ถ้าให้พูดถึงเวลาในหนึ่งวันสำหรับพนักงานออฟฟิศ พวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในออฟฟิศประมาณวันละ 8 ชั่วโมง หรือราวๆ 1 ใน 3 ของวัน นี่ไม่นับรวมหลายๆ คนที่ทำ OT หรือมีงานด่วนต้องสะสางให้เสร็จ ก็บวกเวลาอยู่ในออฟฟิศเพิ่มไปอีก ทำให้การออกแบบพื้นที่ใช้สอยในออฟฟิศเป็นส่วนสำคัญ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและคุณภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน

เมื่อพูดถึงออฟฟิศในอดีตที่เราพอจะนึกภาพได้ คงเป็นพื้นที่กว้างที่แบ่งแผนกต่างๆ ออกจากกันด้วยพาทิชั่นสูง และแบ่งโต๊ะของพนักงานแต่ละคนด้วยพาทิชั่นอีกที ต่างคนต่างนั่งทำงานในพื้นที่ของตนเอง พื้นที่อื่นๆ ของออฟฟิศก็คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างบริเวณโถงต้อนรับ ที่มีการจัดโต๊ะรีเซ็ปชั่นอย่างเป็นทางการ ห้องประชุมที่ภายในมีโต๊ะตัวใหญ่ทอดตัวยาวตามแนวห้อง ยังไม่รวมเฟอร์นิเจอร์และสีสันที่เอื้อต่อการใช้งาน แต่ไม่ได้เอื้อต่อความรู้สึกของพนักงานซักเท่าไหร่

กาลเวลาเปลี่ยน กับพาทิชั่นที่เลือนหายไป

เวลาเปลี่ยน อะไรๆ ก็เปลี่ยน รวมไปถึงแนวทางการออกแบบตกแต่งออฟฟิศ ด้วยแนวคิดที่ผู้ประกอบการหรือเหล่ากรรมการบริษัทต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนร่วมงานในขณะทำงาน และต้องการให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน จึงเกิดเป็นแนวการออกแบบพื้นที่ที่เรียกว่า Open-Office plan ที่เปิดโล่งพื้นที่ออฟฟิศทุกมุม ทะลายกำแพงพาทิชั่นที่เคยกั้นพนักงานแต่ละคนแต่ละแผนก ทำให้รูปแบบออฟฟิศดูเข้าถึงกันมากขึ้น กำแพง ผนัง ประตู มีน้อยลง หรือกั้นด้วยกระจกที่ยังคงสามารถมองเห็นกันได้ แน่นอนว่าพาทิชั่นก็เลือนหายไปเช่นกัน

ออฟฟิศแบบเปิดโล่ง

ออฟฟิศเปิดโล่ง บทสรุปความต้องการของพนักงานจริงหรือไม่

จากการศึกษา และทำการสังเกตจากหลากหลายแห่ง ต่างระบุว่า “พื้นที่ทำงานที่เปิดโล่งไปหมด” ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการในการทำงานของเหล่าพนักงานออฟฟิศอย่างแท้จริง มีการศึกษาหนึ่งได้ลองสังเกตพฤติกรรมของพนักงานออฟฟิศ ก่อนและหลังการปรับปรุงพื้นที่ทำงานให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งถึงกัน หลังการรีโนเวทกลับพบว่า พนักงานมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง แต่การส่งเมล์เพื่อคุยงานกันกลับเพิ่มมากขึ้น และหลายคนกลับพยายามแยกตัวเพื่อหาความเป็นส่วนตัวให้ตนเองมากขึ้นด้วย นั่นแปลว่า พื้นที่ออฟฟิศแบบเปิดโล่งไม่ใช่คำตอบ เพราะทุกคนยังคงต้องการความเป็นส่วนตัว และที่น่าเป็นห่วงคือ ภาพรวมของผลลัพธ์การทำงานมีเปอร์เซ็นต์ที่ลดลง

แย่ยิ่งไปกว่าเดิม สำหรับบางออฟฟิศที่เทรวมพนักงานหลายแผนกให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน อย่างฝ่ายขาย การตลาด ไอที ครีเอทีฟทั้งหลาย เนื่องจากแต่ละแผนกมีความต้องการมุมสงบไม่เท่ากัน บางแผนกใช้โทรศัพท์บ่อย บางแผนกต้องการสมาธิในการคิดงาน และบางคนบอกว่า ไม่ชอบเวลามีคนเดินผ่านหลัง รู้สึกไม่เป็นส่วนตัวและอึดอัด เหมือนถูกจ้องมองหน้าจอทำงานของตัวเองทุกครั้ง และนำไปสู่การเรียกร้องหาพาทิชั่นและมุมส่วนตัวให้กลับคืนมา

ทวงคืนพาทิชั่น

เป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายๆ บริษัทต่างหันมาใส่ใจพนักงานมากขึ้น แต่จะดีกว่าไหมถ้าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นส่งผลดีและเป็นประโยชน์จริงๆ แก่ทั้งพนักงานและบริษัทเอง อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า พื้นที่ทำงานที่เปิดโล่ง ไม่ได้ตอบโจทย์พนักงานทุกคน และไม่ได้ใช้ได้กับทุกมุมของออฟฟิศเสมอไป แต่ออฟฟิศเปิดโล่งก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน ด้วยบรรยากาศที่เข้าถึงกันและกันมากขึ้น มองเห็นกันง่ายขึ้น และติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น ทั้งระหว่างพนักงานกับพนักงานด้วยกันเอง และพนักงานกับเหล่าหัวหน้า หรือผู้บริหาร ทำให้ภาพรวมขององค์กรดูครึกครื้นและเอคทีฟมากขึ้น รวมถึงมีเสียงสะท้อนจากพนักงานบางออฟฟิศที่รู้สึกว่า ตัวเองรู้สึกชอบการทำงานในพื้นที่เปิดโล่ง และรู้สึกดีที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน บรรยากาศในที่ทำงานก็ผ่อนคลายตามไปด้วย

ในเมื่อมีเสียงสะท้อนทั้งสองด้าน และเพราะออฟฟิศเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนใช้งานร่วมกัน แต่ละคนก็ต่างหน้าที่ต่างนิสัยและความต้องการก็ต่างกันออกไป ดังนั้นการเจอกันตรงกลางจึงเป็นทางออกที่ดูเป็นไปได้มากที่สุด พาทิชั่นจึงควรถูกนำกลับมาใช้ แต่ใช้เพียงบางส่วนของพื้นที่ และไม่ปิดทึบเหมือนแต่ก่อน

พาทิชั่น_ออฟฟิศ2

ข้อดีที่ยังต้องมีพาทิชั่น

บ่งบอกระดับขั้นตำแหน่งงาน

ด้วยสังคมการทำงานของชาวเอเชียอย่างเราๆ ยังคงให้ความสำคัญกับระดับขั้นตำแหน่งงานอยู่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีรากลึกมาจากอดีต ทำให้การจัดสรรพื้นที่แบ่งโซนส่วนตัวให้กับหัวหน้างาน ยังคงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ใน Floor Plan ของออฟฟิศหลายๆ แห่ง พาทิชั่นที่สามารถกั้นพื้นที่เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องสร้างผนังให้ลำบาก สามารถรองรับความต้องการจุดนี้ และไม่ได้ปิดทึบเกินไป จนทำให้พนักงานคนอื่นๆ เข้าถึงได้ยาก

แบ่งสัดส่วนพื้นที่

อย่างที่บอกว่าการเทรวมพนักงานทุกแผนกเข้าหากัน ไม่ใช่ทางออกเสมอไป ด้วยลักษณะงานที่เฉพาะเจาะจง การกั้นแผนกต่างๆ ด้วยพาทิชั่นจะทำให้เกิดบรรยากาศเฉพาะของแผนกนั้นๆ อย่างเช่นบางแผนกที่ต้องการความสงบในการทำงาน แยกออกจากแผนกที่มีการใช้โทรศัพท์ติดต่องานบ่อยๆ เป็นต้น

ให้ความเป็นส่วนตัวแก่พนักงาน

นอกจากพาทิชั่นที่กั้นพื้นที่โซนใหญ่ๆ แล้ว พาทิชั่นขนาดเล็กที่กั้นโต๊ะของพนักงานแต่ละคนก็ยังมีความจำเป็น แต่ไม่ควรสูงเกินไป เพื่อให้เกิดพื้นที่ส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็สามารถพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้ ดีกว่าโต๊ะที่เปิดโล่ง ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกถูกจับจ้องอยู่ตลอดเวลา

กั้นได้ เปลี่ยนก็ง่าย

อีกหนึ่งข้อดีของพาทิชั่น นอกจากสร้างความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังง่ายต่อการติดตั้ง รื้อถอน หรือเปลี่ยนแบบ Floor Plan ก็ง่ายไม่ต้องใช้เวลานาน และไม่ทำให้พื้นหรือเพดานเกิดรอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับออฟฟิศเล็กๆ ที่มีการเช่าพื้นที่เพื่อทำสำนักงาน

พาทิชั่น_ออฟฟิศ3

แนวการออกแบบที่เอื้อการต่อทำงาน

แนวการออกแบบสำนักงานในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น รวมทั้งการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้การออกแบบพื้นที่ทำงานในออฟฟิศคำนึงถึงการใช้งานที่ตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยี เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพนักงาน และทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อความพึงพอใจของตัวพนักงานเอง และประสิทธิภาพของผลงานต่อองค์กร

แต่ด้วยผลสำรวจทั้งหลายที่ออกมาบอกว่า การออกแบบทุกอย่างแบบเปิดโล่งมันเอ้าท์ไปแล้ว ดังนั้นออฟฟิศไหนที่กำลังมีแผนจะรีโนเวทออฟฟิศใหม่ ลองใส่พื้นที่ 3 แบบนี้เข้าไป หนึ่งคือ พื้นที่ที่ทุกคนสามารถแชร์สิ่งต่างๆ ด้วยกันได้ ทำกิจกรรมร่วมกัน สองคือ พื้นที่ทำงานที่เป็นส่วนตัว แต่ไม่ถึงขั้นปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียว อย่างโต๊ะทำงานพร้อมพาทิชั่นไม่สูงมาก และพื้นที่ส่วนตั๊วส่วนตัว อย่างมุมคุยโทรศัพท์ ตู้ทำงานสำหรับวันที่ต้องการความสงบแบบสุดๆ เพื่อตอบสนองทุกโมเม้นต์ของคนทำงานอย่างแท้จริง และอย่าลืมใส่อุปกรณ์ที่ตอบรับกับยุค 4.0 รวมทั้งแนวการดีไซต์ที่น่าสนใจลงได้ด้วยนะคะ

ต่อให้ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลแค่ไหน และโลกโซเชียลจะมีบทบาทมากเพียงใดก็ตาม ซึ่งเราจะเห็นว่าอะไรๆ ก็ต้องแชร์ แต่พื้นที่การทำงานที่เปิดโล่ง หรือ Share space กลับไม่ตอบโจทย์คนทำงานอย่างเราๆ ต่อให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการมีสังคม แต่ทุกคนยังต้องการมีพื้นที่ส่วนตัว ดังนั้นหน้าที่ของพาทิชั่นยังไม่เลือนหายไปอยู่ดี

ส่วนใครที่ต้องการซื้อพาทิชั่น สามารถเข้ามาดูได้ที่ OfficeMate พร้อมทั้งบริการจัดส่งฟรี*ถึงออฟฟิศอีกด้วยนะคะ

ข้อมูลจาก: techcrunch.com/ vogue.com/ m.signalvnoise.com