การจดเลคเชอร์ในคาบเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญที่น้องๆ นักเรียน นักศึกษาทุกคนควรต้องทำ เพราะในแต่ละวันเราต้องเรียนหลากหลายวิชา การจะให้จดจำเนื้อหาได้ทั้งหมดจากการนั่งฟังเฉยๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นหากเราจดเลคเชอร์เนื้อหาสำคัญที่อาจารย์สอนไว้ นอกจากจะสามารถเก็บข้อมูลระหว่างคาบเรียนได้แล้ว การเลคเชอร์ไว้ ยังนำไปใช้อ่านทบทวนและทำความเข้าใจในช่วงใกล้สอบได้อีกด้วย

ซึ่งในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอาจทำให้หลายคนอาจเลคเชอร์โดยการพิมพ์ลงโน้ตบุ๊ก หรือเขียนลงบนแท็บแล็ตแทนการจดด้วยมือลงในกระดาษ แต่งานวิจัยจากนักจิตวิทยาของ Princeton University และ University of California พบว่า 

“การจดเลคเชอร์ด้วยมือนั้นดีกว่าพิมพ์บนโน้ตบุ๊ก เนื่องจากมันช่วยลดความเร็วของนักศึกษาลง ซึ่งการลดความเร็วของการจดเลคเชอร์ลงนี้เอง ช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ ซึมซับข้อความที่เขียน และจดจำได้ดียิ่งขึ้น”

เห็นไหมล่ะว่า การจดเลคเชอร์ด้วยมือ มีแต่ให้ผลดีต่อการเรียน ดังนั้นเรามาดูเทคนิคการจดเลคเชอร์ที่จะช่วยให้คะแนนสอบของเราพุ่งทะยานแบบสุดปังกันเลยดีกว่า!

ก่อนจดเลคเชอร์ ต้องตั้งใจฟังก่อน

การจดเลคเชอร์ที่ดีนั้น ต้องตั้งใจฟังเพื่อจัดระเบียบเนื้อหาและทำความเข้าใจกับข้อมูลในสมองก่อนจดเลคเชอร์ลงไป เพราะเมื่อตั้งใจฟังแล้วสมองจะคิดตามและจัดระเบียบเนื้อหา ทำให้การจดนั้นเป็นขั้นเป็นตอน มีระบบ และเป็นภาษาของตัวเอง เมื่อกลับมาอ่านก็จะสามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว

เลคเชอร์โดยจัดหน้ากระดาษแบบ Cornell

การจดเลคเชอร์แบบ Cornell ที่คิดค้นขึ้นโดย Dr. Walter Pauk ซึ่งวิธีเลคเชอร์แบบนี้เป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และงานวิจัยจำนวนมากก็การันตีว่าเป็นวิธีการเลคเชอร์ที่สามารถใช้พื้นที่ของกระดาษได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด รวมถึงช่วยพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ โดยแบ่งหน้ากระดาษเป็น 3ส่วน

ส่วนที่ 1 : Note – taking area

เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของหน้ากระดาษใช้พื้นที่ประมาณ 70% ส่วนนี้จะใช้จดเลคเชอร์ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ ทั้งจากการฟังบรรยาย ข้อมูลบนไวท์บอร์ด และสไลด์ประกอบการเรียน

ส่วนที่ 2 : Cue Columm

พื้นที่ด้านซ้ายมือของกระดาษ ใช้ในการเลคเชอร์ประเด็นสำคัญ หลังจากที่เลคเชอร์ส่วนที่ 1 แล้ว ซึ่งสามารถเขียนได้หลายรูปแบบ เช่น Main Idea, Key Word หรือคำถามต่างๆ ที่มีข้อสงสัย

ส่วนที่ 3 : Summary Area

พื้นที่บริเวณด้านล่างของกระดาษเป็นพื้นที่สำหรับการเลคเชอร์สรุป โดยใช้ภาษาในแบบตัวเอง หรืออาจจะใช้จดเพิ่มเติมในอนาคตเมื่อกลับมาอ่านก็ได้

ใช้สัญลักษณ์ในการเลคเชอร์

การใช้สัญลักษณ์แทนคำพูดนั้นจะช่วยให้สามารถจดเลคเชอร์ได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ง่ายต่อการทบทวนและจำอีกด้วย สัญลักษณ์ต่างๆ ที่ว่านี้อาจคิดขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายของตนเองโดยเฉพาะก็ได้ เช่น ใช้ดอกจัน (*) เพื่อเน้นตรงข้อมูลที่สำคัญหรือเป็นการย้ำประเด็นใหญ่ๆ หรือการใช้เครื่องหมายบวก (+) เพื่อแทนคำว่า “และ” ใช้ลูกศรชี้ขึ้นหรือลงเพื่อแทนคำว่า “เพิ่มขึ้นหรือลดลง” เป็นต้น ซึ่งการใช้สัญลักษณ์แนะนำให้ใช้เหมือนกันกับทุกเลคเชอร์ จะได้ไม่สับสนเวลาต้องอ่านทบทวนหลายๆ วิชา

เลคเชอร์โดยมีการใช้ตัวย่อ

เทคนิคการจดเลคเชอร์ให้เร็วอีกอย่างคือการใช้ตัวย่อแทนคำต่างๆ ที่เป็นคำทั่วๆ ไป เช่น “ปสก” แทนคำว่า “ประสบการณ์” คำว่า “ตย” แทนคำว่า “ตัวอย่าง” ตัวอักษร “ค.” แทนคำว่า “ความ” เป็นต้น โดยอักษรย่อเหล่านี้นั้นอาจคิดขึ้นมาเพื่อให้ตนเองเข้าใจได้ก็พอแล้ว

เลคเชอร์เป็นระเบียบและเว้นวรรคตอน

คงไม่มีใครอยากอ่านเลคเชอร์ที่ไม่เป็นระเบียบ เพราะอ่านยากและทำให้สับสน แทนที่จะทำให้ย่นเวลาในการทบทวนกลับต้องมานั่งแกะลายมือและหัวข้อที่เขียนติดกันเป็นพรืด ยิ่งทำให้เสียเวลายิ่งกว่าเดิม ดังนั้นการจดเลคเชอร์ที่ดี ควรจะจดให้เป็นระเบียบและเขียนตัวหนังสือให้ตัวเองอ่านง่าย เพื่อให้การกลับมาอ่านทบทวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรมีการเว้นที่ว่างสำหรับเป็นพื้นที่พักสายตาจากเนื้อหา

ใช้รูปภาพประกอบในเลคเชอร์

บางวิชาที่ยากต่อการจดเลคเชอร์ เช่น วิชาภูมิศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือแผนภูมิด้านคณิตศาสตร์ การนำภาพจากสไลด์หรือจากอินเตอร์เน็ต ปริ้นท์หรือถ่ายเอกสารออกมาตัดแปะลงในสมุดจดเลคเชอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนและจดจำรายละเอียดของบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น

ถ้าจดเลคเชอร์ไม่ทัน ให้เว้นที่ว่างเอาไว้

เชื่อว่าทุกคนต้องเจอปัญหานี้อย่างแน่นอน เวลาต้องฟังอาจารย์อธิบายเรื่องไหนเร็วๆ หรือซับซ้อนจนทำให้เลคเชอร์ไม่ทัน ซึ่งวิธีแก้ง่ายๆ คือ หากมีช่วงไหนหรือจุดไหนของเลคเชอร์ที่เราฟังหรือจดตามไม่ทัน หรืออาจยังไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องนั้นเท่าไหร่ ให้เว้นที่ว่างตรงช่วงนั้นเอาไว้ เพื่อหาข้อมูลหรือสอบถามอาจารย์หลังเลิกเรียน แล้วจึงมาเติมรายละเอียดในภายหลัง แทนที่จะมัวเสียเวลาหาคำตอบนั้น จนอาจทำให้พลาดการฟังบรรยาย และทำให้จดเลคเชอร์ไม่ทันในส่วนอื่นๆ ได้

ปากกาไฮไลต์หลากหลายสีสันช่วยได้ในการเลคเชอร์

ปากกาไฮไลต์จดเลคเชอร์

การจดเลคเชอร์ด้วยการใช้ปากกาสีเดียว จดไปเรื่อยๆ ไม่เน้นย้ำจุดสำคัญใดๆ นอกจากจะทำให้ลายตาตอนอ่านแล้ว ยังทำให้เลคเชอร์ที่จดนั้นขาดความน่าสนใจจนไม่อยากหยิบขึ้นมาอ่านทบทวนเลยก็ได้ ดังนั้นการเลือกใช้ปากกาไฮไลต์ หรือปากกาหลากหลายสีสันมาขีดเขียนตรงหัวข้อหรือข้อความสำคัญๆ ก็จะช่วยให้เลคเชอร์ของเราน่าอ่านและอ่านง่ายขึ้นอีกด้วย

แบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนเลคเชอร์กับเพื่อน

แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถจดเลคเชอร์ทันทุกเรื่องทุกประเด็น ดังนั้นการแลกเลคเชอร์หรือแบ่งปันเลคเชอร์กับเพื่อนร่วมชั้น จะทำให้ได้เนื้อหาสมบูรณ์ขึ้นในส่วนที่เราจดไม่ทัน และอาจช่วยให้เราเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นจากเลคเชอร์ของเพื่อนที่ถนัดวิชานี้ หรือคนที่อาจเลคเชอร์เนื้อหาใจความสำคัญมาได้ครบกว่านั่นเอง

ได้รู้เทคนิคดีๆ ในการจดเลคเชอร์กันไปแล้ว เปิดเทอมนี้ก็ขอให้ลองนำไปใช้กันดูนะคะ เพราะการตั้งใจเรียนในห้องเรียน ฟังสิ่งที่อาจารย์สอนแล้วเรียบเรียงออกมาเป็นเลคเชอร์ของตัวเองในสมุดโน้ตอย่างเป็นระบบระเบียบ นอกจากจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาตั้งแต่ในห้องเรียนแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาให้กับเราในการทบทวนเนื้อหาก่อนสอบได้อีกด้วย หากทำตามที่แนะนำได้ทุกข้อ ขอบอกเลยว่าเทอมนี้เป็นไปได้ที่คะแนนจะเพิ่มขึ้นนะคะ

อีกหนึ่งอย่างที่ลืมไม่ได้ คือการเตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียนสำหรับการเรียน ทั้งสมุด ปากกา ดินสอ และของใช้อื่นๆ ให้พร้อม การเรียนจะได้ไม่สะดุด! ช้อปอุปกรณ์เครื่องเขียนได้เลยที่ เว็บไซต์ OfficeMate

ข้อมูลจาก: top-atutor.com/ amp.mgronline.com