2.1 ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสังคม

สำหรับผู้ยื่นภาษีที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงและสูงสุดไม่เกิด 9,000 บาท ต่อคน เนื่องจากเพดานประกันสังคมสูงสุดคนละ 750 บาทต่อเดือน ตลอด 1 ปี รวมเป็นเงิน 9,000 บาทนั่นเอง

2.2 ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป เงินฝากแบบมีประกันชีวิต และประกันสุขภาพ

ผู้ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงรวมกัน 3 รายการไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ประกันทั้งหมด 3 แบบต้องเป็นประกันของตนเองเท่านั้น เช่น ใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไป 75,000 บาท จะใช้สิทธิจากประกันอีกสองตัวได้อีกแค่ 25,000 บาท

ในส่วนค่าลดหย่อนประกันสุขภาพตนเอง ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงแต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท แสดงว่า หากคุณใช้ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพตัวเองไปแล้ว 25,000 บาท จะใช้สิทธิค่าลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตอีกสองตัวที่กล่าวมา ลดหย่อนภาษีได้อีกแค่ 75,000 บาท เพื่อให้ทั้ง 3 ส่วนรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิตไปแล้ว 90,000 บาท จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยประกันสุขภาพได้อีกเพียง 10,000 บาทเท่านั้น เพื่อรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

“สำหรับใครที่มีความจำนงใช้สิทธิประกันสุขภาพ เพื่อลดหย่อนภาษี จะต้องแจ้งความจำนงไปที่บริษัทประกันสุขภาพที่ทำอยู่ เพื่อให้บริษัทนำส่งเอกสารให้กรมสรรพากร (ยื่นเองไม่ได้) ซึ่งบริษัทประกันสุขภาพต้องนำส่งเอกสารไม่เกินวันที่ 7 มกราคม”

2.3 ค่าลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพบิดามารดา

ผู้ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดารวมกับมารดาแล้ว ไม่เกิน 15,000 บาท ไม่ใช่ 30,000 บาท) โดยเราต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อแม่ และพ่อแม่มีรายได้ปีละไม่เกิน 30,000 บาท หากมีพี่น้องสองคนต้องการใช้สิทธินี้ ให้หารตามจำนวนพี่น้องและแบ่งสิทธิเท่าๆ กัน

2.4 ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ผู้ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องนำไปเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท ต่อปี ในกรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิในส่วนของการลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต (ข้อ2.3) หรือใช้สิทธิแล้วแต่ยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถนำเงินส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีในส่วนประกันชีวิตให้ครบ 100,000 บาทก่อนได้ ที่เหลือจึงนำมาใช้ในการคิดค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

เช่นจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไป 320,000 บาท และใช้สิทธิประกันชีวิตไปเพียง 60,000 บาท ยังเหลือสิทธิอีก 40,000 บาท ให้นำเงินที่จ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปโปะสิทธิส่วน 40,000 บาท ก้อนสิทธิประกันชีวิตจะครบ 100,000 บาทพอดี และเหลือเงินอีก 280,000 บาท เพื่อนำมาคิดค่าลดหย่อนภาษีประกันชีวิตแบบบำนาญ

*เพดานค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญสูงสุดได้ 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับ(ข้อ 3.2) ในกลุ่มค่าลดหย่อนภาษีการลงทุน ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยนะคะ*

อ่านสิทธิลดหย่อนภาษี เพิ่มเติม

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่1 ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่3 ค่าลดหย่อนภาษีการลงทุน

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่4 ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่5 ลดหย่อนภาษีจากการบริจาค

ที่มา: aommoney.com/ itax.in.th/ rd.go.th