อยากรู้จักตัวเองมากขึ้นมั้ย? แบบทดสอบบุคลิกภาพทั้ง 4 ที่เรานำมาฝากในวันนี้ อาจจะทำให้คุณได้รู้จักตัวเองในมุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน ว่าแล้วก็ไปเริ่มทำแบบทดสอบกันเลย!

แบบทดสอบบุคลิกภาพ ’16 Personalities’

แบบทดสอบแรก เรียกว่า 16 Personalities หรือแบบวัดบุคลิกภาพ MBTI ถือเป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพยอดนิยม ที่มีมากกว่า 30 ภาษา และถูกใช้เพื่อทดสอบบุคลิกภาพมาแล้วกว่า 130 ล้านครั้ง!

แบบทดสอบใช้ทฤษฎีของ Myers-Briggs test ที่ต่อยอดมาจากทฤษฎี Psychological Traits ของ Carl Gustav Jung ซึ่งจะแบ่งบุคคลออกเป็น 4 มิติ ได้แก่

  1. เปิดเผย (Extroversion) – เก็บตัว (Introvert) 
  2. ใช้ประสาทสัมผัส (Sensing) – หยั่งรู้ (iNtuition)
  3. ใช้ความคิด (Thinking) – ใช้ความรู้สึก (Feeling)
  4. ตัดสิน (Judgement) – รับรู้ (Perception)

ผลการทดสอบจะได้ออกมาเป็นลักษณะบุคลิกภาพ 16 แบบ ที่ได้จากตัวอักษร 4 ตัว แรกของผู้คนในแต่ละมิติ แล้วอธิบายออกมาเป็นลักษณะนิสัยต่างๆ ที่แฝงอยู่ในตัวเรา แล้วแต่ว่าจะมีนิสัยในลักษณะไหนมากหรือน้อยนั่นเอง แบบทดสอบนี้ นอกจากจะทำให้รู้บุคลิกหรือนิสัยของตัวเองแล้ว ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการหาอาชีพที่เหมาะสม รวมไปถึงการเลือกคู่ครองในอนาคตได้อีกด้วย

แบบทดสอบบุคลิกภาพ ‘TestColor’

แบบทดสอบที่สอง มีคำถามเพียง 2 ข้อง่ายๆ คือ ‘ให้เลือกสีที่คุณชอบมากที่สุด’ และ ‘ให้เลือกสีที่คุณชอบน้อยที่สุด’ ผลจากการเลือกสีจะนำมาวิเคราะห์บุคลิกภาพของเรา ว่าเป็นคนเปิดเผยหรือชอบเก็บตัว ดูความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบการเข้าสังคม การบริหารงาน ความสามารถในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยวิเคราะห์ออกมาในรูปแบบของแผนภูมิรูปวงกลม ช่วยให้เรามองเห็นภาพบุคลิกของตัวเองได้ชัดขึ้น

แบบทดสอบบุคลิกภาพ ‘123 Test’

แบบทดสอบบุคลิกภาพด้วยคำถามจำลองสถานการณ์สั้นๆ จำนวน 120 ข้อ ให้คุณลองชั่งน้ำหนักดูว่าในแต่ละข้อนั้นมีความเป็นตัวเรามากแค่ไหน ซึ่งผลสรุปจะแสดงออกมาเป็นตัวเลขให้เห็นว่า คุณนั้นยอมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้มากแค่ไหน? ความรอบคอบในการทำสิ่งต่างๆ ของคุณมีมากแค่ไหน? คุณชื่นชอบการเข้าสังคมหรือไม่? มีความอ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากน้อยขนาดไหน? และมีปฏิกริยาต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร นอกจากนั้นในเว็บไซต์ 123Test ยังมีแบบทดสอบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการหาอาชีพที่เหมาะสม หาคอร์สเรียนที่น่าสนใจ ลองเข้าไปเล่นกันดูได้นะคะ

แบบทดสอบบุคลิกภาพ ‘The Empathy Quotient’

แบบทดสอบสุดท้าย พัฒนาโดย Simon Baron-Cohen จากมหาวิทยาลัย Cambridge ซึ่งใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยาคลีนิคผ่านคำถาม 60 ข้อ เพื่อหาพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ หรือรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แล้ววิเคราะห์ระดับความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจผู้อื่นในตัวเรา 

แบบทดสอบเหล่านี้ นอกจากจะทำสนุกๆ ฆ่าเวลาได้เพลินๆ แล้ว ยังทำให้เกิด Self-Awareness ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราควบคุมตัวเองได้มากขึ้นอีกด้วย

แบบทดสอบบุคลิกภาพ ช่วยก่อเกิด Self-Awareness

Self-Awareness คือ การตระหนักรู้ในตัวเอง และการรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งคำถามต่างๆ จากแบบทดสอบนี้เองที่ทำให้เราได้ทบทวนพฤติกรรมต่างๆ ของเราในอดีต แล้วบทสรุปที่วิเคราะห์ออกมาเป็นบุคลิกภาพ จะเป็นตัวบอกเราว่า ที่ผ่านมาเรามีนิสัยยังไง เป็นคนแบบไหน มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่เกิดขึ้นทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

Self-Awareness สำคัญอย่างไร?

การมี Self-Awareness หรือมีการตื่นรู้ในตัวเอง ถือเป็นสิ่งสำคัญของกลไกการควบคุมตัวเอง เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าที่ผ่านมาเรามีพฤติกรรมแบบนี้ มีการพูด หรือการเข้าสังคมในลักษณะนี้ หากไม่เป็นที่น่าพอใจ เราจะอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น 

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากคุณเป็นหัวหน้างานที่มาทำแบบทดสอบ แล้วพบว่าที่ผ่านมาคุณกดดัน และตึงเครียดกับลูกน้องมากเกินไป ผลจากการรับรู้ตัวเองนี้ จะทำให้คุณอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากควบคุมอารมณ์ เพื่อเป็นหัวหน้างานที่ดีขึ้นนั่นเอง

การรู้จักตัวเองมากขึ้นยังสามารถนำไปเป็นตัวช่วยในการค้นหาอาชีพที่ใช่ และตรงกับนิสัยการทำงานของเรามากที่สุด เช่น รับรู้ว่าตัวเราเป็นคนสนุกสนาน เข้ากับคนง่าย ยิ้มเก่ง เหมาะกับงานบริการ งานขายสินค้า หรืองานต้อนรับ เป็นต้น

แบบทดสอบบุคลิกภาพเหมาะกับใคร?

  • เหมาะกับคนที่อยากพัฒนาตัวเอง แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะพัฒนาในจุดไหน แบบทดสอบที่ช่วยให้ตื่นรู้ จะทำให้คุณเลือกคอร์สเรียนได้ตรงจุด ทั้งแบบพัฒนาส่วนที่ขาด หรือเสริมในจุดแข็งของตัวเอง
  • เหมาะกับคนที่ไม่มีงานในฝัน หรือคนอยากเปลี่ยนงาน สามารถใช้ผลวิเคราะห์บุคลิกภาพเป็นตัวช่วยในการเลือกงานให้ตรงกับบุคลิกหรือนิสัยของตัวเองได้
  • เหมาะกับคนที่ต้องทำงานเป็นทีม การรับรู้นิสัยของตัวเอง รับรู้พฤติกรรมการเข้าสังคมของตัวเอง จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยน เพื่อเข้าสังคมหรือเข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น

แบบทดสอบต่างๆ ที่เราแนะนำข้างต้น จะทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนของตัวเองชัดขึ้น ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนวิตกกังวล หรือหากผลวิเคราะห์ออกมาแล้ว เราไม่พึงพอใจกับพฤติกรรมของตัวเองในอดีต ก็อย่าเก็บมาคิดมากจนเกินไป ขอเพียงแค่พัฒนาตัวเองต่อไป เพื่อเป็นตัวเองในอนาคตแบบเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม OfficeMate เป็นกำลังใจให้ค่ะ!

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เกิด Self-Awareness ได้นั่นก็คือ การจดบันทึกประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการจดไดอารี่ หรือการทำ Bullet Journal เมื่อย้อนกลับไปอ่านจะช่วยให้เราเห็นนิสัย การกระทำ หรืออารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน เมื่อมองเป็นภาพรวมในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี ก็จะช่วยให้มองเห็นพฤติกรรมของตัวเองแบบคร่าวๆ ได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีตื่นรู้ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้เช่นกัน

อ่านบทความเพิ่มเติม เกี่ยวกับการทำ Bullet Journal “เทคนิคการทำ ‘Bullet Journal’ บันทึกที่ว่าด้วยการจัดระเบียบชีวิตให้มีประสิทธิภาพ”

อ่านบทความอื่นๆ จากออฟฟิศเมท ได้ที่ www.officemate.co.th/blog/ หรือช้อปสินค้าคุณภาพในราคาโดนใจ คลิก OfficeMate

ขอบคุณข้อมูลจาก : Mangozero, Urbinner, SCB