ป้ายเตือน หรือ Warning signs คนทั่วไปอย่างเราๆ อาจพบเห็นได้บ่อยตามท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นป้ายเตือนจำกัดความเร็ว ป้ายระวังถนนลื่น และอีกมากมาย ติดไว้เพื่อเตือนใจคนขับรถ ทั้งยังช่วยให้ตื่นตัว และระมัดระวังตัวอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับโรงงานอุตสาหกรรม ที่พนักงานลูกจ้างต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยง ทั้งไฟฟ้า เครื่องจักร สารเคมี การติดป้ายเตือนเอาไว้ในโรงงานจึงมีความจำเป็นไม่แพ้กัน

ทำไมต้องมีป้ายเตือนในโรงงาน?

การติดป้ายเตือนในโรงงาน เป็นหนึ่งในข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย หากคุณกำลังสร้างโรงงานใหม่ หรือมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นของตัวเอง แต่ถ้าภายในโรงงานไม่มีป้ายเตือน ป้ายทางเข้าออก หรือป้ายทางหนีไฟ โรงงานของคุณก็อาจจะมีสิทธิ์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยในเบื้องต้นนั่นเอง

รวมป้ายเตือนที่จำเป็นต้องมีในโรงงาน

นอกจากเรื่องเกณฑ์มาตรฐานหรือข้อกำหนดแล้ว การติดป้ายเตือนยังเป็นการเตือนให้พนักงานในโรงงานปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง แจ้งให้พนักงานทราบว่าแต่ละพื้นที่ในโรงงานกำลังปฏิบัติงานอะไรอยู่ รวมถึงแจ้งเตือนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือคนนอกให้รู้ว่าควรระมัดระวัง ห้ามเข้าใกล้ และให้ปฏิบัติตามป้ายเตือนเพื่อความปลอดภัย

ป้ายเตือนในโรงงานมีกี่ประเภท?

ป้ายเตือนเพื่อความปลอดภัยในประเทศไทย กำหนดให้ใช้ตามมาตรฐาน มอก. 635 ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ

  1. ป้ายห้าม (Prohibition signs) คือห้ามทำพฤติกรรมที่เป็นอันตราย เพื่อความปลอดภัย เช่น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามจุดไฟ ห้ามสวมรองเท้าแตะ เป็นต้น
  2. ป้ายบังคับ (Mandatory signs) คือบังคับให้ทำการกระทำที่เจาะจง บังคับให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เพื่อความปลอดภัย เช่น ป้ายสวมที่ครอบหู ป้ายสวมหมวกนิรภัย เป็นต้น
  3. ป้ายเตือน (Warning signs) คือ เตือนให้ระมัดระวัง เตือนถึงเขต หรือพื้นที่อันตราย เช่น ป้ายระวังอันตราย ป้ายระวังพื้นลื่น ป้ายระวังวัตถุไวไฟ เป็นต้น
  4. ป้ายแสดงภาวะปลอดภัย (No danger signs) คือ ป้ายที่แสดงภาวะปลอดภัย หรือพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น ป้ายทางหนีไฟ ป้ายจุดปฐมพยาบาล เป็นต้น
  5. ป้ายแสดงอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับอัคคีภัย (Fire protection equipment signs) คือป้ายบอกตำแหน่งที่ตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง เช่น ป้ายถังดับเพลิง ป้ายสายฉีดน้ำดับเพลิง เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังสามารถแบ่งเป็นป้ายเตือนรูปแบบแปะติดผนัง สำหรับป้ายเตือนที่ต้องติดเอาไว้ถาวร เช่น ป้ายห้ามสูบบุหรี่ ป้ายห้ามเข้า ป้ายห้ามจุดไฟ เป็นต้น ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ป้ายแบบตั้งพื้น สำหรับตั้งชั่วคราวขณะปฏิบัติหน้าที่ สามารถเคลื่อนย้ายได้บ่อย เช่น ป้ายกำลังทำความสะอาด ป้ายระวังรถยก หรือป้ายเตือนสียังไม่แห้ง เป็นต้น

รวม ‘ป้ายเตือน’ ที่จำเป็นต้องมีในโรงงาน

ป้ายห้าม

ได้แก่ ป้ายห้ามสัมผัส, ป้ายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ, ป้ายห้ามซ่อมเครื่องก่อนได้รับอนุญาต, ป้ายห้ามเข้า, ป้ายห้ามสวมรองเท้าแตะ, ป้ายห้ามแตะต้องเครื่องจักร, ป้ายห้ามทำให้เกิดประกายไฟ, ป้ายห้ามสูบบุหรี่, ป้ายห้ามใช้น้ำดับไฟ ฯลฯ

ป้ายบังคับ

ได้แก่ ป้ายบังคับสวมหมวกนิรภัย, ป้ายบังคับสวมแว่นตานิรภัย, ป้ายบังคับสวมที่ครอบหูลดเสียง, ป้ายบังคับสวมหน้ากากกันฝุ่น, ป้ายบังคับสวมหน้ากากกันสารเคมี, ป้ายบังคับสวมหน้ากากเชื่อม, ป้ายบังคับสวมถุงมือนิรภัย, ป้ายบังคับต้องล้างมือให้สะอาด ฯลฯ

ป้ายเตือน

ได้แก่ ป้ายระวังอันตราย, ป้ายพื้นที่อันตราย, ป้ายระวังสารกัมมันตภาพรังสี, ป้ายระวังอันตรายไฟฟ้าแรงสูง, ป้ายระวังรถยก, ป้ายระวังอันตรายจากสารเคมี, ป้ายระวังวัตถุมีพิษ, ป้ายระวังอันตรายจากเครื่องจักร ฯลฯ

ป้ายแสดงภาวะความปลอดภัย

ได้แก่ ป้ายที่ล้างตาฉุกเฉิน, ป้ายชุดปฐมพยาบาล, ป้ายโทรศัพท์ฉุกเฉิน, ป้ายพื้นที่ความปลอดภัย, ป้ายปลอดภัยไว้ก่อน (Safety First), ป้ายที่พักสูบบุหรี่, ป้ายทางออก (Exit), ป้ายทางหนีไฟ (Fire Exit) ฯลฯ

ป้ายแสดงอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับอัคคีภัย

ได้แก่ ป้ายถังดับเพลิง, ป้ายสายฉีดน้ำดับเพลิง, ป้ายสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้, ป้ายโทรศัพท์ฉุกเฉิน ฯลฯ

ติดป้ายเตือนแบบไหนให้ปลอดภัย 100%

  1. ติดป้ายเตือนให้เหมาะสมกับประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมี ควรติดป้ายเตือนระวังสารเคมี หรือโรงงานที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ ควรมีป้ายเตือนระวังเครื่องจักร หรือป้ายแสดงสถานะเครื่องจักรกำลังทำงาน เป็นต้น
  2. ป้ายเตือนต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มองเห็นได้ชัดเจน ไม่มีสิ่งใดมาบดบัง รวมถึงป้ายเตือนเองก็ต้องไม่บดบังวิสัยทัศน์การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเช่นกัน
  3. ควรใช้ป้ายเตือนแบบสะท้อนแสง สำหรับการมองเห็นที่ชัดเจนในตอนกลางคืน หรือในที่แสงน้อย

เรียนรู้เรื่องป้ายเตือนและความจำเป็นที่ต้องติดป้ายเตือนภายในโรงงานกันไปแล้ว ใครเป็นเถ้าแก่ เถ้าสัว หรือเจ้าของโรงงาน ก็อย่าละเลยที่จะปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัยกันนะคะ สุดท้ายนี้ หากต้องการป้ายเตือน ป้ายข้อความ หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่นๆ สำหรับใช้ในโรงงาน ออฟฟิศเมทรวบรวมสินค้าทั้งหมดมาไว้ให้คุณช้อปได้ง่ายๆ ที่นี่แล้ว คลิกเลย! OfficeMate