ความฝันสูงสุดประการหนึ่งของคน Gen Y คือการเป็นเจ้าของกิจการเพราะอยากเป็นนายตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกน้องใครและยิ่งในยุคนี้การลงทุนมีกิจการเป็นของตัวเองทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นสร้างเองทั้งหมด, ซื้อแฟรนไชส์, เซ้งกิจการต่อ ซึ่งแต่ละวิธีมีกระบวนการ มีขั้นตอน มีระยะเวลาคืนทุน มีค่าใช้จ่ายต่างกันและรวมถึงความเสี่ยงขาดทุนก็ไม่เท่ากัน แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรดีระหว่างการสร้างกิจการเองและการเซ้งต่อธุรกิจจากคนอื่น

สร้างใหม่ ความท้าทายของคนทำธุรกิจไฟแรง

อย่างแรกเรามาดูกันก่อนว่าหากคุณอยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

  • คิดก่อนว่าจะทำอะไรดี

การเริ่มธุรกิจใหม่คือการเริ่มจากศูนย์จริง ๆ ว่าคุณจะทำอะไรดี จากนั้นคุณต้องหาข้อมูลความรู้ทั้งหมดด้วยตนเอง เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดเองตั้งแต่แรก รวมถึงทำวิจัยตลาดเอง และลองผิดลองถูกเอาเองทั้งหมด อะไรที่ไม่เคยทำก็จะทำเป็นหมดคราวนี้แหละ

  • หาทำเลเอง

เมื่อความคิดข้อแรกตกผลึกออกมาแล้วว่าคุณจะทำอะไรและอย่างไร สิ่งถัดมาคือคุณต้องหาทำเลเปิดร้านเอง ในส่วนนี้คุณต้องใช้เวลาคัดเลือกทำเลที่ดีที่สุดซึ่งก็ใช้เวลาพอตัว เมื่อได้ทำเลมาแล้ว คุณก็ต้องลงทุนตกแต่งร้าน ซื้อของเข้าร้านเองทั้งหมดเช่นกัน

  • สร้างแบรนด์ ทำการตลาด

ถัดมาคุณก็ต้องมาทำการตลาดเองเพื่อโปรโมทร้านของคุณ รวมถึงต้องพยามยามสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จัก ขั้นตอนนี้ใครสายป่านยาวก็รอดตัว แต่ถ้าใครทุนสำรองน้อยก็ลำบากหน่อย เพราะฉนั้นต้องเตรียมตัวเรื่องเงินทุนให้รัดกุม

  • สร้างฐานลูกค้าเอง

ธุรกิจจะรอดหรือจอดสำคัญตรงฐานลูกค้า ธุรกิจใหม่คุณต้องหาและรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ให้ได้ และก็เหมือนการสร้างแบรนด์ การสร้างฐานลูกค้าก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างพอสมควร

  • รับความเสี่ยงทั้งหมดเอง

การทำธุรกิจใหม่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันพอๆ กับโอกาสที่จะจอดไม่ต้องแจว เพราะคุณต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดเมื่อเริ่มต้นกิจการเอง

แล้วการเซ้งกิจการเป็นอย่างไรหละ?

ถ้าคุณคิดว่าคุณรอไม่ไหวที่จะสร้างกิจการของคุณเองตั้งแต่แรก หรือไม่อยากเสียเวลาลองผิดลองถูก พูดง่ายๆ คืออยากทำธุรกิจแต่ไม่อยากเริ่มต้นจากศูนย์ “การเซ้งกิจการต่อ” คือตัวเลือกถัดมาที่น่าสนใจ โดยการเซ้งกิจการก็คือการเปลี่ยนเจ้าของธุรกิจ เป็นการเปลี่ยนจากเจ้าของเดิมที่ทำกิจการอยู่แล้ว ซึ่งมีการเช่าพื้นที่ตั้งกิจการจากเจ้าของพื้นที่ให้มาเป็นกรรมสิทธิ์การดำเนินกิจการโดยเจ้าของใหม่ซึ่งได้มีการทำสัญญาเช่าใหม่

สิ่งที่คุณจะได้รับในการเซ้งต่อกิจการนอกเหนือไปจากตัวธุรกิจก็คือ ทำเล องค์ความรู้ในการทำธุรกิจ วัสดุอุปกรณ์ใช้ในธุรกิจ หน้าร้าน ฐานลูกค้าเก่า และรวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่นชื่อแบรนด์ ชื่อร้าน หรือการทำการตลาดที่มีอยู่แล้ว

กิจการที่นิยมเซ้งก็มีเยอะมาก แต่กิจการเป็นที่นิยมและเห็นบ่อย ๆ คือ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้าและร้านคาร์แคร์

การเซ้งกิจการปลอดภัยจริงหรือ

การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาก่อนตัดสินใจ การเซ้งกิจการก็เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่ผู้ที่คิดจะเซ้งต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ หากใจร้อน ไฟแรง ศึกษาไม่รอบคอบแล้วรีบเซ้ง คุณอาจจะไปคว้ากิจการที่เน่าและกำลังจะเจ๊งมารับช่วงต่อ ถ้าคุณไปเซ้งเอากิจการแบบนั้นมาก็ต้องบอกว่า “ธุรกิจขาดทุนมาแล้วครึ่งทาง”

เช็คลิสก่อนเซ้งกิจการต่อ

ถ้าไม่อยากพลาด เช็คสักนิดก่อนคิดจะเซ้งกิจการ

เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการเซ้งกิจการ มีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ประกอบการตัดสินใจ คุณจะได้ไม่พลาดพลั้งอย่างน่าเสียดาย

  • มีสัญญาเช่าหรือไม่

หากเป็นกิจการที่มีสัญญาเช่าหรือต้องเช่าพื้นที่ ควรจะมีสัญญาเช่าที่ชัดเจนและต้องสามารถเปลี่ยนชื่อผู้เช่าในสัญญาได้ หากธุรกิจที่คุณจะเซ้งเป็นเช่นนั้นคุณก็วางใจได้ว่าคุณจะไม่สูญเงินเปล่า

ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือมีแต่ใบเสร็จที่ระบุชื่อผู้เช่า ถ้าคุณเจอกิจการแบบนี้ คุณตกอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะถ้าเจ้าของพื้นที่ตรวจพบหรือเปลี่ยนนโยบายคุณก็พร้อมจะปิ๋วได้ทุกเมื่อ และทำนองเดียวกับถ้ามีสัญญาเช่าหลักแต่ระบุห้ามเช่าช่วง การทำสัญญานั้นจะถือว่าเป็นการทำสัญญาซ้อน สัญญาจะเป็นโมฆะทันที ดังนั้นควรเช็คเรื่องสัญญาเช่าเป็นอันดับแรก

  • สัญญาเช่ามีระยะเวลากี่ปีและเหลือเวลาอีกเท่าใด

ข้อนี้คุณควรจะดูและคำนวณให้ละเอียดเพราะมันคือต้นทุนแรกสุดที่คุณจะตัดสินว่าถ้าเซ้งแล้วมันจะคุ้มหรือไม่ โดยที่คุณควรจะนำเอาค่าเซ้งมารวมกับค่าเช่าต่อเดือนเพื่อคำนวณ โดยนำจำนวนเดือนที่เหลือในสัญญาเช่าจากเจ้าของที่จริงมาคิด คุณก็จะได้ต้นทุนหลักแต่ละเดือนว่าจะต้องเสียเท่าไร อย่าลืมว่าต้นทุนคุณไม่ได้มีแค่เรื่องนี้มันยังมีค่าอย่างอื่นอีก ถ้าต้นทุนแรกก็ไม่คุ้มแล้ว คุณก็ไม่ควรเซ้งกิจการนั้นๆ

  • ค่าเปลี่ยนชื่อในสัญญาเช่า

ข้อนี้ก็ถือเป็นต้นทุนอีกรายการเช่นกัน ควรจะเช็คเสียก่อนว่าหากต้องเปลี่ยนชื่อในสัญญาเช่ามีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้ามีค่าเปลี่ยนคิดราคาเท่าไร และใครเป็นคนรับผิดชอบระหว่างผู้ไปเซ้ง หรือผู้ให้เซ้งกิจการ

เซ้งกิจการพร้อมอุปกรณ์

  • วัสดุอุปกรณ์ในร้านที่จะได้จากการเซ้ง

บางกรณีการเซ้งกิจการอาจเป็นการเซ้งแบบรวมมูลค่าของอุปกรณ์ในร้านด้วย ก่อนจะเซ้งควรตรวจดูว่าอุปกรณ์ที่ว่าราคาเท่าไร มีสภาพการใช้งานอย่างไรและจำเป็นกับกิจการของเราไหม ควรแยกแต่ละรายการอย่างละเอียดว่าอะไรใช้ได้ อะไรไม่ได้ใช้  และอะไรที่ขาดเพราะมันก็รวมอยู่ในเรื่องของต้นทุนเช่นกัน ยิ่งเซ้งกิจการพร้อมอุปกรณ์ในสภาพดี ถือว่าเป็นการลดต้นทุนการเริ่มธุรกิจของเราได้อีกทาง แถมไม่เสียเวลาไปซื้อใหม่อีกด้วย

  • องค์ความรู้ในการทำกิจการ

บางครั้งการเซ้งกิจการ ก็จะคิดรวมค่าความรู้ลงไปด้วย เช่นสูตรอาหาร สูตรน้ำ สูตรขนม หากคุณคิดว่าความรู้นั้นเป็นความรู้เฉพาะหรือต้องใช้เวลาศึกษามันก็คุ้มค่าที่จะจ่าย แต่หากเป็นความรู้ที่คุณมีอยู่แล้วหรือหาง่าย คุณอาจเลือกไม่เรียนเพื่อต่อรองราคาได้

  • ต้องลงไปดูพื้นที่จริง

ข้อนี้คือสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเซ้งกิจการต่อ คุณจะต้องไปสำรวจพื้นที่ร้านหลายๆ ครั้ง เพราะมันคืออนาคตของกิจการ การลงพื้นที่คุณจะได้รู้ว่าสภาพกิจการเป็นอย่างไร บรรยากาศ สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ลูกค้าเยอะไหม ยอดขายดีไหม และควรจะสุ่มดูหลายๆ ช่วงเวลาเพื่อดูช่วงคึกคักและช่วงคนเงียบ เพื่อประกอบการตัดสินใจและที่สำคัญอย่าไปให้เจ้าของรู้ตัว

การทำธุรกิจมีความเสี่ยงเสมอ แต่คุณสามารถลดความเสี่ยงได้หากคุณศึกษามันอย่างละเอียด รอบคอบในทุก ๆ ด้าน ทุกๆ ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตาม โดยเฉพาะการเซ้งกิจการต่อจากผู้อื่น ดูเผินๆ ก็เป็นเรื่องไม่ยาก เหมือนการในพงหญ้าที่มีคนแหวกทางให้แล้ว แต่ถ้าคุณไม่ใส่ใจศึกษา ทางที่ดูเหมือนง่ายนี้ ก็อาจเป็นกลลวงให้คุณหลงทางในธุรกิจนั้นๆ ได้นะคะ และถ้าวันนี้คุณมั่นใจแล้ว ก็เดินหน้าเซ้งกิจการได้เลยค่ะ