ขึ้นชื่อว่าไฟยังไงก็ไม่ควรให้เกิด เพราะไฟนำมาซึ่งความเสียหายนั่นเอง ทั้งไฟไหม้หรือแม้แต่ไฟสุมทรวง อันนี้ล้อเล่นนะคะ แต่จริงๆ แล้วการเกิดไฟไหม้ไม่เป็นอันตรายเสมอไป ยกเว้นเมื่อเกิดไฟไหม้ และไม่สามารถควบคุมดูแลเพลิงได้ จนเกิดการลุกลามไปในบริเวณอื่นๆ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “อัคคีภัย”

อัคคีภัยเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ และสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น ไฟฟ้าสถิต ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การเกิดเพลิงไหม้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ นอกจากการป้องกันแล้ว การเตรียมตัวรับมือจึงจำเป็นสำหรับภัยในทุกๆ รูปแบบนะคะ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอุปกรณ์ในการดับไฟ หรือควบคุมการลุกลามของเพลิงไหม้ ปกติเราจะเห็นอุปกรณ์ชิ้นนี้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างเช่น สนามบิน ตึก อาคาร หรือแม้แต่บนรถโดยสารสาธารณะบางคัน อุปกรณ์ชิ้นนี้ คือ ถังดับเพลิง นั่นเอง

รู้เรื่องไฟก่อนเข้าใจถังดับเพลิง

ก่อนที่เราจะพูดถึงถังดับเพลิง คงต้องอธิบายให้ทราบถึงประเภทต่างๆ ของไฟกันเป็นอันดับแรก เนื่องจากไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่ต่างกัน มีวิธีการและสารที่ใช้ดับเพลิงแตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ถังดับเพลิงจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้นั่นเอง ซึ่งชนิดของไฟมีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

ไฟประเภท A

ไฟประเภท A เกิดจากการลุกไหม้ของวัสดุที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงได้ทั่วๆไป เช่น กระดาษ ไม้ ผ้า ขยะแห้ง พลาสติกบางชนิด ฟาง ปอ ด้าย นุ่น เป็นต้น การดับไฟประเภทนี้สามารถทำได้ด้วยการ ลดอุณหภูมิ และใช้น้ำในการดับได้

ไฟประเภท B

ไฟประเภท B คือไฟที่เกิดจากการลุกไหม้ของของเหลว และก๊าซ เช่น น้ำมัน ยางมะตอย ของเหลวไวไฟ แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ เนื่องจากเชื้อเพลิงของไฟประเภทนี้เป็นของเหลวและไหลไปในวงกว้างได้ ทำให้เกิดไฟลุกลามได้ง่าย สามารถดับไฟประเภท B ได้ด้วยการจำกัดออกซิเจน โดยใช้ผงเคมีแห้ง หรือโฟม

ไฟประเภท C

ไฟประเภท C เป็นไฟประเภทเดียวที่ไม่ได้จำแนกด้วยชนิดของเชื้อเพลิง แต่แบ่งออกมาเนื่องจากเป็นการเกิดเพลิงไหม้ที่มีกระแสไฟฟ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการเกิดเพลิงไหม้จากอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด วิธีการรับมือกับเพลิงไหม้ประเภทนี้คือ ตัดวงจรไฟฟ้า และใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือน้ำยาเหลวระเหยที่ไม่มีสาร CFC

ไฟประเภท D

ไฟประเภท D คือการเกิดเพลิงไหม้จากสสารที่เป็นโลหะ เช่น อลูมิเนียม แม็กนีเซียม โซเดียม ซึ่งเป็นการเผาไหม้ที่มีอุณหภูมิสูง การดับไฟชนิดนี้ห้ามใช้น้ำโดยเด็ดขาด ควรใช้สารดับไฟที่เหมาะสม โดยทั่วไปใช้ผงเคมี อย่างผงโซเดียมคลอไรด์ หรือ ผงแกรไฟต์

ไฟประเภท K

ไฟประเภท K คือไฟที่เกิดจากน้ำมันชนิดติดไฟยาก เช่น น้ำมันทำอาหาร ไขมันสัตว์ มักเกิดบริเวณครัวหรืออุตสาหกรรมอาหาร การดับไฟทำได้โดยการจำกัดออกซิเจน การทำให้อับอากาศ ซึ่งจะมีถังดับเพลิงชนิดพิเศษสำหรับดับไฟประเภทนี้โดยเฉพาะ

ประเภทของถังดับเพลิง

ถังดับเพลิง

หลังจากที่เรารู้ไปแล้วว่าอัคคีภัยที่เกิดขึ้น สามารถเกิดจากเชื้อเพลิงที่ต่างกัน ทำให้วิธีและสิ่งที่นำมาดับไฟก็ต่างกันออกไป ดังนั้นถังดับเพลิงจึงมีการผลิตออกมาเพื่อปรับใช้กับไฟแต่ละประเภท ชนิดของถังดับเพลิงโดยส่วนมากสามารถแบ่งได้เป็น 5 ชนิด

ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง

เป็นถังดับเพลิงสีแดง สามารถใช้ดับไฟประเภท A B C ได้ เป็นถังดับเพลิงที่มีราคาไม่สูงมาก และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เมื่อใช้งานน้ำยาที่ฉีดออกมาจะเป็นลักษณะฝุ่นละออง ข้อเสียของถังดับเพลิงชนิดนี้ คือทำให้สกปรกหลังการใช้งาน และใช้งานได้เพียงครั้งเดียว เนื่องจากแรงดันตก จำเป็นต้องนำไปเพิ่มแรงดันเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง

ถังดับเพลิงชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ลักษณะของถังดับเพลิงชนิดนี้เป็นสีแดงเช่นเดียวกับชนิดแรก แต่ให้สังเกตที่ปลายกระบอกฉีดจะมีความกว้างกว่าประเภทแรก ภายในถังบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซที่ฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัด เหมาะกับการใช้ลดความร้อนของเพลิงไหม้ และไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังการใช้งาน เหมาะกับการใช้ดับไฟประเภท B C

ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย Non-CFC (ถังเขียว)

ถังดับเพลิงสีเขียว เป็นถังดังเพลิงที่บรรจุน้ำยาเหลวระเหย BF2000 แบบ Non-CFC เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาสูง เมื่อฉีดใช้งานจะเป็นไอระเหยสีขาว ไม่ก่อให้เกิดคราบสกปรก มีประสิทธิภาพในการดับไฟสูง เหมาะกับการดับไฟประเภท A B C ยกเว้น K และไม่มีสื่อนำไฟฟ้าอีกด้วย

ถังดับเพลิงชนิดโฟม

ถังดับเพลิงที่มีการบรรจุโฟมหนาแน่น เมื่อโฟมถูกฉีดออกมาสัมผัสอากาศจะกระจายตัวปกคลุมพื้นที่ เป็นการปกคลุมทำให้เกิดการอับอากาศ จึงไม่มีอากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับไฟ ถังดับเพลิงชนิดโฟมสามารถดับไฟประเภท A B K แต่ห้ามนำไปดับไฟประเภท C เนื่องจากโฟมสามารถเป็นสื่อนำไฟฟ้าได้

ถังดับเพลิงชนิดน้ำ

ถังดับเพลิงชนิดน้ำเป็นถังที่บรรจุน้ำไว้ สามารถใช้ดับไฟได้ดีกับไฟประเภท A ซึ่งเกิดจากเชื้อเพลิงติดไฟง่ายทั่วไป แต่ไม่นิยมมากนัก เนื่องจากไม่ครอบคลุมการดับไฟชนิดอื่นๆ

การตรวจเช็คถังดับเพลิง

ถังดับเพลิงที่ติดตามสถานที่ต่างๆ จำเป็นต้องมีการดูแลบำรุงอยู่เป็นประจำเพื่อให้พร้อมใช้งานหากเกิดอัคคีภัย ดังนั้นนอกจากซื้อถังดับเพลิงมาติดตั้งแล้ว เราจะต้องรู้วิธีการตรวจเช็คและดูแลรักษาตัวถังดับเพลิงด้วยเช่นกัน

  • จำเป็นต้องมีการตรวจเช็คถังดับเพลิงอยู่เป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
  • ต่อมาให้ดูที่เข็มในมาตรวัด (Pressure Gauge) ของถังดับเพลิง ถังดับเพลิงที่มีสภาพพร้อมใช้งานได้ เข็มจะต้องชี้ที่ช่องสีเขียว แต่ถ้าเข็มเอียงมาทางซ้ายแสดงว่าแรงดันไม่มี ต้องรีบนำไปเติมแรงดันทันที
  • ตรวจสอบหัวฉีด สายฉีดไม่ให้มีรอยรั่วหรืออุดตัน
  • สำหรับสภาพของตัวถังดับเพลิงภายนอก จะต้องไม่มีการบวม บุบ หรือเกิดสนิม
  • ถ้าเกิดไฟไหม้และตัวถังดับเพลิงได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ให้ส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่ทันที
  • สำหรับอายุการใช้งานของถังดับเพลิง สำหรับถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้ง หากไม่มีการใช้งานมาก่อน และสภาพสมบูรณ์ มีอายุการใช้งาน 3-5 ปี แต่ถ้ามีการใช้งานเพียงครั้งเดียวจะต้องนำไปบรรจุใหม่ ส่วนสำหรับถังดับเพลิงสีเขียว และถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในสภาพที่พร้อมใช้งานสามารถมีอายุการใช้งานได้ถึง 10 ปี

วิธีใช้งานถังดับเพลิง

หลักจากรู้วิธีการตรวจเช็คถังดับเพลิงกันไปแล้ว หากเกิดภัยขึ้นมาถ้าไม่รู้วิธีการใช้งานถังดับเพลิงก็คงไม่มีประโยชน์จริงไหมคะ ให้จำหลักการง่ายๆ ในการใช้งานถังดับเพลิงเพียง 4 คำนี้ ดึง ปลด กด ส่าย

  • ดึง: ดึงในที่นี้คือการดึงสายฉีดออกจากที่เก็บบริเวณข้างถังดับเพลิง
  • ปลด: ปลดคือการดึงสลักออก เพื่อเป็นการปลดล็อกวาล์วที่หัวถังดับเพลิง
  • กด: ให้เราทำการกดบีบที่ก้าน เพื่อฉีดสารออกมาจากตัวถังดับเพลิง
  • ส่าย: การส่ายเป็นวิธีการดับเพลิงนั่นเอง ให้ถือถังดับเพลิงเข้าไปในระยะ 2-4 เมตร จ่อไปที่ฐานของไฟ พร้อมกดฉีดโดยส่ายสายฉีดจาดซ้ายไปขวา หรือจากขวาไปซ้ายจนไฟดับสนิท

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราควรรู้เกี่ยวกับถังดับเพลิง เพราะเหตุไฟไหม้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย สามารถเกิดที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ อีกหนึ่งสิ่งที่เราควรเปลี่ยนความคิดคือ การใช้งานถังดับเพลิงไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคลที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมดับเพลิง หรือเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ฝึกมาเท่านั้น หากตัวเราเองตกอยู่ในสถานการณ์เพลิงไหม้ ความรู้ในส่วนนี้จะเป็นส่วนทำให้เรารอดพ้นจากอัคคีภัยมาได้ อย่าลืมนะคะ ตรวจเช็คและดึง กด ปลด ส่าย หลักการง่ายๆ ในการใช้ถังดับเพลิง

ช้อปถังดับเพลิง ไปติดตั้งที่บ้าน โรงงาน คอนโด หรือสำนักงานของคุณ เพื่อความอุ่นใจ และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดไฟไหม้แบบไม่ทันตั้งตัว คลิกเลยที่เว็บไซต์ OfficeMate เรามีบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท