ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของฟรีแลนซ์ (Freelance) มือใหม่ คือ เมื่อได้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้ว่าจ้างแล้ว ก็สรุปเอาเองว่านั่นคือการจ่ายภาษีเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วนั่นเป็นเพียงการส่งหลักฐานการจ่ายเงินของผู้ว่าจ้างไปยังสรรพากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าการจ่ายภาษีจะเสร็จสิ้น เพราะเมื่อสรุปรายได้สิ้นปี ฟรีแลนซ์อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% หรืออาจจะได้เงินภาษี 3% ที่จ่ายไปแล้วคืนก็ได้

และอีกประการหนึ่ง คือ การที่ฟรีแลนซ์มือใหม่คิดว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในระบบบริษัท คิดไปเองว่าสรรพากรจะตรวจสอบหาตัวตนไม่เจอ นั่นเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะ เมื่อไหร่ที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายออกมา นั่นแสดงว่า ข้อมูลตัวตนของฟรีแลนซ์ได้วิ่งเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลของสรรพากรเรียบร้อยแล้ว แม้ฟรีแลนซ์จะอยู่ส่วนไหนของโลก รับประกันว่าสรรพากรหาเจอแน่นอน!

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วฟรีแลนซ์มือใหม่คงจะสงสัยแล้วว่าเจ้าตัวหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี่มันคืออะไร ทำไมจึงต้องเข้ามาพัวพันกับฟรีแลนซ์อย่างแยกกันไม่ออกอย่างนี้

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คืออะไร?

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ หนังสือที่ออกโดยผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ที่เป็นผู้ว่าจ้างหรือจ่ายเงินได้ให้กับผู้รับจ้างทำงานให้ ตามกฎหมายนั้นผู้ว่าจ้างจะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เสมอเมื่อได้จ่ายเงินออกไป หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นหนังสือรับรองฯ ที่แจ้งเงินภาษีของผู้ถูกหักภาษีของผู้รับจ้างหรือผู้มีรายได้นั่นเอง

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำคัญกับฟรีแลนซ์อย่างไร?

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเฉพาะฟรีแลนซ์เท่านั้นนะ เพราะ มันเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับผู้มีรายได้ทุกคนรวมถึงพนักงานประจำด้วย พนักงานประจำถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเป็นประจำทุกเดือนเหมือนกัน แต่ที่พนักงานประจำไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการยื่นเสียภาษี นั่นก็เพราะว่าทางบริษัทหรือองค์กรที่จ้างงานจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลตัวเลขรายได้ เงินภาษี เงินประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ให้พนักงานในองค์กรอยู่แล้ว โดยจะสรุปเป็นตัวเลขให้เมื่อสิ้นปี แต่สำหรับฟรีแลนซ์นั้นดูเหมือนว่าจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมากเป็นพิเศษ เพราะว่าฟรีแลนซ์ต้องเป็นคนเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ และภาษีเองจากข้อมูลในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ผู้ว่าจ้างแต่ละรายได้มอบให้ เมื่อได้รับค่าจ้างของงานแต่ละชิ้นงานไป นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฟรีแลนซ์จึงต้องทำความรู้จักกับหนังสือรับรองฯ ให้มากกว่าพนักงานประจำ

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นหลักฐานสำคัญของชาวฟรีแลนซ์ที่ช่วยยืนยันกับสรรพากรในช่วงยื่นภาษี ข้อมูลในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ฟรีแลนซ์มือใหม่ควรตรวจสอบให้ถูกต้องเสมอคือ ชื่อ-นามสกุล ต้องให้ตรงกับทะเบียนบ้าน และจดบันทึกชื่อของผู้ว่าจ้างไว้ทุกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เผื่อกรณีที่เจอความผิดพลาดจะได้กลับไปขอความช่วยเหลือยังผู้ว่าจ้างได้

ในฐานะของเจ้าของธุรกิจ บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือคณะบุคคลที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ (ผู้ว่าจ้าง) ให้กับฟรีแลนซ์นั้น มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกครั้งที่จ่ายเงินได้ โดยตามมาตรา 50 ทวิ ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือฟรีแลนซ์สองฉบับ มีข้อความตรงกัน สำหรับการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ฟรีแลนซ์นั้น จะต้องออกให้ทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต่างจากการออกหนังสือรับรองฯ ให้กับพนักงานประจำที่ออกได้ไม่เกิน 15 กุมภาพันธ์ของปีถัดไป

ฟรีแลนซ์มือใหม่คงเห็นแล้วว่าหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมีความสำคัญขนาดไหน เมื่อได้รับค่าจ้างก็อย่าลืมเรียกรับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ว่าจ้างทุกครั้งนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการยื่นภาษีของตัวฟรีแลนซ์เอง

เมื่อได้รับค่าจ้าง ฟรีแลนซ์ก็อย่าลืมเรียกรับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ว่าจ้างทุกครั้ง!

ติดตามบทความเกี่ยวกับภาษี ทั้งมือใหม่หัดยื่นภาษี ภาษีป้าย การจดทะเบียนบริษัท การลดหย่อนภาษี และอื่นๆ ได้ที่ www.officemate.co.th/blog/ หรือเข้ามาช้อปสินค้ามากมายหลากหลายรายการ พร้อมรับส่วนลดสุดพิเศษ บริการส่งฟรี และเครดิตเทอม 30 วัน ได้เลยที่ เว็บไซต์ OfficeMate