กล่องไปรษณีย์ หรือพัสดุเกิดความเสียหายระหว่างจัดส่งเป็นปัญหาดราม่ายอดฮิตมาแต่ไหนแต่ไร หลายคนคงเคยโดนมากับตัว โดยเฉพาะเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องส่งของให้ลูกค้าเป็นประจำ ปัญหานี้นอกจากจะตามตัวผู้รับผิดชอบได้ยากแล้ว ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกค้า ในกรณีที่กล่องบุบบี้จนสินค้าข้างในพลอยเสียหายไปด้วย ถือเป็นประเด็นดราม่าที่ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุสำหรับคนทำธุรกิจหวังผลกำไร 

ทำไมกล่องไปรษณีย์ถึงเกิดความเสียหาย?

สาเหตุที่กล่องไปรษณีย์ถึงมือลูกค้าแบบยับเยินมีได้หลายปัจจัย แต่ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งก็มาจากการขาดความเข้าใจเรื่องวิธีการห่อกล่องไปรษณีย์ที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้กล่องบุบบี้ หรือสินค้าข้างในกล่องแตกหัก ชำรุด มักเกิดจากช่องว่างข้างในกล่อง เพราะพื้นที่ว่างจะทำให้สิ่งของข้างในสามารถเคลื่อนย้ายไปมา กระแทกกับมุมหรือผนังกล่องระหว่างการขนส่ง ทั้งยังทำให้มุมกล่องบุบบี้เมื่อโดนแรงอัดจากภายนอกอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อปกป้องสิ่งของด้านในและคงกล่องไปรษณีย์เอาไว้ในสภาพเดิม ชนิดที่ส่งถึงปลายทางได้อย่างอุ่นใจ เรามาดู 4 วิธีห่อกล่องไปรษณีย์ไม่ให้เยินกัน!

4 วิธี แพ็คของส่งไปรษณีย์ไม่ให้เยิน

เลือกขนาดของกล่องไปรษณีย์ให้เหมาะสม

วิธีแพ็คของส่งไปรษณีย์

ของแต่ละชิ้นมีขนาดและรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเลือกกล่องไปรษณีย์ก็ควรเลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของสินค้า ไม่ควรแพ็คของชิ้นเล็กในกล่องไปรษณีย์ขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้เหลือพื้นที่ว่างข้างในกล่องมากเกินไปจนเป็นสาเหตุให้สินค้าขยับเขยื้อนไปกระแทกจนเสียหาย นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้กล่องไปรษณีย์หรือกล่องพัสดุซ้ำ (re-use) เนื่องจากกล่องที่เคยใช้มาแล้ว จะมีความอ่อนตัวของกระดาษ จึงทำให้ฉีกขาดได้ง่าย 

ถมช่องว่างภายในกล่องไปรษณีย์ให้เต็ม

วิธีแพ็คของส่งไปรษณีย์

อย่าเว้นช่องว่างภายในกล่องไปรษณีย์หรือกล่องพัสดุ เนื่องด้วยสาเหตุหลักที่ทำให้สิ่งของแตกร้าวได้ คือช่องอากาศในกล่อง ซึ่งทำให้ของเคลื่อนย้ายและง่ายต่อการกระแทก ดังนั้นจึงควรหาวัสดุมาห่อหุ้มสินค้าภายในเอาไว้อีกชั้น อย่างพลาสติกกันกระแทก หรือถมช่องว่างให้เต็ม ด้วยเม็ดโฟมโพลีเอทิลีน (polyethylene foam) ถุงลมกันกระแทก เศษกระดาษจากเครื่องทำลายเอกสาร หรือใครเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สายรักษ์โลก อาจใช้บับเบิ้ลจากผักตบชวาที่กำลังมาแรง อุดช่องว่างและเอาไว้ลดแรงกระแทกที่หัวมุมของกล่อง โดยเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การวางตัวสินค้าจริงๆ ไว้ตรงกลาง แล้วล้อมด้วยวัสดุกันกระแทกดังกล่าว เพื่อล็อคไม่ให้สินค้าเคลื่อนย้าย หรือได้รับความกระทบกระเทือน

ซ้อนกล่องไปรษณีย์ 2 ชั้นเพื่อความอุ่นใจ

วิธีแพ็คของส่งไปรษณีย์

ในกรณีที่สินค้าภายในเป็นประเภทแก้ว แจกัน หรือของที่เปราะแตกง่าย ให้ลองซ้อนกล่องพัสดุ 2 ชั้น โดยเอาสินค้าตัวจริงไว้ในกล่องเล็ก แล้วห่อหุ้มด้วยพลาสติกกันกระแทก ( air bubble ) หรือแผ่นโฟมกันกระแทก ใช้กาวติดให้แน่นหนา จากนั้นใส่ลงในกล่องพัสดุขนาดใหญ่ ถมช่องว่างด้วยโฟมตัวหนอนกันกระแทก ถุงลมกันกระแทก หรือเศษกระดาษ เพื่อให้มั่นใจว่าของข้างในจะไม่มีทางแตก หรือเสียหายระหว่างการขนส่งอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น อาจแปะด้วยเทปตัวอักษร หรือระบุว่าเป็นของแตกหักได้ง่าย เพื่อให้บริษัทจัดส่งระวังเป็นพิเศษ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้สินค้าได้อีกขั้น

แปะเทปที่มุมกล่องไปรษณีย์เพิ่มความแข็งแรง

วิธีแพ็คของส่งไปรษณีย์

ขั้นตอนสุดท้ายของการแพ็คของให้ปลอดภัย คือ แปะเทปที่หัวมุมของกล่องไปรษณีย์หรือกล่องพัสดุ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ตัวกล่องพัสดุมากขึ้นกว่าเดิม คุณควรติดเทปที่รอยต่อของกล่องทุกด้าน เพื่อป้องกันการฉีกขาดระหว่างขนส่ง  แนะนำให้ใช้เทปโอพีพี (OPP) เนื่องจากมีความหนืดเหนียว และผลิตมาสำหรับแพ็คพัสดุโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มุมของกล่องไปรษณีย์บุบเสียหาย ทั้งยังช่วยปิดรูป้องกันน้ำไหลซึมเข้าไปได้อีกด้วย 

อย่าปล่อยให้กล่องไปรษณีย์หรือกล่องพัสดุยับเยินตอนถึงมือลูกค้า เพราะสิ่งที่ยากกว่าการชดใช้ค่าเสียหาย คือการกอบกู้ชื่อเสียงที่เสียไป ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย ลองเอาเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ในการแพ็คกล่องไปรษณีย์หรือกล่องพัสดุกันดู  และที่สำคัญอย่าลืมเลือกซื้อกล่องไปรษณีย์คุณภาพได้มาตรฐาน กระดาษกล่องต้องหนาและแข็งแรง เพื่อให้แน่ใจว่ากล่องจะรับน้ำหนักสินค้าและทนแรงกระแทกได้ เพียงเท่านี้ของก็ถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย สบายใจทั้งคนส่งและคนรับแล้ว! 

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ช้อปกล่องไปรษณีย์ กล่องพัสดุคุณภาพดี อุปกรณ์กันกระแทก และอุปกรณ์สำหรับแพ็คได้เลยที่ OfficeMate