มินิมอลลิสม์ (Minimalism) หรือ มินิมอล (Minimal) เป็นคำที่คนส่วนใหญ่เริ่มได้ยินมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระแสสังคมที่หลายคนรับเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ หลายครั้งที่เมื่อพูดถึงคำว่ามินิมอล ก็มักจะมีภาพจำเป็นการแต่งกาย การตกแต่งบ้านแบบสไตล์ของชาวญี่ปุ่น หรือรูปแบบสินค้าแบรนด์ต่างๆ ความจริงแล้ว “มินิมอล” ที่เราเห็นอยู่ในงานดีไซน์สินค้านั้น กลับเป็นเพียงการประยุกต์เอาหลักการพื้นฐานของมินิมอลมาใช้

‘มินิมอล’ มาจากไหน แท้จริงคืออะไร?

มินิมอล Minimal

มินิมอล (Minimal) หรือ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) เป็นกระแสหนึ่งของกลุ่มศิลปินในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 กระแสนี้เกิดจากความเบื่อหน่ายกับกระแสงานศิลป์แบบ Abstract Expressionism ซึ่งเจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลมากในอเมริกายุคนั้น ศิลปะแบบ Abstract Expressionist เป็นการสะบัดสีสันลงในงาน เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก แต่ศิลปะแบบมินิมอลลิสต์ เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด ตัดทอนสิ่งอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น และแสดงออกถึงการมีอยู่ตามความที่เป็นจริงแบบตรงไปตรงมา วัตถุทรงกลม ก็คือทรงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัสก็คือ สี่เหลี่ยมจัตุรัส

นอกจากการมีอิทธิพลต่อเหล่าศิลปินที่ทำงานศิลปะแล้ว กระแสมินิมอล ยังกระจายไปยังงานศิลปะด้านอื่นๆ ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การทำอาหาร จนกลายมาเป็นหลักการในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากวิถีการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่มีการผสมผสานแนวคิดแบบเซนเข้าไปด้วย

การดำเนินชีวิตโดยยึดหลักมินิมอล จริงๆ แล้คือ ความประหยัด และการตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป มีของใช้เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ และมีอย่างละชิ้น หรือตามจำนวนที่ต้องใช้งานจริง

คนญี่ปุ่นในยุคหลังๆ เริ่มนำวิถีการดำเนินชีวิตแบบมินิมอลมาปรับใช้กับตัวเอง เนื่องจากความไม่แน่นอนในชีวิตที่มากขึ้น ทั้งจากภัยพิบัติ และปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ความไม่แน่นอนในชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเสมอ ดังนั้นการต้องเสียเงินหรือเสียพื้นที่ไปกับการจัดเก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็น จึงคงต้องตัดทิ้งไป

‘สไตล์มินิมอล’ กับ ‘หลักการมินิมอล’ ในการดำเนินชีวิตต่างกันอย่างไร?

สไตล์มินิมอล ถูกนำมาใช้กับงานศิลปะ หรือการผลิตสินค้าที่มีดีไซน์แบบมินิมอล ซึ่งหมายถึงการลดทอนสีสัน ลดทอนรูปทรง ให้ดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน สีสันแบบขาว ดำ หรือสีเอิร์ธโทน สินค้าต่างๆ ที่ถูกดีไซน์ให้เป็นสไตล์มินิมอล มีตั้งแต่เครื่องเขียน ของใช้ในครัวไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแบรนด์ที่เราคุ้นตาคือ Apple ก็ใช้ดีไซน์แบบมินิมอล

ทั้งนี้หากคุณซื้อสินค้าที่เป็นสไตล์มินิมอล แต่ซื้อมากเกินความจำเป็น ก็จะกลายเป็นสิ่งตรงข้ามกับหลักการมินิมอลในชีวิตประจำวัน เนื่องจากขัดกับหลักความประหยัด และการมีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นนั่นเอง

ใช้ชีวิตแบบ ‘มินิมอล’ ดีอย่างไร?

มินิมอล Minimal

ใช้ชีวิตแบบมินิมอลช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า

แน่นอนว่าหากเรายึดหลักการของมินิมอล คือ ลดทอนหรือละทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็น ย่อมทำให้เราไม่ต้องเสียเงินไปกับของกระจุกระจิก ไม่ต้องเสียเงินกับของที่มีอยู่แล้ว หรือของที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อนที่เราจะซื้ออะไรซักชิ้น ลองถามตัวเองว่าจำเป็นกับตัวเราหรือไม่? ของมันต้องมีจริงมั้ย? หรือซื้อมาแล้วจะได้ใช้จริงๆ หรือเปล่า?

มินิมอลช่วยคืนพื้นที่ให้ชีวิต

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการใช้ชีวิตของคนเมือง หลายๆ คนเช่าหอพัก อพาร์ตเมนท์ คอนโดฯ หรือแม้แต่คนที่มีคอนโดฯเป็นของตัวเองก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ ข้อจำกัดของพื้นที่ เมื่อเราใช้หลักมินิมอลในการเลือกซื้อของ ทำให้เรามีเฉพาะของที่จำเป็น ไม่ต้องเสียพื้นที่ไปกับการจัดเก็บของที่เราไม่ได้ใช้ ไม่ต้องเสียเงินซื้อตู้เพื่อเก็บของที่ไม่จำเป็น ทำให้รู้สึกถึงที่ว่างมากขึ้นในพื้นที่กำจัดของเรา หรือแม้แต่หาห้องพักที่เล็กลง ได้ราคาถูกลง เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเก็บของที่ไม่จำเป็น

ใช้ชีวิตแบบมินิมอลช่วยลดความกังวล

เมื่อเรามีของน้อยชิ้น ความกังวลในวัตถุสิ่งของที่เป็นของเราก็น้อยลง ไม่ต้องดูแลมาก ไม่ต้องกลัวว่าของจะหาย ไม่ต้องคิดว่าของเหล่านี้จะเสื่อมเมื่อไหร่ ยังใช้ได้อยู่ไหม ทำยังไงให้ใช้ได้คุ้ม ซื้อมาจะคุ้มเงินไหม คำถามต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวกับวัตถุที่เราครอบครองทำให้เรากังวล การทิ้งสิ่งของไม่จำเป็น ย่อมทำให้เราคลายกังวลนั่นเอง

มินิมอลช่วยให้เข้าใจความ “สำคัญ” และ “คุณค่า”

ในระหว่างการใช้ชีวิตแบบมินิมอล เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเพื่อหาความสำคัญและความจำเป็นของสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้เราสามารถแยกแยะความต้องการ และความสำคัญออกจากกัน เมื่อเราเจอความสำคัญของสิ่งสิ่งนั้นแล้ว เราก็จะรู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งสิ่งนั้นมากขึ้น เช่น คนที่ชอบซื้อหนังสือเยอะๆ แต่ไม่ได้อ่าน หากเลือกที่จะซื้อเฉพาะเล่มที่สำคัญจริงๆ เราจะพบถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนั้นเช่นกัน

ผลกระทบการใช้ชีวิตแบบ ‘มินิมอล’ สุดโต่ง

ถึงแม้หลักการดำเนินชีวิตแบบมินิมอลจะเป็นเรื่องที่ฟังดูดี ทั้งช่วยประหยัดเงิน ประหยัดพื้นที่และทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ในชีวิตได้ แต่ความสุดโต่งในการใช้ชีวิตแบบมินิมอล ส่งผลต่อหลายๆ ด้าน ส่วนแรกคือ ด้านเศรษฐกิจ หากทุกคนใช้หลักมินิมอลแบบสุดโต่ง ย่อมส่งผลต่อการบริโภคและอุปโภคในตลาด เกิดความฝืดเคืองด้านเศรษฐกิจ

อีกปัญหาของการใช้หลักมินิมอลแบบสุดโต่ง และใช้กับทุกๆ เรื่องในชีวิตแบบขาดความสมดุล ทำให้การดำเนินชีวิตอึดอัดมากเกินไป เพราะของบางอย่างที่เราซื้อ สามารถสร้างความสุขให้ชีวิต บางคนชอบสะสมโมเดลการ์ตูนที่ชอบ ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดซื้อ เพราะของเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจ เป็นความสุขทุกครั้งที่ได้เห็น การจะนำหลักการมินิมอลไปใช้ในชีวิต ควรนำไปใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไปมากกว่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะยึดหลักการอะไรในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหลักการมินิมอล ก็ควรจะมีความสมดุล หรือแม้แต่หลักการแม็กซิมอล (Maximal) คือซื้อทุกสิ่งอย่างแม้จะไม่จำเป็น หากสุดโต่งเกินไป ก็ทำให้เกิดปัญหา ความอึดอัดในการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน

อ่านบทความอื่นๆ หรือช้อปสินค้าจำเป็นได้ที่ OfficeMate Online Shop ช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท!

ข้อมูลจาก: estopolis.com/ themomentum.co/ adaybulletin.com