โรคซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วยทั้งทางใจและกาย ที่หากมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและคนรอบข้างแล้ว โรคนี้ก็อาจรุนแรงไม่แพ้โรคเรื้อรังอื่นๆ เลย โรคซึมเศร้า พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย เราอาจได้เจอผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่รอบๆ ตัว หรือแม้แต่ตัวเราเองก็อาจกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ดังนั้น เราลองมาทำความรู้จักกับ โรคซึมเศร้า และวิธีรับมือหากมีคนรอบตัวป่วยเป็นโรคนี้กันเถอะ

โรคซึมเศร้าคืออะไร?

โรคซึมเศร้า ( ภาษาอังกฤษ Depression ) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้มากที่สุด และพบในผู้ป่วยหลากหลายช่วงอายุ เป็นภาวะที่เกิดความรู้สึกเศร้าซึม หม่นหมอง ไม่มีความสุข หงุดหงิดหรือเบื่อหน่าย เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ จนอารมณ์ด้านลบส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร ไม่มีสมาธิ จนถึงขั้นส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง ผ่ายผอม น้ำหนักลด เป็นต้น

คนปกติมักรู้สึกเศร้าเสียใจเป็นธรรมดา เมื่อมีเรื่องราวมากระทบกระเทือนจิตใจ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อารมณ์โศกเศร้ามักจะรุนแรงและยาวนานกว่านั้น แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม

สาเหตุที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า

  • สารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล เช่น มีการหลั่งสารเซโรโทนิน (serotonin) น้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดอารมณ์เศร้าซึม วิตกกังวล นอนไม่หลับ กินไม่ลง เป็นต้น
  • เกิดจากพันธุกรรม เนื่องจากความผิดปกติทางระบบประสาทสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ผู้ที่มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
  • มีความเครียดสะสมหรือเกิดเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ เช่น มีการสูญเสีย เจ็บป่วยหนัก มีความกดดันทางสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดอารมณ์เชิงลบอย่างต่อเนื่องยาวนานได้
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด การทานยาบางชนิด

การป่วยโรคซึมเศร้าอาจเกิดจากปัจจัยมากกว่าหนึ่งอย่าง และถ้าไม่รักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงได้

อาการของโรคซึมเศร้า

คนเป็นโรคซึมเศร้าอาจมีอาการต่างๆ กันไป หากลองสังเกตตัวเองและคนรอบข้างแล้วพบว่ามีอาการตามนี้หลายๆ ข้อ ให้สงสัยเลยว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

  • รู้สึกเศร้าหมอง สิ้นหวัง หรือมีอารมณ์ในด้านลบเป็นเวลาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์
  • รู้สึกไม่มีความสุข ไม่สนุกสนาน ไม่ยินดียินร้าย แม้แต่กับเรื่องที่เคยชื่นชอบหรือทำให้รู้สึกยินดี เช่น อาหารที่ชอบทาน กิจกรรมที่ชอบทำ
  • พฤติกรรมการทานอาหารเปลี่ยนไป อาจเบื่ออาหารกินอะไรไม่ลง หรือกินเยอะกว่าปกติมากๆ จนน้ำหนักลดหรือขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • นอนไม่หลับเป็นเวลาหลายคืน หรือบางคนอาจนอนมากเกินไป อยากอยู่บนเตียงตลอดเวลา ไม่อยากลุกมาทำกิจกรรมอื่นๆ ตามปกติ
  • เครียด วิตกกังวลเกินเหตุ หงุดหงิดง่ายแม้กับเรื่องเล็กน้อย
  • รู้สึกไม่มีสมาธิ ไม่มีกะจิตกะใจอยากทำอะไร แม้แต่งานประจำของตัวเอง หรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบ
  • ไม่อยากพบปะผู้คน แม้แต่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง อยากหลีกหนีจากสังคม
  • อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป บางคนอาจเก็บตัวเงียบ ดูหนัง ดูซีรีย์ หรือเล่นเกมตลอดเวลา เพราะอยากหลบหนีออกจากโลกความเป็นจริง
  • รู้สึกว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่ อาจถึงขั้นอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

อาการดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า หากไม่แน่ใจ อาจลองทำ แบบทดสอบภาวะอารมณ์เศร้า (PHQ9) (คลิก) ซึ่งทดสอบได้ทางออนไลน์ หรือไปพบจิตแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยจะดีที่สุด

ใครที่เสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้า?

  • ผู้ที่เพิ่งผ่านเรื่องเศร้าหรือเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจมา เช่น สูญเสียบุคคลที่รัก อกหัก โดนไล่ออกจากงาน มีโอกาสที่จะรู้สึกโศกเศร้าอย่างยาวนานจนกระทบต่อการใช้ชีวิต
  • ผู้ป่วยโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ป่วยเป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บุคคลเหล่านี้อาจรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต และกลายเป็นความเจ็บป่วยทางใจด้วย นอกจากนี้ คนใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วยก็มีโอกาสเกิดความเครียดจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
  • ผู้ที่มีพันธุกรรมเป็นโรคซึมเศร้า
  • ผู้ติดสิ่งเสพติด เนื่องจากสิ่งเสพติดหลายชนิดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง
  • ผู้ที่มีบุคลิกชอบเก็บตัว หลีกหนีสังคม แต่ไม่ใช่ว่าคนเงียบๆ พูดน้อยทุกคนจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปซะหมด เพียงแต่การไม่ชอบพูดคุยปรึกษากับใครเมื่อมีปัญหาต่างๆ ก็อาจเกิดความกดดัน เก็บกด และมีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้าตามมาได้
  • ผู้มีความเครียดสะสม เช่น มีความกดดันจากครอบครัว สังคม ต้องแบกรับปัญหามากมายอย่างต่อเนื่อง
  • สตรีมีครรภ์ และสตรีหลังคลอดบุตร เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้อารมณ์และจิตใจไม่ปกติได้

หากคนรอบตัวเป็นโรคซึมเศร้า เราจะรับมืออย่างไร?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโรคซึมเศร้าเป็น “ความเจ็บป่วย” เช่นเดียวกับโรคทางกายอื่นๆ และต้องการการรักษา บางครั้งผู้ป่วยอาจรู้สึกเศร้าอย่างรุนแรงกับเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ เราต้องไม่ไปตัดสินว่าเขาอ่อนแอ หรือใจไม่สู้ แต่ให้มองอย่างเข้าใจว่าเป็นอาการทั่วไปของโรคนี้

  • งดเว้นคำพูดที่รุนแรงและกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น เจ้านายควรหลีกเลี่ยงการต่อว่าผู้ป่วยด้วยถ้อยคำรุนแรง เพื่อนร่วมงานควรเลี่ยงการพูดที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ ผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีประสิทธิภาพการทำงานที่แย่ลง เราควรพูดคุยถึงสาเหตุอย่างใจเย็นและเข้าใจ
  • ไม่ตั้งความคาดหวังหรือกดดันผู้ป่วย โดยเฉพาะในเรื่องหน้าที่การงาน เพราะจะทำให้เขารู้สึกกดดันและอาการจะยิ่งแย่ลง ควรผ่อนปรนบ้างเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายขึ้น
  • เป็นผู้ฟังและผู้ให้คำปรึกษาที่ดี คอยรับฟังและให้กำลังใจเมื่อเขามีเรื่องไม่สบายใจ และให้คำปรึกษาในเรื่องที่สำคัญด้วย เช่น หากผู้ป่วยบ่นว่าท้อแท้ อยากออกจากงาน เพราะผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีอารมณ์ ความคิด ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การตัดสินใจแย่ลงด้วย เพื่อนร่วมงานจึงควรชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย และช่วยโน้มน้าวผู้ป่วย
  • หากผู้ป่วยมาปรึกษาหรือเกริ่นว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว หรือเขามีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเอง เราควรพูดให้กำลังใจ และชี้ให้เขาเห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ เช่น พูดถึงสถานที่ที่เขาอยากไป สิ่งที่เขาอยากทำ ศิลปินดาราหรือคนที่เขาชื่นชอบ เพื่อให้เขาตระหนักถึงเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ หากตายไปตอนนี้อาจไม่มีโอกาสได้ทำ หรือได้ติดตามสิ่งเหล่านี้อีกแล้ว และทางที่ดีที่สุดคือแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษากับจิตแพทย์
  • ชวนทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น ออกกำลัง เพื่อฟื้นฟูทั้งจิตใจและร่างกายไปพร้อมกัน
  • อดทน เพราะผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ควรพยายามทำความเข้าใจและให้อภัยเท่าที่ทำได้
  • คำที่ไม่ควรพูด กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เช่น “คิดไปเอง” หรือ “ใครๆ ก็เคยผ่านเรื่องแบบนี้มาทั้งนั้น” หรือ “ลองมองในแง่ดีดูสิ” หรือ “มีคนที่แย่กว่าเราอีกตั้งเยอะ” หรือ “เธอทำให้ฉันเครียดไปด้วย” หรือ “หยุดคิดเรื่องที่ทำให้เครียดสิ” หรือคำพูดอื่นๆ ที่บั่นทอนกำลังใจ และเบลมผู้ป่วยซึมเศร้า

และนี่ก็เป็นเกร็คความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิธีรับมือหากเจอคนรอบตัวหรือคนในออฟฟิศเป็นโรคซึมเศร้าที่ออฟฟิศเมทนำฝากกันค่ะ หากมีคนอยากระบายหรือพูดคุย อย่าปฏิเสธที่จะรับฟัง โรคซึมเศร้าบรรเทาได้ด้วยความเข้าใจและรักษาอย่างถูกต้องนะคะ ด้วยรักและหวังดีจากออฟฟิศเมทค่ะ ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โทรสายด่วน 1323