หลายคนคงเคยผ่านช่วงเวลาเดินออกจากรั้วการศึกษาก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ช่วงแรกของการทำงานมีแต่ความตื่นเต้นกระตือรือร้น เต็มไปด้วยไฟและแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้พบปะผู้คนมากมาย และที่สำคัญตอนสิ้นเดือนก็จะได้รับเงินเป็นผลตอบแทน ทำให้มีความหวังที่จะก้าวหน้าเจริญเติบโตในสายอาชีพ เพื่อตำแหน่งหรือผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่เมื่อนานๆ ไปความตื่นเต้นกลับกลายเป็นความน่าเบื่อ เจอแต่สิ่งเดิมๆ ทั้งงาน ผู้ร่วมงาน แม้กระทั่งปัญหาเดิมๆ ที่วนมาให้แก้แล้วแก้อีก งานเยอะขึ้น ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ทำให้เกิดอาการเครียด กดดัน เหนื่อยหน่ายจนไม่อยากตื่นมาทำงาน ถ้ามีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น รู้มั๊ยว่าคุณกำลังเผชิญกับอาการทางจิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ภาวะหมดไฟ”

Burnout แปลตรงๆ ว่า หมดไฟ ดังนั้น Burnout Syndrome ก็คือ โรคภาวะหมดไฟ จะแสดงอาการหมดแรง หมดพลัง เหนื่อยหน่ายและหมดแรงบันดาลใจที่จะทำงาน หลายๆคนคิดว่าอาการนี้สามารถพบหรือเกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยเฉพาะกับพนักงานออฟฟิศที่วิถีชีวิตวนลูปเดิมๆ ใครๆก็เป็นเดี๋ยวก็หายไปเอง แต่ในความเป็นจริงมันเป็นภัยเงียบที่ร้ายกาจจนสามารถทำให้ชีวิตคุณพัง หรือนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างโรคซึมเศร้าได้เลยทีเดียว อาการภาวะหมดไฟเป็นยังไง เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างไร วันนี้ออฟฟิศเมทได้รวบรวมข้อมูลที่หน้าสนใจมาฝากกันค่ะ

อาการหมดไฟเป็นแบบไหน?

ถ้าอยากทราบว่าคุณกำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงานหรือไม่ ให้ลองสังเกตตัวเองว่ามีสัญญาณต่อไปนี้เกิดขึ้นแล้วรึยัง

Burnout Syndrome
  • มีอารมณ์เบื่อกับงานที่ทำ เหนื่อยหน่าย หมดแรง ท้อแท้ ไม่มีความสุขในการทำงาน
  • รู้สึกเครียด และกดดันอย่างมากจากการทำงาน อาจส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • รู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ อารมณ์แปรปรวน อารมณ์ร้ายมองทุกอย่างในแง่ลบ บางครั้งก็ร้องไห้ง่ายเจ้าน้ำตา จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานหรือคนในครอบครัวได้
  • แบ่งเวลาไม่ได้ ชีวิตวุ่นวาย ทำงานโดยไม่หยุดพัก วันหยุดก็เอางานกลับมาทำต่อที่บ้าน
  • คิดฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิในการทำงาน มักหลงๆลืมๆ ทำงานผิดพลาดอยู่เสมอ
  • ไม่อยากมาทำงาน ลุกจากเตียงยาก ลางานบ่อยๆ อาจถึงขั้นต้องการลาออกจากงาน
  • มีปัญหาเรื่องการนอน นอนไม่หลับ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียตลอดเวลา
  • ในกรณีที่อาการรุนแรงมากๆ อาจจะลุกลามจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า บางคนถึงขนาดคิดอยากฆ่าตัวตาย

สาเหตุของโรคภาวะหมดไฟ

สาเหตุหลักๆ ของโรคภาวะหมดไฟ มักจะเกิดจากความเครียดก่อนเป็นอย่างแรก หลายคนอาจจะคิดว่าความเครียดเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้จากสิ่งที่เกิดกับร่างกาย เช่น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ การเขย่าเท้าโดยไม่รู้ตัว หรือการกัดฟัน แต่หลายครั้งที่ความเครียดเกิดขึ้นกับคนทำงานโดยไม่รู้ตัว เป็นความเครียดสะสม เมื่อรู้สึกว่างานที่ทำไม่เป็นอย่างที่ต้องการ หรือมีปัญหาเกิดขึ้นในงาน เมื่อเป็นอย่างนี้บ่อยๆ เข้า จนลุกลามไปเป็นคนเบื่อหน่าย ไม่อยากทำงาน หมดแรงบันดาลใจ และสุดท้ายก็เกิดเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน

มาดูกันว่าความเครียดที่เป็นที่มาของอาการของโรคภาวะหมดไฟ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

Burnout Syndrome
  • ทำงานหนักเกินไป หรืองานเยอะจนคุณไม่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ในการทำงานรวมถึงเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวให้ลงตัวได้ ทำให้รู้สึกเหนื่อยเหมือนไม่มีเวลาพักผ่อน
  • ได้รับงานที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง ทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่ถนัด จนเกิดความท้อและเบื่อ จนต้องฝืนทำงานให้ผ่านๆ ไปในแต่ละวัน
  • ปริมาณงานมากเกินไป รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่มีไม่เหมาะสมกับงาน หรือมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้และปริมาณงาน
  • หน้าที่รับผิดชอบของงานไม่ชัดเจน เช่น ได้รับมอบหมายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่ทำบ่อยๆ
  • บรรยากาศในการทำงาน ตลอดจนไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน
  • ไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ไม่มีการปรับเพิ่มเงินเดือน ปรับขึ้นตำแหน่ง หรือไม่ได้รับโบนัส

วิธีรับมือกับภาวะหมดไฟด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน

1.แบ่งเวลาเพื่อสร้างสมดุลในชีวิต

สิ่งแรกที่สามารถทำให้คุณกลับมามีแรงบันดาลใจในการทำงานได้ คือ การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการรู้แบ่งเวลาให้ถูกต้อง ช่วงเวลางานก็ต้องทุ่มเทให้เต็มที่ แต่เมื่อถึงเวลาเลิกงานก็ต้องเป็นเวลาส่วนตัว โดยการพักผ่อนใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้าเราจัดสมดุลในชีวิตได้ความเครียดในชีวิตการทำงานก็จะลดลง

อ่านบทความเพิ่มเติม : เมื่อ Work ‘ไร้’ Balance ควรจัดการตัวเองอย่างไร?

2.ผ่อนคลายด้วยกฎ 50/10 

การผ่อนคลายในช่วงเวลาทำงานเป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้คุณไม่สูญเสียแรงบันดาลใจในการทำงานไป ใครที่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ลุกไปไหนเลย หมกมุ่นอยู่แต่งานที่ทำ ให้คุณเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้กฎ 50 นาทีที่ทำงาน ให้ลุกไปพักซัก 10 นาที แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ เพื่อเป็นการรีแลกซ์และรีเฟรชสมองให้พร้อมทำงานต่อไป

3.หยุดความเป็น Perfectionism ในตัวคุณ

สิ่งที่ปั่นทอนแรงบันดาลใจและกำลังใจในการทำงานมากที่สุด คือความสมบูรณ์แบบ หลายๆ คนเป็นประเภทที่มีคำว่า “ยังดีไม่พอ” อยู่ในหัวเสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้งานที่คุณทำตรงหน้ายากขึ้นไปอีก เป็นการลดความเชื่อมั่นใจตนเอง ดังนั้นให้นึกไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรที่จะเป๊ะได้ทุกสิ่งทุกอย่างดั่งที่ใจเราต้องการ ลองปล่อยวางเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบหนักหนากับงานลงบ้าง คุณก็จะสามารทำงานให้บรรลุได้

Burnout Syndrome

4.ปฏิเสธให้เป็น

สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นบ่อยกับเหล่าพนักงานใหม่ หรือแม้แต่หนักงานหน้าเก่าหลายคน ความไม่กล้าปฏิเสธก็ทำลายแรงบันดาลใจในการทำงานไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง การรู้จักปฏิเสธ ไม่ใช่การเป็นคนไม่ดี ไม่รู้จักช่วยเหลือ แต่เป็นการโฟกัสกับงานหลักที่ถืออยู่แล้วให้ทำออกมาได้ดี จำไว้ว่าคนเราไม่ต้องทำอะไรได้ไปซะทุกอย่าง บางงานที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ของคุณก็อาจจะต้องปฏิเสธที่จะทำบ้าง เว้นเสียว่าคุณมีเวลา และไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็พอจะช่วยๆ กันไปได้

5.วางงานลง แล้วหันไปสนใจเพื่อนรอบข้าง

เพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างถือเป็นบรรยากาศในที่ทำงานที่สำคัญ คุณควรใส่ใจคนรอบข้าง อย่าหมกมุ่นอยู่แต่กับงาน เช่น หาเวลาไปกินข้าว แฮงค์เอ้าท์ หรือทำกิจกรรมกับเพื่อนร่วมงานบ้าง สิ่งนี้จะทำให้บรรยากาศในที่ทำงานของคุณดีขึ้น และจะทำให้แรงบันดาลใจในการทำงานกลับมา

6.ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายสามารถช่วยได้ในหลายๆ เรื่อง นอกจากจะทำให้มีสุขภาพกายที่ดีแล้ว ยังช่วยในเรื่องสุขภาพใจด้วย เพราะในขณะที่ออกกำลังกายสารแห่งความสุขจะถูกปลดปล่อยออกมาช่วยบรรเทาความเครียดได้ดี และยังทำให้นอนหลับสบายอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติม : พิกัด 8 ช่องยูทูปสอนออกกำลังกาย ทำตามได้ที่บ้าน

7.ปรับทัศนคติ

ปรับทัศนคติให้คิดบวกและปล่อยวาง อีกหนึ่งกลยุทธ์ฟื้นฟูแรงบันดาลใจ เมื่อคุณรู้สึกหมดไฟมันจะทำให้คุณคิดลบ คิดแต่เรื่องแย่ๆ และทำให้รู้สึกแย่ตามไปด้วย วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดก็คือ การคิดบวกและปล่อยวาง ลองหาหนังสือสร้างแรงบันดาลใจอ่านซักเล่ม หรือหาแรงบันดาลใจด้วยคำพูดดีๆ จากคนที่ประสบความสำเร็จ เมื่อเราคิดดีและยอมวางปัญหาที่แบกไว้ลงบ้าง รับรองว่าจะมีสิ่งดีๆ ตามมาอย่างแน่นอน

8.ถามตัวเองให้แน่ใจ งานนี้ใช่จริงหรือเปล่า?

ไม่ไหวอย่าฝืน! ลองถามตัวเองให้แน่ใจว่าชอบและถนัดกับงานที่ทำอยู่หรือไม่ ถ้าคุณไม่ชอบหรือทำแล้วไม่มีความสุข รู้สึกเครียด กดดันมากเกินไป คุณอาจจะต้องยอมรับและลองเปลี่ยนงาน เพราะถ้าได้ทำในสิ่งที่รักหรือชอบ คุณจะมีแรงบันดาลใจในการทำงานนั้นๆ ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และผลงานก็จะออกมาดีตามที่ตัวคุณและคนรอบข้างคาดหวังได้

อ่านบทความเพิ่มเติม : 6 ข้อต้องคิด ก่อนผันตัวจากมนุษย์ออฟฟิศมาเป็นฟรีแลนซ์

จากข้อมูลข้างต้นลองสำรวจตัวเองดูนะคะว่าคุณหมดไฟแล้วหรือยัง ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้อย่ารอช้า รีบหาวิธี เติมไฟและปลุกแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างเร่งด่วน ลองนำวิธีที่แนะนำไปใช้ เพื่อจุดไฟในการทำงานของคุณให้ลุกโชติช่วงขึ้นมาอีกครั้ง รับรองว่าคุณจะทำงานด้วยความสุข สนุก และได้ผลงานดีๆออกมาแน่นอน

ช้อปอุปกรณ์สำนักงาน หรือ Gadget อื่นๆ สำหรับอำนวยความสะดวกให้งานออฟฟิศ ได้เลยที่เว็บไซต์ OfficeMate ช้อปวันนี้ มีบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท!

ข้อมูล: pobpad.com/ thaiticketmajor.com/