3.1 ค่าลดหย่อนภาษีค่าซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF)

สำหรับกองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF ในปี 2563 นี้ ไม่ได้ไปต่อ ส่วนใครที่มีหุ้น LTF อยู่ในมือ (ซื้อก่อนปี 2563) ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเกณฑ์เดิม คือ 

ผู้ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกองทุน LTF ได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี (ก่อนหักลดหย่อน) แต่เพดานสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เช่น มีเงินได้ทั้งปีภาษี 1,500,000 บาท สามารใช้สิทธิส่วนนี้ได้ 225,000 บาท (1,500,000 x 15%) หรืออย่างเช่น มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี 4,000,000 บาท 15% ก็จะได้ (4,000,000 x 15% = 600,000) แต่ใช้สิทธิได้เพียง 500,000 บาทเนื่องจากเป็นเพดานสูงสุดนั่นเอง

  • ซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ในปีไหน ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของปีนั้น ปีต่อไปหากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนกองทุน LTF อีกก็ให้ซื้อใหม่ตัวเดิมหรือตัวใหม่ก็ได้
  • กำไรที่ได้จากการขายกองทุน LTF ได้รับการยกเว้นภาษี *หากไม่เกินสิทธิของตัวเองและถือครบ 7 ปีปฏิทิน การนับปีปฏิทินคือ ไม่ว่าจะซื้อกองทุนวันไหนของปี ก็ให้นับเป็นปีที่ 1 และหากขายคืนวันไหนของปี ก็ให้นับเป็นอีก 1 ปี เช่น ซื้อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ขายคืน วันที่ 2 มกราคม 2565 กรณีนี้ปี 2559-2565 คิดเป็น 7 ปีปฏิทินพอดี (วันที่ 31 ธ.ค. และ 1 ม.ค. ของทุกปีถือเป็นวันหยุด ไม่มีการซื้อขายกองทุน) และหากได้กำไรจากการขายเกินสิทธิ ให้นำกำไรส่วนเกินมาคิดภาษีในปีที่ขายในฐานะเงินได้ประเภทที่ 8
  • หากขายคืนกองทุนก่อนกำหนดครบ 7 ปีปฏิทิน ต้องทำการคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยใช้ไป และจ่ายเงินค่าปรับคิดเป็น 1.5% ต่อเดือน (นับแต่เม.ย. ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากกองทุน ถึงเดือนที่มีการขายคืน) เช่น ปีที่ใช้สิทธิคือ 2560 และขายกองทุนคืนในเดือนกรกฎาคม 2562 นับเป็น 28 เดือน (1.5% x 28) สมมุติลดหย่อนไป 15,000 ดังนั้นต้องเสียค่าปรับเพิ่ม 15,00 x 1.5% x 28= 6,300 บาท (ถือเป็นการคืนสิทธิที่เคยได้รับ) ดังนั้นใครจะซื้อกองทุน LTF ก็พิจารณาให้ดีๆ เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวตามชื่อ แถมหากอยู่ไม่ครบ คนที่เคยใช้สิทธิต้องมานั่งคิดภาษีย้อนหลัง บวกค่าปรับอีกนะคะ

เพิ่มเติม: การนับแบบ 7 ปีปฏิทิน สำหรับกองทุนหุ้น LTF เริ่มตั้งแต่กองทุนที่ซื้อในปี 2559-2562 หากซื้อกองทุนในปีก่อนหน้า ตั้งแต่ปี 2558 ลงไป ให้คิดปีปฏิทินตามเดิมคือ 5 ปี เช่น ซื้อปี 2558 ครบรอบในปี 2562 (5ปี) 

3.2 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน / กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) / กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

ผู้ยื่นภาษีก่อนใชสิทธิจากทั้ง 4 กองทุนนี้ ต้องคำนวณสิทธิลดหย่อนกองแต่ละตัว ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อ รวมกันทั้งหมด และรวมกับกองทุน RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท” และอย่าลืมว่าหากผู้ยื่นภาษีใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (ข้อ2.4) ต้องนำมารวมด้วย และใช้สิทธิได้ไม่เกิน 500,000 บาท

3.2.1 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) :

ลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง และต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น ถ้าเงินได้ 1,000,000 บาท จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกองทุน RMF ได้ 150,000 บาท (1,000,000×15%) และถ้าเงินได้ 4,000,000 บาท (4,000,000×15%=600,000) ถึงแม้จะซื้อกองทุนเต็ม 600,000 บาทตามสัดส่วน 15% แต่ก็จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกองทุน RMF ได้เพียง 500,000 บาทเท่านั้นเพราะเป็นเพดานสูงสุดที่กฏหมายกำหนด กองทุน RMF ที่จะนำมาใช้สิทธิต้องเป็นไปตามลักษณะดังนี้

  • ต้องซื้อกองทุน RMF ต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
  • เมื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF แล้ว จะต้องไม่ขายคืนจนกว่าจะถือกองทุนครบ 5 ปี และผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจะต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อนวันที่ขายคืน 

3.2.2 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ :

ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เช่นกัน และค่าซื้อกองทุนที่นำมาใช้สิทธิลดหย่อนต้องเป็นเงินที่ซื้อเองเท่านั้น ไม่นับรวมเงินที่นายจ้างสมทบให้ เช่นทั้งปีซื้อกองทุนไป 100,000 บาท เป็นเงินตัวเอง 60,000 บาท นายจ้างสมทบ 40,000 บาท จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แค่ 60,000 บาทที่เป็นเงินของตนเอง

3.2.3 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)/ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน :

สองกองทุนนี้ใช้เกณฑ์เดียวกันในการคิดค่าลดหย่อนภาษี คือ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี (คิดแยกแต่ละกองทุน)

3.2.4 กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) :

ลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง สูงสุดได้ปีละไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนตั้งแต่ข้อ 3.2.1-3.2.5 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3.2.5 กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) :

ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท มีเงื่อนไข คือ ต้องถือกองทุนไว้อย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี และเมื่อรวมกองทุนทั้ง 5 กองทุนแล้ว สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาท 

อ่านสิทธิลดหย่อนภาษี เพิ่มเติม

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกัน

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่ 4 ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่ 5 ลดหย่อนภาษีจากการบริจาค

ที่มา: aommoney.com/ itax.in.th/ rd.go.th