คนธรรมดาโลกไม่จำฉันใด การท่องคำศัพท์แบบธรรมดาสมองก็ไม่จำฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราเลยขอเสนอวิธีท่องศัพท์แบบครีเอทๆ ที่จะช่วยดึงเอาความทรงจำระยะสั้น Short-term memory มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเวลาเตรียมตัวมากเท่าที่ควร เช่น ท่องศัพท์แบบเร่งด่วนก่อนใกล้ถึงเวลาสอบ

แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความทรงจำของเรามี 2 แบบคือ ความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) และความทรงจำระยะสั้น (Short-term memory)

  • ความทรงจำระยะยาว (Long-term memory)  เป็นหน่วยความจำที่สามารถเก็บข้อมูลได้ไม่จำกัด เก็บได้นาน เสมือนเป็นคลังข้อมูลในสมอง เกิดมาจากการฝึกทำซ้ำๆ จนชำนาญ เช่น การขับรถ การจดจำคนในครอบครัว การจดจำชื่อเพื่อนสนิท หรือคลังความรู้รอบตัวต่างๆเป็นต้น
  • ความทรงจำระยะสั้น (Short-Term Memory หรือ STM) คือหน่วยความจำที่สามารถเก็บข้อมูลได้ในระยะเวลาสั้นๆ และเก็บได้แบบจำกัด เช่น จดจำเบอร์โทรศัพท์ จดจำเมนูอาหาร ฯลฯ ความจำชนิดนี้ถูกรบกวนได้ง่าย เรียกว่าเป็นการจำแบบชั่วคราว ซึ่งอาจลืมได้ภายในไม่กี่วินาที แต่ถ้าอยากเป็นคนจดจำอะไรได้เร็ว เราก็สามารถพัฒนาทักษะ Short-term Memory นี้ได้เช่นกัน
วิธีท่องศัพท์

และต่อไปนี้คือเทคนิคจำศัพท์ฉบับเร่งด่วน แบบ Short-term Memory ใครมีเตรียมตัวสอบมิดเทอม ปลายภาค หรือสอบ TOEIC TOEFL ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปใช้รับรองว่าช่วยได้แน่นอน!

1.แบ่งศัพท์ แบ่งสี ช่วยจำ

ถ้าพูดง่ายๆ เทคนิคนี้คือการจัดหมวดหมู่ของศัพท์ภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถครีเอทได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน เช่น 1.แบ่งตามพื้นฐานความรู้เดิม เช่น ศัพท์ที่รู้อยู่แล้ว ศัพท์ที่คุ้นๆ ศัพท์ใหม่ไม่เห็นเห็น 2.แบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น ศัพท์ธุรกิจทั่วไป ศัพท์การเงิน ศัพท์เหตุการณ์ หรือ 3.แบ่งตามความเหมือนหรือต่าง เช่น ศัพท์ที่สะกดแปลกๆ ศัพท์ที่ขึ้นต้นเหมือนกัน ศัพท์ที่ยาวเป็นพิเศษ หลังจากนั้นเขียนคำศัพท์และความหมายเหล่านี้ตามหมวดหมู่ลงในสมุดโน้ต หรือกระดาษโน้ต อาจเลือกใช้ปากกาสีแตกต่างกัน ก็ช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น

2.ทำให้ทุกที่กลายเป็นที่ท่องศัพท์

ไหนๆ ก็จะถึงโค้งสุดท้ายก่อนสอบแล้ว เรามาทำให้ทุกที่ในบ้านหรือหอพักเป็นที่ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษกันดีกว่า อุปกรณ์ที่ต้องมีคือ ปากกาเมจิก และกระดาษโน้ตแบบมีกาว จากนั้นเขียนคำศัพท์ตัวใหญ่กว่าปกติ ลงบนกระดาษโน้ตแล้วนำไปติดตามที่ต่างๆ ในบ้านหรือหอพัก เช่น หน้ากระจก (ท่องตอนแปรงฟัน แต่งหน้าหรือแต่งตัว) ผนังห้องข้างเตียงหรือบนเพดาน (ท่องก่อนนอน) ประตูตู้เย็น (ท่องก่อนกิน) หรืออีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้จดจำคำศัพท์ได้นาน คือ ติดกระดาษคำศัพท์ลงบนอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ติดคำว่า Refrigerator ไว้ที่ตู้เย็น หรือติดคำว่า Stair ไว้ที่บันได สมองจะจดจำได้ทั้งคำศัพท์และความหมาย รวมถึงภาพของตู้เย็นไปพร้อมๆ กัน และที่สำคัญแนะนำให้ท่องศัพท์และความหมายแบบออกเสียง จะช่วยให้จำได้ดีขึ้น!

3.ใช้โค้ดช่วยจำคำศัพท์

การใช้โค้ดนี้ แนะนำให้เป็นโค้ดที่สร้างขึ้นมาเองและต้องเข้าใจในโค้ดนั้นเป็นอย่างดี เป็นการเชื่อมโยงคำศัพท์เข้ากับความหมายด้วยการใช้โค้ดลับ เช่น ต้องการจำคำศัพท์ dogmatic ที่เแปลคือ หัวรั้น อาจใช้คำว่า dog ที่อยู่ในศัพท์นี้ เชื่อมโยงไปว่าสุนัขนั้นหัวรั้น แม้จะโดนล่ามโซ่อยู่ แต่ก็พยายามหนีตลอดเวลา ก็จะช่วยให้จำความหมายของคำว่า dogmatic ได้อัตโนมัติ

วิธีท่องศัพท์

4.ทวนศัพท์บ่อยๆ

3 วิธีข้างต้นเป็นเทคนิคช่วยจำคำศัพท์แบบเร่งด่วน ให้คำศัพท์ทั้งหลายเข้าไปอยู่ใน Short-term Memory แต่ถ้าอยากเปลี่ยนจากความจำระยะสั้น ให้เป็นความจำระยะยาว ก็ต้องหมั่นทบทวนคำศัพท์บ่อยๆ ฝึกเขียนและฝึกออกเสียงให้ชิน แล้วอย่าลืมเพิ่มเลเวลการจำให้ท้าทายมากขึ้น เช่น เขียนคำศัพท์แต่ไม่ต้องเขียนความหมาย ค่อยๆ ฝึกท่องไปเรื่อยๆ หากจพคำไหนไม่ได้ก็ค่อยเปิดดูเฉลย แบบนี้จะช่วยให้เราจำได้นาน แถมจำได้ไม่มีลืม

ความจำระยะสั้นจะมีผลมากต่อการท่องหนังสือ 1-3 วันก่อนสอบ แต่ปริมาณของข้อมูลก็มีส่วนต่อการจำเช่นกัน เพราะฉะนั้นการเร่งท่องหนังสือไปสอบก็เป็นอะไรที่ใช้ได้ผล ที่สำคัญกว่าการท่องจำก่อนสอบคือต้องตั้งเป้าหมายว่าจะท่องจำคำศัพท์เหล่านั้นได้ในระยะยาว หรือเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาว เพราะจะส่งผลที่ดีต่อการสอบในอนาคตและใช้งานในชีวิตประจำวันมากที่สุด

ช้อปอุปกรณ์เครื่องเขียน เอาไปจดจำศัพท์แบบเร่งด่วนได้เลยที่เว็บไซต์ OfficeMate

ขอบคุณข้อมูลจาก

2 CommentsClose Comments