ถึงแม้ปัจจุบันจะมีหลายคนออกมาบอกว่า ผู้คนจะถือเงินสดกันน้อยลง แต่ก็ยังเป็นการเริ่มต้นที่ค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนสำหรับประเทศไทย ดังนั้นการใช้เงินสด ทั้งธนบัตรและเหรียญยังคงเป็นวิธีการหลักในการใช้จ่าย แต่ปัญหาที่พบและเกิดขึ้นก่อนหน้านี้อยู่เป็นระยะ คือการระบาดของแบงค์ปลอม หรือการปลอมแปลงธนบัตรออกมาใช้จ่ายหมุนเวียนอยู่ในระบบ จนเกิดเป็นปัญหากับชาวบ้าน รวมถึงร้านค้าเจ้าของกิจการ และเป็นปัญหาระดับประเทศ

สดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แบงค์หรือธนบัตรแบบ 17 ซึ่งเป็นธนบัตรแบบใหม่ล่าสุด ถูกนำออกมาใช้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 แต่ไม่ทันไรก็มีข่าวแบงค์ปลอมของธนบัตรรุ่นนี้ออกมาอย่างรวดเร็ว วันนี้เราจะมาดูกันดีกว่าว่า มีวิธีไหนที่ใช้ดูธนบัตรรุ่นนี้ว่าเป็นแบงค์ปลอมหรือไม่ โดยเฉพาะธนบัตรชนิด 500 บาท และ1000 บาท เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ค่ะ

9 จุดตรวจสอบแบงค์ปลอม

ธนคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาประกาศวิธีในการตรวจสอบแบงค์ปลอม สำหรับธนบัตรแบบ 17 (ร.10) ซึ่งธนบัตรแบบ 17 คือ ภาพประธานด้านหน้าธนบัตรคือ พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และภาพประธานด้านหลังธนบัตรคือ ​พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี วิธีตรวจธนบัตรชนิด 20 50 100 500 และ 1000 บาท มีทั้งหมด 9 จุดดังนี้

ลวดลายเส้นนูน

บริเวณภาพพระตราประจำพระองค์ฯ คำว่า “รัฐบาลไทย” ทั้งตัวอักษรและตัวเลขไทยแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้ว จะรู้สึกนูนสะดุด

ลายน้ำ

เมื่อยกแบงค์ส่องกับแสงสว่าง จะพบพระสาทิสลักษณ์และตัวเลขตามชนิดราคาของธนบัตรปรากฏขึ้น เห็นได้ชัดเจนและมีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ

ภาพทับซ้อน

เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นว่า รูปครุฑพ่าห์ จะทับซ้อนกันสนิทพอดีทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร

ตัวเลขแฝง

บริเวณส่วนล่างของธนบัตรด้านหน้า จะมีตัวเลขแจ้งชนิดราคาของธนบัตรระบุไว้ สามารถมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสง

สัญลักษณ์สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา

รูปดอกไม้พิมพ์ด้วยลวดลายเส้นนูน เมื่อสัมผัสจะรู้สึกนูนสะดุดที่ปลายนิ้ว โดยตำแหน่งและจำนวนในการพิมพ์สัญลักษณ์จะแทนตัวเลขและอักษรภาษาอังกฤษในอักษรเบรลล์ ดังนี้

ธนบัตรชนิด 20 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนเลข 2 ในอักษรเบรลล์

ธนบัตรชนิด 50 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนเลข 5 ในอักษรเบรลล์

ธนบัตรชนิด 100 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนอักษร H (Hundred) ในอักษรเบรลล์

ธนบัตรชนิด 500 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนอักษร F (Five Hundred) ในอักษรเบรลล์

ธนบัตรชนิด 1000 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนอักษร T (Thousand) ในอักษรเบรลล์

แถบสี

บริเวณด้านหน้าของธนบัตรจะปรากฏแถบสี ซึ่งสีจะฝั่งอยู่ในเนื้อธนบัตร มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ และในแถบจะแสดงตัวเลขแจ้งชนิดราคาของธนบัตร เมื่อเปลี่ยนมุมมองแถบสีจะปรากฏเปลี่ยนแปลงดังนี้

ธนบัตรชนิด 20 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแดง

ธนบัตรชนิด 50 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีม่วงแดง

ธนบัตรชนิด 100 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีม่วงแดงเป็นสีเขียว และเห็นแถบแนวนอนเลื่อนขึ้นลง

ธนบัตรชนิด 500 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีม่วงแดงเป็นสีเขียว และภายในแถบจะเห็นรูปสี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวเป็นขนาดเล็กและใหญ่

ธนบัตรชนิด 1000 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และภายในแถบจะเห็นรูปวงกลมเคลื่อนไหวไปมาได้รอบทิศทาง

หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสี

ลักษณะนี้จะใช้ดูได้เฉพาะธนบัตรชนิด 100 500 และ 1000 บาทเท่านั้น โดยให้ดูที่ลายดอกประดิษฐ์ เมื่อยกธนบัตรขึ้นดูและพลิกไปมา จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

ธนบัตรชนิด 100 บาท ลายประดิษฐ์จะเห็นเป็นประกาย

ธนบัตรชนิด 500 บาท ลายประดิษฐ์จะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว และพบรูปสี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวไปมา

ธนบัตรชนิด 1000 บาท ลายประดิษฐ์จะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว และพบรูปวงกลมเคลื่อนไหวรอบทิศ

หมึกพิมพ์พิเศษสีเหลือบ

ลักษณะนี้จะใช้ดูได้เฉพาะธนบัตรชนิด 500 และ 1000 บาทเท่านั้น ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณลายน้ำ

ธนบัตรชนิด 500 บาท ปรากฏลายดอกไม้ 3 ดอกเรียงตามแนวตั้ง เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเห็นสีเหลือบเหลือง

ธนบัตรชนิด 1000 บาท ปรากฏลายประจำยาม (ลายไทย) 3 ดอกเรียงตามแนวตั้ง เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเห็นสีเหลือบเหลือง

ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง (UV)

เมื่อนำธนบัตรแต่ละชนิดไปส่องดูกับแสงเหนือม่วง (UV) จะปรากฏลายประดิษฐ์บริเวณกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคา หมวดเลขหมายจะเรืองแสง และปรากฏเส้นใยเรืองแสงสีเหลือง แดง และน้ำเงินทั่วเนื้อกระดาษ

แอปฯ เช็กแบงค์ปลอม

เนื่องจากปัญหาเรื่องการปลอมแปลงธนบัตรหรือแบงค์ปลอมเกิดขึ้นเป็นระยะ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงทำแอปพลิเคชั่นชื่อว่า “Thai Banknoted” หรือ “ธนบัตรไทย” เพื่อเป็นคู่มือให้กับประชาชนได้ใช้ตรวจสอบธนบัตรว่าแบบไหนแบงค์ปลอม แบบไหนแบงค์จริง ซึ่งง่ายและสะดวกในการใช้งานเป็นอย่างมาก สามารถใช้ได้ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รองรับระบบปฏิบัติการ IOS และ Android อีกด้วย

บทลงโทษที่ต้องรู้เกี่ยวกับแบงค์ปลอม

แน่นอนว่าการทำแบงค์ปลอมถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และสำหรับใครที่รู้แล้วว่าแบงค์ที่ตนเองถืออยู่เป็นแบงค์ปลอมแต่ก็ยังนำแบงค์ปลอมไปใช้งาน มีโทษจำคุกถึง 15 ปีเลยทีเดียว ดังนั้นถึงแม้ว่าเราไม่ใช่ผู้กระทำความผิดโดยการผลิตแบงค์ปลอมขึ้นมา แต่ก็ต้องช่วยกันสอดส่องและไม่ส่งต่อแบงค์ปลอมให้ผู้อื่น เพื่อช่วยกันยุติวงจรมิจฉาชีพ

เครื่องตรวจแบงค์ปลอม

วิธีที่แจ้งไปข้างต้นถือเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ตรวจสอบแบงค์ปลอมได้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าหากเราเป็นเจ้าของร้านค้า ผู้ประกอบการที่มีธนบัตรผ่านเข้าออกวันละมากๆ การตรวจด้วยตัวเองเบื้องต้นอาจจะไม่ครอบคลุมและถูกต้อง 100% การใช้เครื่องตรวจแบงค์ปลอม หรือเครื่องตรวจสอบธนบัตรเป็นอีกทางที่จะทำให้การตรวจสอบแบงค์ปลอมแม่นยำมากขึ้น

เนื่องจากการตรวจสอบด้วยมือเปล่า เป็นเพียงการตรวจสอบลักษณะภายนอกของธนบัตร ที่เรามองเห็นด้วยตา และสัมผัสได้ด้วยมือเท่านั้น แต่การตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจแบงค์ปลอม ใช้หลักการตรวจด้วยรังสีเหนือม่วงหรือรังสี UV ทำให้ระบุลักษณะพิเศษและแยกแบงค์จริงกับแบงค์ปลอมออกจากกันได้ชัดเจนขึ้น ในระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงสามารถตรวจลายน้ำ แถบแม่เหล็ก และองค์ประกอบอื่นๆ ของธนบัตรได้อีกด้วย

การตรวจสอบแบงค์ปลอม ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของร้านเท่านั้นที่ต้องรู้ แต่รวมถึงทุกๆ คน เพราะการใช้จ่ายในประเทศไทย ปัจจุบันยังคงใช้ธนบัตรอยู่ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่เคยเจอ แต่หากวันนึงที่แบงค์ปลอมวนมาอยู่ในมือเรา คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ดังนั้นเราทุกคนควรรู้วิธีตรวจสอบแบงค์ปลอม ช่วยกันสอดส่องและเมื่อพบเห็นควรแจ้งความในทันทีนะคะ

สำหรับร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อเครื่องตรวจสอบแบงค์ปลอม เพื่อง่าย สะดวกและแม่นยำในการตรวจเช็กธนบัตร สามารถเลือกซื้อออนไลน์ได้ที่ออฟฟิศเมท เรามีสินค้าคุณภาพ พร้อมบริการจัดส่งฟรี*ถึงประตูร้านของคุณเลยล่ะค่ะ

ที่มา: khaosod.co.thpptvhd36.comthebangkokinsight.combot.or.th

ภาพประกอบ: แอปพลิเคชั่น Thai Banknotes