จากพ.ศ. 2560 จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกมีประมาณ 963 ล้านคน องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โดยคาดว่าในปีพ.ศ. 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 1.4 พันล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 พันล้านคน ในปีพ.ศ. 2593  

ส่วนประเทศไทยเรา มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย มากเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย สำนักงานสถิติแห่งชาติยังคาดว่าในปีพ.ศ. 2565 ไทยเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวอีกด้วย

ผู้สูงอายุ เป็นสมาชิกที่ต้องการการดูแลและเอาใจใส่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจมากกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงอาจเป็นประกันสุขภาพ แต่เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องที่พักอาศัย เพราะผู้สูงอายุ หลังจากเกษียณ จะใช้เวลาเกือบทั้งหมดอยู่ที่บ้าน สภาพแวดล้อมภายในบ้าน จึงควรส่งเสริมให้พวกท่านใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายและสะดวกขึ้น บทความนี้จึงรวบรวมหลักการออกแบบและปรับเปลี่ยนที่พักอาศัยเพื่อรองรับผู้สูงวัย ให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไปดูกันเลยค่ะ

ทำความเข้าใจผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุในประเทศไทย คือบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อการเตรียมการอย่างเหมาะสม ลองพิจารณาเพื่อวางแผนการดูแลผู้สูงอายุ โดยอิงจากเกณฑ์ ดังนี้

  • ผู้สูงอายุกลุ่มสีเขียว : ผู้สูงอายุที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ตามปกติ 
  • ผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลือง : ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง 
  • ผู้สูงอายุกลุ่มสีส้ม : ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพและต้องพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือผู้ดูแล

ออกแบบและปรับเปลี่ยนที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย

ป้องกันผู้สูงอายุลื่นล้มได้ด้วยวัสดุปูพื้นแบบกันลื่น

แน่นอนว่าทักษะการทรงตัวของผู้สูงอายุย่อมน้อยกว่าคนในวัยหนุ่มสาว พื้นบ้านหรือพื้นห้องจึงควรปูด้วยวัสดุที่พื้นผิวค่อนข้างฝืด หากเป็นกระเบื้องต้องสามารถกันลื่นได้ แต่ถ้าเป็นพื้นไม้ก็ไม่ควรขัดให้มันวาว ส่วนบ้านหรือห้องที่ปูพื้นด้วยพรมหรือเสื่อน้ำมันต้องติดขอบและตรึงมุมไว้ให้แน่น เพื่อกันไม่ให้ผู้สูงอายุเดินสะดุด สำหรับพื้นที่ที่ต้องเปียกน้ำอยู่บ่อยๆ อย่างห้องน้ำและห้องครัว ควรเลือกเป็นกระเบื้องยาง เพราะมีความหนืดและยืดหยุ่นสูง ช่วยป้องกันการลื่นเมื่อพื้นเปียกได้เป็นอย่างดี

แต่ไม่ว่าจะพื้นไม้หรือพื้นกระเบื้อง สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือการทำพื้นต่างระดับ รวมถึงไม่ควรมีธรณีประตู เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ผู้สูงอายุสะดุดล้มได้ง่าย

ประตูห้องกว้างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุที่นั่ง Wheel Chair

ประตูห้องโดยทั่วไปจะมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 70 เซนติเมตร แต่กับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็นหรือมีไม้ค้ำ ควรออกแบบประตูให้มีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร และควรเป็นประตูแบบบานเลื่อน เพราะเปิดปิดง่าย ผู้สูงอายุไม่ต้องใช้แรงในการเปิดมาก และยังประหยัดพื้นที่ขณะใช้งานอีกด้วย แต่ถ้าพื้นที่ภายในบ้านไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ประตูบานเลื่อน ควรเลือกลูกบิดประตูเป็นแบบก้านโยกจะเปิดง่ายและใช้แรงน้อยกว่าลูกบิดประตูแบบกลม

สำหรับหน้าต่าง อาจออกแบบให้สูงจากพื้นเพียง 50 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นสามารถชมวิวทิวทัศน์ภายนอกได้

เฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุต้องเลือกอย่างพิถีพิถัน

โต๊ะสำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ความสูงของโต๊ะต้องไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตรและไม่ควรมีลิ้นชักใต้โต๊ะ เพื่อให้รถเข็นสามารถสอดเข้าไปได้อย่างสะดวก

เตียงสำหรับผู้สูงอายุ

ความสูงของเตียงนอนควรอยู่ที่ประมาณ 40-50 เซนติเมตร จะเหมาะสมกับสรีระขณะลุกและนั่งมากที่สุด หากอยากพิถีพิถันและการันตีความปลอดภัยมากขึ้นอีกนิด ให้เลือกขนาดฟูกใหญ่กว่าเตียงเล็กน้อย เพื่อให้ขอบฟูกยื่นออกมานอกโครงสร้างเตียง บังเหลี่ยมคมของขอบเตียงเอาไว้ ช่วยลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในกรณีที่ผู้สูงอายุเกิดหกล้ม

ตู้ที่เหมาะกับห้องของผู้สูงอายุ

ตู้ต่างๆ โดยเฉพาะตู้เสื้อผ้าควรเลือกเป็นแบบบานเลื่อนที่เปิดปิดง่ายไม่ต้องออกแรงเยอะและตำแหน่งของราวแขวนภายในควรอยู่ในระดับที่ผู้สูงอายุเอื้อมถึงได้ง่าย ไม่ต้องเขย่งจนอาจเสียการทรงตัว

เก้าอี้สำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับผู้สูงอายุเก้าอี้เบาะนุ่มๆ เป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากนั้นเก้าอี้ทุกตัวควรมีพนักพิงและที่วางแขน จะช่วยให้ผู้สูงอายุนั่งได้สบายขึ้น และที่พักแขนยังเป็นตัวช่วยพยุงให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นยืนได้ง่ายอีกด้วยค่ะ

เตรียมพร้อมเรื่องสวิตช์ไฟและแสงสว่าง เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ง่าย

สวิตช์เปิดปิดไฟภายในบ้านควรเลือกที่มีขนาดใหญ่ มองเห็นได้ง่าย หรือเป็นแบบเรืองแสงในที่มืด ตำแหน่งของสวิตช์ควรอยู่สูงจากพื้นในระยะที่ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นสามารถใช้งานได้ นอกจากนั้นควรรวมสวิตช์พัดลมเพดาน แอร์ หรือสวิตช์อื่นๆ ไว้ใกล้ๆ หรือตำแหน่งเดียวกัน จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกมากขึ้น

แสงสว่างที่ดีกับสายตาของผู้สูงวัยมากที่สุด คือแสงสว่างจากธรรมชาติ การออกแบบบ้านจึงควรออกแบบให้สามารถรับแสงธรรมชาติได้เต็มที่ แต่ถ้าไม่สามารถรีโนเวทใหม่ทั้งหมดได้ ก็ควรทำให้ภายในบ้านสว่างใกล้เคียงกับภายนอก ส่วนหลอดไฟควรเลือกแบบแสงนวลตา อย่างโทนแสงสีส้มหรือสีเหลือง (Warm White) เพื่อไม่ให้สว่างจ้าจนเกินไปและยังช่วยถนอมสายตาของผู้สูงวัยได้อีกด้วย

ติดตั้งราวจับไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อช่วยพยุงผู้สูงอายุให้เคลื่อนไหวได้สะดวก

ราวจับ จะช่วยพยุงและช่วยผู้สูงวัยในการทรงตัวขณะเดิน ลุก หรือนั่ง แทนการต้องจับยึดเฟอร์นิเจอร์ที่อาจไม่แข็งแรงพอจนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากจะติดตั้งราวจับต้องยึดราวกับผนังให้แน่น และควรติดตั้ง ตั้งแต่ทางเข้าบ้าน และตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะห้องน้ำบริเวณโถส้วมและพื้นที่อาบน้ำ

Emergency Bell ตัวช่วยสำคัญกรณีผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือ

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก คือ Emergency bell หรือเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ บริเวณที่ควรติดตั้งกระดิ่งฉุกเฉิน คือ บริเวณหัวเตียงและภายในห้องน้ำ แล้วเชื่อมเสียงสัญญาณกริ่งไปในทุกๆ จุดของบ้าน เพื่อให้เราสามารถได้ยินเสียงกริ่งได้เมื่อผู้สูงอายุกดส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ปัจจุบันยังพัฒนาให้ Emergency bell ทันสมัยมากขึ้น คือสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและส่งสัญญาณแจ้งเตือนมายังโทรศัพท์ของเราได้

เพิ่มทางลาดสำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุนั่งรถเข็น

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น คือ ‘ทางลาด’ ที่ควรมีในทุกๆ จุดที่เป็นพื้นที่ต่างระดับ และระดับความลาดชันควรอยู่ในอัตราส่วน 1 ต่อ 12 คือ หากพื้นที่ต่างระดับมีความสูง 1 เมตร ทางลาดควรมีระยะทาง 12 เมตร นั่นเอง

สุดท้ายนี้ นอกจากการออกแบบและปรับเปลี่ยนบ้านเพื่อผู้สูงอายุแล้ว การมอบความรัก ความเอาใจใส่ คอยไปมาหาสู่และดูแลท่านอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขนะคะ

ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ OfficeMate.co.th/blog หรือเข้ามาช้อปสินค้าคุณภาพจากออฟฟิศเมทได้ทางเว็บไซต์ OfficeMate เรามีบริการส่งฟรีทั่วประเทศ เมื่อช้อปครบ 499 บาท อย่ารอช้า คลิกเลย!

ขอบคุณข้อมูลจาก

Elderly Care การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ

แนวคิดการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

ปรับปรุงบ้านอย่างไร รองรับวัยเกษียณ

การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

รวมแนวทางการสร้าง “บ้านเพื่อผู้สูงอายุ”

ประชากรสูงวัยและแนวโน้มในอนาคต

0 CommentsClose Comments

Leave a comment