ต้องใช้ถ่านไฟฉายมากกว่า 1 ก้อน บางชนิดอาจใช้ถ่านถึง 4 ก้อน เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนถ่านเชื่อว่าคงมีคนเคยเปลี่ยนโดยใช้ถ่านไฟฉายอันใหม่แค่ 2 ก้อน อีก 2 ก่อนยังคงเป็นถ่านไฟฉายเก่า หรือซื้อถ่านไฟฉายคนละประเภทมาใช้รวมกันในเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องเดียว การเปลี่ยนถ่านลักษณะนี้ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานได้ก็จริง แต่การใช้ถ่านไฟฉายใหม่ร่วมกับถ่านไฟฉายเก่าหรือการใช้ถ่านไฟฉายคนละประเภท จะทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นๆ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและถ่านไฟฉายอันใหม่จะหมดเร็วกว่าปกติ และยังทำให้การจ่ายพลังงานของแบตเตอรี่ไม่เสถียรเกิดเป็นความร้อนที่อาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราเสียหายได้ 

เก็บถ่านไฟฉายรวมกับสิ่งของที่เป็นโลหะ

การเก็บถ่านไฟฉายที่ยังไม่ได้ใช้ต้องเช็กดูให้แน่ใจว่าภายในกล่องเก็บ ลิ้นชัก หรือภายในตู้นั้นไม่มีสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เช่น คลิปหนีบกระดาษ เหรียญ ที่ชาร์จมือถือ ฯลฯ อยู่ด้วย อุปกรณ์ที่เป็นโลหะเหล่านี้สามารถนำไฟฟ้าได้ เมื่อสัมผัสกับขั้วถ่านไฟฉายจะทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหล เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้งาน ถ่านไฟฉายเหล่านั้นก็เสื่อมประสิทธิภาพไปก่อนแล้ว และยังอาจทำให้เกิดความร้อนและไฟฟ้าลัดวงจรได้อีกด้วย 

ไม่ถอดถ่านไฟฉายออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลังใช้งาน

หลังจากใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว สิ่งที่ควรทำคือถอดถ่านไฟฉายออกจากอุปกรณ์เหล่านั้น เพราะปฏิกิริยาเคมีภายในถ่านไฟฉายนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้ว่าเราไม่ได้กำลังใช้อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นอยู่ และปฏิกิริยานั้นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนกระทั่งสารเคมีที่ใช้ทำปฏิกิริยาหมดลง ได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำ เมื่อถ่านไฟฉายถูกใช้งานเป็นระยะเวลานาน จึงเกิดกรณีถ่านไฟฉายเปียกเยิ้ม บวม จนเสื่อมสภาพ  ดังนั้นหากเราใส่ถ่านไฟฉายแช่ไว้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา น้ำที่เป็นสารอันตรายที่รั่วไหลออกมานี้จะสร้างความเสียหายให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของเราได้  

ทิ้งถ่านไฟฉายรวมกับขยะอื่นๆ

ใช้ถ่านไฟฉายแบบถูกวิธี

ถ่านไฟฉายมีส่วนประกอบของสารเคมีมากมาย เช่น สารตะกั่ว สารแมงกานีส สารแคดเมียม สารนิเกิล สารปรอท และกรดซัลฟิวริก เป็นต้น สารเคมีที่เป็นพิษเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ผ่านการหายใจและการซึมเข้าผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่สารพิษเหล่านี้จะปนเปื้อนในดินหรือแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งอุปโภคบริโภค และยังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศจากการแพร่กระจายของไอระเหยจากสารเคมีได้ ดังนั้นจึงไม่ควรทิ้งถ่านไฟฉายที่ไม่ใช้แล้วรวมกับขยะอื่นๆ ไม่ทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ และห้ามนำไปเผาโดยเด็ดขาด วิธีที่ง่ายที่สุดในการจัดการกับถ่านไฟฉายที่ไม่ใช่แล้ว คือ เก็บรวบรวมแล้วใส่รวมกันในถุงขยะโดยแยกออกมาจากขยะชนิดอื่น มัดปากถุงให้แน่นสนิท แล้วติดป้ายเตือนว่าเป็นขยะมีพิษ เพื่อแจ้งให้คนเก็บขยะทราบ

How to ใช้ถ่านไฟฉายให้ถูกวิธี

  • ควรเปลี่ยนถ่านพร้อมกันทุกก้อนในคราวเดียวกัน ไม่ปะปนกับถ่านเก่า
  • ปิดสวิตช์อุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน อย่าเปิดค้างไว้โดยไม่จำเป็น
  • ไม่ควรนำถ่านหลายชนิดหรือหลายยี่ห้อมาใช้ปะปนกัน
  • นำถ่านออกจากอุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน
  • ตรวจสอบวิธีการใส่ถ่านและขั้วถ่านให้ถูกต้องเสมอ
  • ไม่แกะชิ้นส่วนถ่านออกมาเล่นและไม่ควรวางถ่านไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง
  • หลีกเลี่ยงการทำให้ถ่านเกิดการช็อตกัน
  • ห้ามนำถ่านที่ชาร์จไฟไม่ได้มาชาร์จไฟใหม่ เพราะอาจเกิดอันตรายได้

หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว เพื่อนๆ ก็อย่าลืมสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง และระมัดระวังเวลาใช้ถ่านไฟฉายให้มากขึ้นนะคะ และที่สำคัญคือควรซื้อถ่านไฟฉายจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือยี่ห้อที่มีการรับรองความปลอดภัย ไม่ควรซื้อถ่านไฟฉายราคาถูก เพราะจะได้ถ่านไฟฉายที่ไม่มีคุณภาพและอาจเกิดอันตรายขณะใช้งาน 

ซื้อถ่านไฟฉายครั้งต่อไป เลือกช้อปกับ OfficeMate เพื่อถ่านไฟฉายที่ดีมีคุณภาพ คุ้มค่าคุ้มราคา ไม่ต้องรอจนถ่านหมด สามารถเข้ามาช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้เท่านั้น!

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา

0 CommentsClose Comments

Leave a comment