วัณโรคปอดจัดว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายจนถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ถึงแม้จะมีการค้นพบยาที่สามารถรักษาโรควัณโรคปอดได้แล้ว แต่องค์การอนามัยโลกกลับพบอัตราการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคที่ค่อนข้างสูง แถมเชื้อยังดื้อยาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ประมาณได้ว่าในหนึ่งปีมีผู้ติดเชื้อวัณโรคปอดเพิ่มถึง 8 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 3 ล้านคนเลยทีเดียว และวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีถือเป็นวันวัณโรคโลกอีกด้วย เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงภัยของโรคนี้ รู้แบบนี้แล้ว…เรามาทำความรู้จักกับ ‘วัณโรคปอด’ ให้มากขึ้น และเข้าใจวิธีป้องกันโรคกันดีกว่าค่ะ

วัณโรคปอด คืออะไร?

วัณโรค โดยปกติเรียกว่าโรค TB เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากไวรัส Mycobacterium Tuberculosis โดยส่วนใหญ่จะเกิดการอักเสบบริเวณปอด จึงมักเรียกว่า วัณโรคปอด แต่ที่จริงแล้วสามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง และลำไส้ ในสมัยก่อนที่การแพทย์ยังไม่พัฒนา ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคมักจะเสียชีวิต แต่ในปัจจุบันวัณโรคปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยารักษาวัณโรค แต่ตัวผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา เนื่องจากเชื้อวัณโรคสามารถอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้เป็นเวลานาน โดยไม่แสดงอาการแต่อย่างใด เรียกว่า วัณโรคระยะแฝง ซึ่งทั่วโลกมีผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคระยะแฝงอยู่ประมาณ 2,000 ล้านคน โดยสถิติเฉลี่ยแล้ว 10 % ของวัณโรคระยะแฝงจะพัฒนาไปเป็นวัณโรคปอดภายใน 10 ปี

วัณโรคปอด ติดต่อได้อย่างไร?

วัณโรคปอด TB

เชื้อวัณโรคซึ่งอยู่ในปอดของผู้ป่วย จะออกมาอยู่ในบรรยายกาศขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม บ้วนน้ำลาย และขากเสมหะ เมื่อเสมหะแห้งจึงฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่คนทั่วไปจะได้รับเชื้อวัณโรคปอด ทั้งจากการสูดเชื้อเข้าไปในปอดหรือการสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อ และเนื่องจากเชื้อวัณโรคปอดแพร่กระจายในทางเดินหายใจมากที่สุด เราจึงมักพบเชื้อโรคได้ทั้งในบริเวณที่มีผู้ป่วยอยู่ บริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่าน หรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า โรงพยาบาล เป็นต้น หากว่ากันตามจริงแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนเคยสัมผัสเชื้อวัณโรคมาแล้วเกือบทั้งนั้น แต่การจะป่วยเป็นวัณโรคปอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้

  • สภาพร่างกาย: ความแข็งแรงของแต่ละบุคคลและแต่ละช่วงวัยไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ
  • ผู้เป็นโรคเรื้อรัง: เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคมะเร็งปอด หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และมีการใช้สารเสพติดเป็นประจำ
  • ปริมาณเชื้อที่ได้รับ: ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มกังวลใจ ว่าเราอาจจะมีเผลอไผลไปได้รับเชื้อวัณโรคปอดมาโดยไม่ตั้งใจหรือเปล่า? มาเช็กอาการกันค่ะ

อาการเมื่อติดเชื้อวัณโรคปอด

อาการในระยะแรกจะสังเกตได้ยากเพราะจะเกิดขึ้นช้าๆ ทีละเล็กทีละน้อย ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค ซึ่งอาการที่พบได้คือ

  • มีไข้เรื้อรังต่ำๆ โดยมักจะเป็นตอนเย็นหรือตอนบ่าย
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • อ่อนเพลียเป็นประจำ ทั้งๆ ที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก
  • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไอ ที่นานมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มต้นจะเริ่มไอแห้งๆ ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะ จนอาจไอเป็นเลือดได้

วิธีการรักษาวัณโรคปอด

วัณโรคปอดรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา ซึ่งก็มีหลายชนิด ส่วนใหญ่แพทย์มักใช้ร่วมกัน ตัวอย่างยาที่รักษา เช่น Isoniazid Rifampicin Pyracinamide Ethambutol Streptomycin ระยะเวลาในการให้ยาอย่างน้อยที่สุด 6 เดือน ถึง 2 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้เวลาค่อนข้างนานและต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อ แม้วัณโรคปอดจะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ก็สามารถกลับเป็นซ้ำได้เช่นกัน ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญในการรักษาคือ จะต้องรักษาให้หายขาดเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ข้อควรปฏิบัติเมื่อติดเชื้อวัณโรคปอด

วัณโรคปอด TB
  • รับประทานยาวัณโรคปอด ตามที่แพทย์แนะนำจนครบกำหนด เพื่อป้องกันเชื้อวัณโรคเกิดการดื้อยาและไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • ในช่วงสองอาทิตย์แรกของการรักษาจัดเป็นระยะแพร่เชื้อ จึงควรอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น เลือกพักในห้องที่แสงแดดส่องถึง มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรแยกห้องนอนออกมาจากสมาชิกคนอื่น ไม่ควรออกไปในที่ชุมชน หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้ง
  • ปิดปากทุกครั้งเวลาไอหรือจาม
  • งดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ และเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังควรพักผ่อนให้เพียงพออีกด้วย

ป้องกันตัวเองอย่างไร ให้ไกลจากวัณโรคปอด?

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด และควรตรวจเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี
  • ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ให้ทารกแรกเกิดทุกราย ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ สามารถป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงในเด็กเล็กได้ แต่ไม่มีผลในการป้องกันวัณโรคปอดสำหรับผู้ใหญ่ ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้ว ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้
  • ถ้าหากมีอาการผิดปกติและสงสัยว่าเป็นวัณโรคปอด เช่น มีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 3 อาทิตย์ มีไข้ เจ็บหน้าอก เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หากมีอาการเหล่านี้อยู่ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

เห็นไหมล่ะคะว่าโรควัณโรคปอด ไม่ใช่โรคที่ไกลตัวเราเลย ยิ่งถ้าต้องทำงานหรือเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านอยู่บ่อยๆ โอกาสที่จะได้รับเชื้อมาจากผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะของโรควัณโรคปอดก็ยิ่งสูงมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การดูแลรักษาสุขภาพของตัวเราเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย หรือหากรู้ตัวว่าสุขภาพร่างกายอ่อนแอแต่เลี่ยงไม่ได้ การสวมใส่หน้ากากอนามัยก็จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อลงไปได้มากเลยนะคะ ดูแลป้องกันเสียตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับโรควัณโรคปอดที่นับวันจะยิ่งร้ายแรงนะคะ

ช้อปหน้ากากอนามัยเอาไปป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค เชื้อไวรัส และแบคทีเรียต่างๆ กับ OfficeMate ช้อปวันนี้ ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำ ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 นี้เท่านั้น!

ที่มา: honestdocs.co/ siphhospital.com