มนุษย์เงินเดือนเริ่มหันมาขายของออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะซื้อมาขายไปหรือผลิตสินค้าขึ้นเอง ในขณะที่รายได้กำลังไปได้สวยแต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าขายของออนไลน์ก็ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือไม่รู้วิธีจัดการกับเรื่องภาษีว่าต้องทำอย่างไร หากต้องการให้ธุรกิจดำเนินต่อไปโดยไร้ความกังวลและไม่สะดุด ลองสละเวลาสักนิดเพื่อทำความเข้าใจเรื่องภาษี แล้วจะรู้ว่าไม่ยากอย่างที่คิด

ยื่นภาษี ไม่ได้แปลว่าต้องเสียภาษีเสมอไป

การเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ การขายของออนไลน์แล้วเกิดรายได้ก็ถือว่าเป็นผู้มีรายได้อีกรูปแบบหนึ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องยื่นภาษีตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรไว้ว่า ถ้ามีรายได้ต่อปีเกิน 60,000 บาทต่อปีภาษีต้องยื่นภาษีทุกกรณี แม้ว่าสุดท้ายคำนวณออกมาแล้วจะไม่เสียภาษีก็ตาม  นี่จึงเป็นอีกจุดที่คนขายของออนไลน์มักไม่เข้าใจ และทำพลาดอยู่เสมอ จริงๆ แล้วส่วนที่ควรกังวลคือเรื่องเบี้ยปรับที่จะตามมามากกว่าการกลัวว่าต้องเสียภาษี เพราะหากตรวจสอบเจอเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ธุรกิจล้มทั้งยืนก็เป็นได้

ขายของออนไลน์พร้อมทำงานประจำ ต้องยื่นภาษีประเภทใด

โดยปกติทำงานประจำก็ต้องยื่นภาษีหากต้องเสียภาษี ก็เป็นการเสียภาษีในรูปแบบเงินได้บุคคลธรรมดา และเมื่อมีรายได้เพิ่มมาจากการ “ขายของออนไลน์” ก็เป็นการเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดาเช่นกัน ถือว่าเป็นรายได้ของบุคคลคนเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ประเภทของรายได้ และมีผลในส่วนของวิธีการหักค่าใช้จ่าย ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รายได้จากเงินเดือน คือรายได้ประเภทที่ 1 ส่วนรายได้จากการขายของออนไลน์ คือเป็นรายได้ประเภทที่ 8 เป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีจึงต้องยื่นภาษี ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่ารายได้ประเภทนี้จะต้องเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ

  • ยื่นภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. เป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยที่ค่าลดหย่อน บางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย
  • ยื่นภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม : เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท และหลักเกณฑ์หักค่าใช้จ่าย

การคำนวณภาษีขายของออนไลน์สำหรับมนุษย์เงินเดือน

มนุษย์เงินเดือนที่ทำการขายของออนไลน์ จะเสียภาษีในรูปแบบ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” การคำนวณภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา มี 2 วิธี คือ

วิธีแรก คำนวณภาษีแบบขั้นบันได

หลักการ: (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

สำหรับพนักงานประจำที่ขายของออนไลน์ไปด้วย ถือว่ามีรายได้ 2 ประเภท แต่ละประเภทนำมาหักค่าใช้จ่ายต่างกัน

  1. รายได้จากงานประจำ (ประเภทที่ 1) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  2. รายได้จากขายของออนไลน์ (ประเภทที่ 8) มี 2 วิธี
  • วิธีแรก หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ใช้ได้ในกรณีที่ขายของออนไลน์แบบซื้อของมาขาย
  • วิธีที่สอง หักค่าใช้จ่ายตามจริง ใช้ในกรณีที่ผลิตสินค้าเอง แต่วิธีนี้จะต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเก็บเอกสารอย่างรอบคอบ

ตัวอย่างการคำนวณหักค่าใช้จ่าย  

เงินเดือน : 30,000 / เดือน รายได้ต่อปี 30,000 x 12 = 360,000 หักค่าใช้จ่าย 360,000-100,000 = 260,000 บาท     

เงินจากการขายของออนไลน์ : 70,000 / เดือน รายได้ต่อปี 70,000 x 12 = 840,000 หักค่าใช้จ่าย 60% 840,000 – 504,000 = 336,000 บาท

หลังจากนั้นก็ให้นำเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากทั้ง 2 ประเภทมารวมกัน แล้วค่อยนำไปหักค่าลดหย่อน (260,000+336,000 = 596,000 บาท) ให้นำ (596,000 – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

อ่านเพิ่มเติม : อัพเดทล่าสุด! วิธีคํานวณภาษี พร้อมรายการลดหย่อนภาษี 2563 แบบโพสเดียวจบ!

วิธีที่สอง คำนวณภาษีแบบเหมา

วิธีการ คือ เงินได้ x 0.5%

แต่จะสามารถใช้วิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทต่อปี

*สำหรับใครที่มีรายที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาท (เข้าเกณฑ์วิธีที่ 2) ต้องคำนวณดูทั้ง วิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 ควบคู่กันไป วิธีไหนได้ภาษีที่ต้องจ่ายมากกว่า ก็ให้ใช้วิธีนั้นในการคำนวณ   

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับขายของออนไลน์

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีอากรอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ แต่เหตุผลที่คนขายของออนไลน์ต้องให้ความสนใจคือ กฎหมายกำหนดว่า หากธุรกิจที่มีเงินได้ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สามารถจดได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยจดภายใน 30 วันหลังจากธุรกิจมีรายได้ครบ 1.8 ล้านบาทของปีนั้น หรือจดไว้ก่อนก็ได้ หากคาดการณ์แล้วธุรกิจมีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาทแน่นอนในปีนั้น

ขายของออนไลน์ ถ้าจดทะเบียนบริษัทจะช่วยประหยัดภาษีหรือไม่

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์ หากไม่ได้มีการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท จะถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างที่กล่าวมา แต่การเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดามีข้อเสียคือ เมื่อรายได้สูง อัตราภาษีก็สูงตามไปด้วย จึงมีหลายคนที่คิดจะประหยัดภาษีด้วยการหันไปจดทะเบียนบริษัท (นิติบุคคล) เพราะเห็นว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นสูงสุดแค่ 20% ในขณะที่บุคคลธรรมดาเสียภาษีสูงสุดที่ 35% (เงินได้พึงประเมินสุทธิตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป) รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากภาครัฐโดยเฉพาะธุรกิจ SME แต่ต้องไม่ลืมในส่วนของค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างเช่น ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าจัดทำเอกสาร เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีที่ประหยัดได้จะคุ้มหรือไม่? และยังมีอีกหลายปัจจัยในการพิจารณา ซึ่งคนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคือคนขายของออนไลน์เองนั่นแหละ

อ่านเพิ่มเติม : สัญญาณชี้ชัด ควรจดทะเบียนบริษัทแล้วรึยัง?

ภาษีไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปสำหรับคนขายของออนไลน์ เราควรหันมาใส่ใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้ที่พ.ร.บ.e-Payment จ่อจะเริ่มใช้จริงแล้วด้วย ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นจากการเข้าใจในธุรกิจที่ทำ รู้ว่ามีรายได้เท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง กำไรเป็นอย่างไร กระแสเงินสดมีหรือไม่ ช่วยให้ง่ายต่อการวางแผนภาษี เพราะการทำในสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่แรกจะช่วยขจัดความกังวลที่อาจนำมาซึ่งการสูญเสียที่ยากจะปฏิเสธได้ในอนาคต 

จ่ายภาษีแล้ว ก็ได้เวลารันธุรกิจกันต่อ ช้อปไอเทมจำเป็นที่ร้านขายของออนไลน์ต้องมี! ได้เลยที่ เว็บไซต์ OfficeMate

บทความที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ.e-Payment ผ่านสนช. ผู้ขายของออนไลน์เร่งทำความเข้าใจ ก่อนบังคับใช้จริง!

ที่มา: aommoney.com