1.1 ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว

สำหรับผู้ยื่นภาษีทุกคน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาทต่อปี เป็นสิทธิค่าลดหย่อนแบบเหมา

1.2 ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส

ผู้ยื่นภาษีที่ต้องดูแลคู่สมรส สามารถใช้สิทธิคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท เงื่อนไข คือ ต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ตลอดปีภาษี เช่น สามีทำงานคนเดียว ดูแลภรรยาที่ไม่มีรายได้ สามีลดหย่อนสิทธิตัวเอง 60,000 บาท บวกอีก 60,000 บาทของสิทธิคู่สมรส 60,000+60,000 = 120,000 บาท

1.3 ค่าลดหย่อนภาษีบุตร

สำหรับบุตรที่เกิดก่อนปี 2561 นำมาลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท ต่อบุตร 1 คน (ไม่จำกัดจำนวนบุตร) บุตรคนแรกลดหย่อนได้ 30,000 บาท ตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไป ลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยที่บุตรต้องเข้าเกณฑ์ที่กำหนดคือ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หากบรรลุแล้ว อายุ 20-25 ปี ต้องเป็นบุตรที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา หรือต้องเป็นบุตรที่ศาลตัดสินให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

  • บุตรบุญธรรมสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องไม่เกิน 3 คน ซึ่งหากมีบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้ใช้สิทธิบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะใช้สิทธิไม่ได้ แต่ถ้านับแล้วบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
  • สิทธิลดหย่อนภาษีบุตร เป็นสิทธิเดียวที่ทั้งสามีและภรรยาสามารถใช้สิทธิลูกคนเดียวกันได้ คือ ถ้ามีลูก 2 คน สามีใช้สิทธิลูกทั้ง 2 คน ภรรยาก็ใช้สิทธิลูกทั้ง 2 คนได้พร้อมๆ กัน ไม่ต้องแบ่งครึ่งค่าลดหย่อนภาษี

1.4 ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และทำคลอด

เป็นการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามจ่ายจริง รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง (ไม่ได้นับตามจำนวนบุตรแม้จะท้องแฝดแต่ครรภ์เดียวให้ใช้สิทธิได้ 1 ครั้ง)

  • สามีใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตัวนี้ได้ กรณียื่นภาษีร่วมกับภรรยา แต่หากยื่นภาษีแยก ภรรยาต้องเป็นผู้ใช้สิทธิ์
  • หากมีการใช้สิทธิพยาบาลเช่น บัตรทอง หรือสวัสดิการบริษัท ให้หักออกจากค่าใช้จ่ายจริง ที่เหลือนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาทต่อครรภ์เช่นกัน
  • ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า ให้นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในรอบยื่นภาษีปีนั้นๆ มาคิดก่อนได้ ส่วนรอบยื่นภาษีปีหน้าค่าใช้จ่ายจากท้องนี้นำไปใช้ได้อีก แต่รวมกัน 2 รอบต้องไม่เกิน 60,000 บาท เช่น ปี 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์ไปแล้ว 30,000 บาท ปีหน้าใช้สิทธิจากครรภ์เดิมได้อีกไม่เกิน 30,000 บาท เพราะรวมแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาทต่อครรภ์
  • ใช้หลักฐานประกอบการยื่นภาษี คือ ใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรอื่นๆ ที่ได้จากสถานพยาบาล 

1.5 ค่าลดหย่อนภาษีดูแลบิดามารดา

สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาทต่อบิดาหรือมารดา 1 คน กำหนดไม่เกิน 4 คน กรณีสมรสแล้ว และรวมบิดามารดาของคู่สมรสด้วย แสดงว่า 1 คนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 120,000 บาท

  • หากมีพี่น้องที่ยื่นภาษีและต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดา ต้องตกลงกันระหว่างพี่น้อง ว่าใครจะใช้สิทธิบิดา หรือมารดา หรือใช้สิทธิทั้งบิดามารดาทั้ง 2 คนแต่แบ่งกันคนละปี เพราะบิดา 1 คนมี 1 สิทธิให้ลูกนำไปลดหย่อนภาษี มารดา 1 คนมี 1 สิทธิ์ให้ลูกนำไปลดหย่อนภาษี
  • ในกรณีใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดา มารดาคู่สมรส คู่สมรสจะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ด้วย และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา แต่หากคู่สมรสเป็นผู้มีรายได้ และแยกกันยื่นภาษีให้ทั้งสองใช้สิทธิบิดามารดาของตนเอง
  • บิดา มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท และเราเป็นผู้ดูแลบิดามารดาเอง

1.6 ค่าลดหย่อนภาษีดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพ

หากเรามีการดูแลบุคคลทุพพลภาพหรือพิการ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ได้ 60,000 บาท ต่อ 1 คนที่เราดูแล แต่ผู้พิการและทุพพลภาพจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากผู้พิการหรือทุพพลภาพในความดูแลของเราเป็นคู่สมรส เป็นบุตร หรือ บิดามารดาด้วย สามารถนำมาลดหย่อนได้ทั้งสองสถานะ เช่น ค่าลดหย่อนภาษีบิดา 30,000 บาท และบิดาเป็นผู้พิการลดหย่อนภาษีอีก 60,000 บาท ดังนั้นผู้ยื่นภาษี สามารถนำสิทธิลดหย่อนจากบิดาคนนี้มาใช้ได้ 90,000 บาท

อ่านสิทธิลดหย่อนภาษี เพิ่มเติม

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่2 ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกัน

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่3 ค่าลดหย่อนภาษีการลงทุน

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่4 ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สิทธิลดหย่อนภาษี กลุ่มที่5 ลดหย่อนภาษีจากการบริจาค

ที่มา: aommoney.com/ itax.in.th/ rd.go.th