ธุรกิจขายของออนไลน์สามารถทำเงินได้จำนวนมาก เป็นทั้งอาชีพเสริมสำหรับหลายๆ คน ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องออกจากงานประจำ และยังเป็นอาชีพหลักของคนอีกจำนวนมาก สำหรับธุรกิจขายของออนไลน์ ก่อนหน้านี้อยู่นอกระบบภาษีซะส่วนใหญ่ จนเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา พ.ร.บ.แก้ไขใหม่เกี่ยวกับ e-Payment ได้ผ่านสำนักงานนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อย เรียกว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (e-Payment) ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์ต่างตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการยื่นภาษีให้กรมสรรพากร รวมทั้งเกิดคำถามมากมายตามมา เรามาทำความเข้าใจ “พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (e-Payment)” ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

พ.ร.บ.e-Payment คืออะไร

พ.ร.บ.e-Payment หรือหลายคนเรียก พ.ร.บ.ขายของออนไลน์ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือการเปิดเผยธุรกรรมทางการเงินที่เป็นลักษณะ e-Payment ทั้ง Internet Banking, Mobile Banking และช่องทางอื่นๆ โดยผู้มีหน้าที่ส่งรายงานธุรกรรมทางการเงินให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ไม่ใช้ประชาชนผู้ใช้บริการ หรือพ่อค้าแม้ค้าที่ขายของออนไลน์ แต่ผู้มีหน้าที่ส่งคือ ธนาคาร สถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการ e-Wallet หากตรวจสอบแล้วบัญชีของใครเข้าข่ายต้องเสียภาษี ก็จะทำการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยตรง

บัญชีการเงินที่เข้าข่ายต้องส่งให้กรมสรรพากร

บัญชีทางการเงินที่เข้าข่ายต้องส่งให้กรมสรรพากรพิจารณามีด้วยกัน 2 ประเภท เรียกว่า ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ

  • ประเภทแรกคือ บัญชีที่มีการรับโอนเงิน-ฝากเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และยอดเงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป (ต้องถึงเกณฑ์ทั้ง 2 ส่วน)
  • ประเภทที่สองคือ มีการรับโอนเงิน หรือฝากเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป

*หากทางธนาคารพบว่าบัญชีใดเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งจาก 2 ข้อข้างบน จะทำการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร เพื่อนำไปเข้าระบบวิเคราะห์ทางการเงินของกรมสรรพากรอีกที

*ธุรกรรมดังกล่าว ไม่นับรวมการโอนเข้าบัญชีตนเองในชื่อเดียวกัน และนับเฉพาะการรับเงินเข้าเท่านั้น ไม่รวมการโอนออก หรือเบิดถอน

กรมสรรพากร เข้าถึงข้อมูลอะไรบ้าง

ขายของออนไลน์_พ.ร.บ.e-Payment2

ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้ไป เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมด้านการเงินจากบัญชีที่เข้าข่ายคือ ชื่อ-สกุลเจ้าของบัญชี เลขบัตรประจำตัวประชาชน จำนวนครั้งที่ฝาก-รับโอนเข้าบัญชี และจำนวนเงินที่ฝาก-รับโอนเข้าบัญชี รวมทั้งสิ้น 4 ส่วนด้วยกัน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนอื่น เช่น ชื่อ-สกุลผู้โอนเข้า เป็นต้น

พ.ร.บ.e-Payment เริ่มใช้เมื่อไหร่

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (e-Payment) ซึ่งผ่านสนช.สิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงคือ 1 ม.ค. 2563 ดังนั้นการเสียภาษีจะเกิดขึ้นในปี 2564 (สำหรับภาษีรอบสิ้นปี) และเมื่อบังคับใช้แล้ว ไม่มีผลย้อนหลังสำหรับปีก่อนหน้า

ประโยชน์ที่ได้จากพ.ร.บ.e-Payment

ในปัจจุบัน ระบบการจ่ายเงินแบบ e-Payment เพิ่มความสะดวกสบายให้กับทุกคนมากขึ้น ทำให้ผู้ขายของออนไลน์เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อมีพ.ร.บ.e-Payment จึงทำให้มีความน่าเชื่อถือและโปรงใส่ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขอสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจในอนาคตได้ หากปฏิบัติตามกฎหมายด้านภาษีในส่วนนี้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ทางกรมสรรพากรมองว่า การแก้ไขกฎหมายจุดนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีเงินได้ และรองรับการทำธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้มุ่งเน้นที่ผู้ขายของออนไลน์เท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกคน

ไขข้อสงสัยผู้ขายของออนไลน์เกี่ยวกับพ.ร.บ.e-Payment

คำถาม: หากค้าขายได้เงินเยอะ ต้องนำไปคิดภาษีทั้งหมดใช่หรือไม่

คำตอบ: ไม่ใช่ หลักการคือ หากบัญชีธนาคารของคุณเข้าข่ายเงื่อนไข 1 ใน 2 ข้อที่บอกไว้ ทางธนาคารจะส่งข้อมูลไปให้กรมสรรพากรโดยตรงเพื่อพิจารณา แต่จะเสียภาษีหรือไม่ จะต้องดูที่ กำไร” ของคุณด้วย ข้อมูลที่ทางกรมสรรพากรได้ไป ไม่สามารถนำมาคิดภาษีเพื่อเรียกเก็บได้ แต่ต้องดูเอกสารค่าใช้จ่ายและส่วนอื่นๆ ประกอบกัน เพื่อนำมาคำนวณภาษีอีกที

*กำไรคือ (เงินได้-ต้นทุน) บางธุรกิจต้นทุนสูง แต่กำไรน้อย เมื่อนำมาคิดตามหลักเกณฑ์การคำนวณภาษี อาจจะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากกำไรเยอะ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหน่อยอื่นๆ แล้ว ผู้ประกอบการขายของออนไลน์ก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

สรุปพ.ร.บ.e-payment

พ.ร.บ.e-Payment ไม่ได้ทำให้เราเสียภาษีมากขึ้น และไม่ได้นำมาใช้รีดไถภาษีจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พ.ร.บ.e-Payment ทำให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีได้ง่ายขึ้น ผู้ที่อยู่นอกระบบภาษีก่อนหน้านี้ ก็เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น เพราะก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นหากทุกวันนี้ ผู้ขายของออนไลน์เสียภาษีถูกต้องอยู่แล้วก็ไม่มีผลกระทบอะไรค่ะ

นอกจากนี้การตรวจสอบบัญชีตามพ.ร.บ.e-Payment ยังทำให้ลดการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรในการพิจารณาเรียกเก็บภาษี หมายความว่าระบบเก็บภาษีจะมีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น เพราะใช้ Software ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินแทน

ผู้ขายของออนไลน์ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ขายของออนไลน์_พ.ร.บ.e-Payment

อย่างที่บอกไปว่าตามหลักกฎหมาย ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเมื่อเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ ดังนั้นเมื่อมีระการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน e-Payment ขึ้นมา ผู้ขายของออนไลน์จึงมีหน้าที่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ให้ถูกต้องครบถ้วน เก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ แนะนำให้ใช้บัญชีเดียวต่อธนาคารเพื่อง่ายสำหรับตนเองในการจัดทำบัญชี

ประเด็นที่สำคัญต่อมาคือ การวางแผนการเสียภาษี ในฐานะผู้ขายของออนไลน์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งทั้ง 2 แบบมีวิธีการคำนวณภาษีและอัตราภาษีที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องศึกษาว่าธุรกิจของเราควรอยู่ในรูปแบบใดให้เพื่อประหยัดภาษี

ขายของออนไลน์ในรูปแบบบุคคลธรรมดา

ผู้ขายของออนไลน์ที่อยู่ในรูปแบบของบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ที่ขายของออนไลน์ในปัจจุบัน ดังนั้นในส่วนของการคำนวณภาษี เงินได้จากการขายของออนไลน์ จะคิดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8

อ่านเพิ่มเติม: เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท และหลักเกณฑ์หักค่าใช้จ่าย

ขายของออนไลน์ในรูปแบบนิติบุคคล

ผู้ขายของออนไลน์ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หากธุรกิจทำรายได้ดี การเสียภาษีก็จะมากขึ้น ดังนั้นลองพิจารณาเพื่อลดภาษีลงโดยการทำธุรกิจขายของออนไลน์ในรูปแบบนิติบุคคล เพราะเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว เมื่อนำไปคูณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจเสียภาษีสูงกว่าการเสียภาษีในรูปของนิติบุคคลหรือบริษัท นอกจากนี้การเปลี่ยนมาขายของออนไลน์ในรูปแบบนิติบุคคล ยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการค้าในอนาคต

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะพิจารณาเพื่อมาขายของออนไลน์ในรูปแบบนิติบุคคล ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทั้งทุนจดทะเบียนบริษัท รายจ่ายในการทำบัญชี และอื่นๆ หากคุ้มค่า ก็แนะนำให้จดทะเบียนบริษัทดีกว่านะคะ   

นอกจากนี้เมื่ออยู่ในรูปของบริษัท อีกหนึ่งหลักเกณฑ์ที่ควรรู้คือ เมื่อบริษัทมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องจด Vat หรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วันนับจากวันที่รายได้ครบ 1.8 ล้านบาท หรือคาดว่ารายได้ของบริษัทจะถึง 1.8 ล้านบาทในปีนั้น ก็ให้ไปจดทะเบียนไว้ก่อน หรือรายได้ไม่ถึง แต่ต้องการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้บริษัทก็สามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม: 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่คนทำธุรกิจต้องอ่าน!

ย้ำอีกครั้งว่าหน้าที่ในการเสียภาษีเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือบริษัท(นิติบุคคล)

แต่ละแบบก็มีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันความเท่าเทียมในเรื่องการเสียภาษี อาจจะยังไม่ครบ 100% แต่ทางกรมสรรพากรก็มีความพยายามในการหาแนวทางเพื่อให้เข้าถึงทุกคน อย่างพ.ร.บ.e-Payment ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ไม่ได้จงใจรีดภาษีจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์เท่านั้น แต่บังคับใช้สำหรับทุกๆ คน หากเข้าใจเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ

ที่มา: greedisgoods.com/ rd.go.th/ flowaccount.com