ยังคงไม่ลดลงและมีทีท่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับฝุ่นละออง PM2.5 จนทำให้สถานศึกษาหลายแห่งประกาศหยุดทำการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งของทางกระทรวงศึกษาฯ เพื่อให้เด็กๆ ได้อยู่ภายในตัวอาคาร ลดการสูดดมเอาฝุ่นละออง PM2.5 เพราะฝุ่นละออง PM2.5 สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพเป็นทุนเดิม

ฝุ่นละออง PM2.5 คืออะไร และเกิดได้อย่างไร

ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กเกินกว่าสายตาเราจะมองเห็นได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายหากสูดดมเข้าไป คำว่า PM มาจาก Particulate Matter เป็นอนุภาคของแข็งและของเหลวขนาดเล็กในอากาศ ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในการตรวจจับ และ 2.5 คือ ขนาดของฝุ่นละอองมีหน่วยเป็นไมครอนหรือไมโครเมตร

ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้มีที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ท่อไอเสียยานพาหนะ การเผ่าไหม้ รวมไปถึงควันบุหรี่ที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเราอีกด้วย ทำให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีการสูบบุหรี่ ยิ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบของฝุ่นละออง PM2.5 ต่อเด็ก

ฝุ่นละอองpPM2.5_เด็ก3

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเหตุผลหลักที่ทำให้เด็กๆ ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองอย่างหนักเพราะเด็กมีการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ดูดซับฝุ่นเข้าไปได้มากกว่า อีกเหตุผลคือ เด็กๆ มักมีกิจกรรมนอกบ้าน อย่างการวิ่งเล่นบนสนามหรือการเล่นกีฬากลางแจ้ง

องค์การอนามัยโลกยังเปิดเผยอีกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีประมาณ 600,000 คน เสียชีวิตเพราะฝุ่นละอองและควันพิษ รวมทั้งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เมื่อสูดดมมลพิษและฝุ่นละอองในอากาศ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดด็กที่ออกมามีขนาดเล็ก น้ำหนักน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ฝุ่นพิษยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติมโตทางสมองและการเรียนรู้ของเด็ก เพิ่มอัตราการเกิดโรคหอบหืด และโรคมะเร็งในเด็ก ไม่หมดเท่านี้ เด็กที่สูดดมฝุ่นละอองและมลพิษมากๆ จะส่งผลให้เป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย ฝุ่นละอองเหล่านี้ไม่เพียงแต่มาจากแหล่งกำเนิดนอกบ้านและตัวอาคารท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นในบ้าน เช่น การใช้เชื้อเพลิงในการปรุงอาหาร และให้ความร้อนภายในบ้าน รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีบางอย่างในบ้านก็สามารถก่อให้เกิดฝุ่นละอองอีกด้วย

ที่มา: who.int

นอกจากการออกมาให้ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแล้ว ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้นที่ระบุถึงผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อเด็กในครรภ์ เด็กแรกเกิด และเด็กเล็ก บางการศึกษาระบุว่า ผลกระทบของฝุ่น ไม่เพียงแต่ไปกระตุ้นให้เด็กที่เป็นโรคหอบหืดอาการกำเริบ แต่ยังส่งผลให้เด็กที่ไม่เป็นโรค เสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดมากขึ้นอีกด้วย และผลการศึกษานี้ยังสอดคล้องกันกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า ฝุ่นละอองมีผลต่อเด็กในครรภ์ ทำให้เด็กที่เกิดมามีความบกพร่องต่างๆ อย่าเช่น คลอดก่อนกำหนด รอบศีรษะเล็กลง ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลต่อความเสี่ยงเรื่องโรคกระดูกพรุน เนื่องจากฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศ ไปบดบังแสงอาทิตย์ที่มี UVB ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสังเคราะห์วิตามิน D ของร่างกาย เมื่อเด็กได้รับ UVB น้อย จึงทำให้เด็กขาดวิตามิน D นั่นเอง

ที่มา: ncbi.nlm.nih.gov

วิธีปกป้องเด็กๆ จากฝุ่นละออง PM2.5

ฝุ่นละอองpPM2.5_เด็ก2

วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 อยู่เสมอ

ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าในอากาศช่วงนี้เต็มไปด้วยฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กๆ แล้วทำไมต้องมาคอยวัดค่าฝุ่นละอองอีก? เหตุผลคือ ในแต่ละช่วงเวลา ความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เท่ากัน อาจจะน้อยลงหรือมากขึ้นระหว่างวัน ระหว่างสัปดาห์ หรือระหว่างเดือนนั้นๆ การวัดค่าฝุ่นละออง ทำให้เราสามารถทราบว่าวันไหนอากาศดีขึ้นบ้าง ทำให้สามารถเลือกวันดังกล่าวเพื่อออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้

จัดตารางเวลาทำกิจกรรมนอกบ้าน

สืบเนื่องจากการวัดและตรวจเช็กค่าฝุ่นละอองอยู่เสมอ ทำให้เราสามารถจัดตารางเวลาให้เด็กๆ ออกไปเล่นนอกบ้านในเวลาที่ปริมาณฝุ่นละอองน้อยลง ทำให้ลดความเสี่ยงที่เด็กๆ จะสูดฝุ่นละออง PM2.5 เข้าไป

สวมหน้ากากกรองฝุ่นละออง

พยายามให้เด็กๆ สวมหน้ากากกรองฝุ่นละออง โดยเฉพาะช่วงเช้าเวลาเดินทางไปโรงเรียน หรือออกไปภายนอกบ้าน เนื่องจากเป็นช่วงที่ค่าฝุ่นละอองแขวนลอยในอากาศเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ปกครองอาจเจอปัญหาเนื่องจากเด็กๆ ไม่ยอมสวมหน้ากาก ดังนั้นผู้ปกครองเองต้องสวมเป็นตัวอย่างอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกแปลกประหลาด หรือหาหน้ากากลายการ์ตูน หรือสีที่เด็กๆ ชอบมาให้ใส่

ใช้เครื่องกรองฝุ่นโดยเฉพาะในเวลากลางคืน

ฝุ่นละอองจะหนาแน่นขึ้นเมื่ออากาศเย็นลง ทำให้ค่าฝุ่นละอองสูงขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งอยู่ในช่วง 1 ทุ่มจนกระทั่ง 9 โมงเช้า และอย่าลืมว่าเด็กๆ จะหายใจลึกขึ้นขณะหลับอีกด้วย ทำให้ยิ่งเสี่ยงต่อการสูดดมฝุ่นละออง ดังนั้นผู้ปกครองควรใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองภายในบ้าน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เครื่องฟอกอากาศรุ่นไหนดี? รวมเครื่องฟอกอากาศ ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ดูแลเรื่องฝุ่นละอองภายในรถ

นอกจากการจัดการกับฝุ่นละอองภายในบ้านและฝุ่นละอองในอากาศภายนอกแล้ว ไม่ควรละเลยเรื่องฝุ่นละอองภายในรถ ซึ่งเป็นที่ที่เสี่ยงต่อการสูดดมฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศอื่นๆ เข้าไปอีกด้วย เบื้องต้นให้ตรวจสอบกับทางศูนย์รถยนต์เพื่อเช็กฟิลเตอร์เครื่องปรับอากาศภายในรถ และเปลี่ยนจากฟิลเตอร์มาตรฐานทั่วไป มาเป็นฟิลเตอร์แบบ HEPA แทน หรือใช้เครื่องฟอกอากาศภายในรถร่วมด้วย

จำกัดแหล่งเกิดฝุ่นละอองภายในบ้าน

ในบางครั้งค่าฝุ่นละออง PM2.5 ภายในบ้านอาจมีความหนาแน่นกว่าภายนอกบ้านเสียด้วยซ้ำ เนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำอาหาร การจุดเทียน การจุดธูป เป็นต้น ควรมีการใช้พัดลมดูดอากาศ เครื่องดูดควันในครัว และงดการจุดธูปเทียนในพื้นที่ปิด

ทานอาหารที่ช่วยในเรื่องระบบหายใจ

ในระหว่างการเกิดภาวะค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศมีความหนาแน่นสูง ต่อให้เราป้องกันทุกวิธีให้เด็กๆ แล้ว ก็อาจจะเผลอสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปได้อยู่ดี ดังนั้นควรดูแลสุขภาพเด็กๆ จากภายในตั้งแต่เรื่องของการทานอาหาร ควรเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนะนำให้ทานอาหารที่มีวิตามิน C วิตามิน E และโอเมก้า 3

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เราอาจได้ยินมาบ้างว่าในช่วงที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น ควรเลี่ยงการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายภายนอกอาคาร แต่ความจริงแล้วการออกกำลังกายเป็นผลดีกว่าการอยู่เฉยๆ ทำให้เด็กๆ ไม่ป่วยง่าย ควบคุมโรคหอบหืดได้ดีกว่าอีกด้วย เพียงแต่อาจเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายในตัวอาคารแทน เพื่อลดการปะทะกับฝุ่นละออง PM2.5 โดยตรง

อย่างที่อ่านมาทั้งหมด ทำให้เรารู้แล้วว่า เด็กๆ จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายจากฝุ่นละออง PM2.5 มากกว่าผู้ใหญ่ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เด็กแรกเกิด และเด็กเล็กซึ่งอยู่ในช่วงที่ร่างกายกำลังเติบโต รวมทั้งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย ในฐานะผู้ปกครองเราควรใส่ใจและปกป้องเด็กๆ เป็นพิเศษ เพื่อสุขภาพที่ดีและลดปัญหาที่จะตามมาในด้านต่างๆ นะคะ

ที่มา: airveda.com / epa.gov