กระดาษเป็นวัสดุที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระดาษมีบทบาทสำคัญกับเราหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปจดบันทึก สร้างบรรจุภัณฑ์ และใช้เช็ดทำความสะอาด แต่เคยทราบกันหรือไม่ว่ากว่าจะเป็นกระดาษให้เรานำไปใช้งานต่าง ๆ ได้มีสิ่งที่สำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษอยู่ 4 ประการ ดังนี้

  • การทำเยื่อกระดาษ
  • การเตรียมน้ำเยื่อ
  • การทำให้เป็นแผ่นกระดาษ
  • การตกแต่งผิวและการตัดให้เป็นขนาดที่ต้องการ

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กระบวนการผลิตกระดาษขั้นตอนที่ 1 การทำเยื่อกระดาษ

ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการผลิตกระดาษได้นั้น จะขาดวัตถุดิบหลักอย่าง “เยื่อกระดาษ” ไม่ได้เลย ซึ่งสามารถพบได้ในต้นไม้ โดยส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ผลิตกระดาษจะมีอายุประมาณ 3-5 ปี โดยจะถูกตัดเป็นท่อนหรือมีลักษณะคล้ายซุงแล้วนำมาเข้ากระบวนการผลิตต่อไป โดยในอดีตต้นไม้ที่นำมาผลิตกระดาษมักจะถูกตัดมาจากในป่า แต่ในปัจจุบันต้นไม้ที่นิยมนำใช้จะเป็นต้นกระดาษ (ปรับปรุงพันธุ์มาจากต้นยูคาลิปตัส) ที่เกษตรกรปลูกไว้ตามคันนาแทน โดยหลังจากตัดต้นไม้เหล่านั้นมาแล้ว ก็จะนำมากะเทาะเปลือก (Debarking) เพื่อนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษต่อไป โดยสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

  • เยื่อกระดาษเชิงกลหรือเยื่อบด (Mechanical Pulp)

การทำเยื่อกระดาษแบบนี้จะเป็นการบดไม้ให้ละเอียดโดยใช้หินบด (Stone Groundwood Pulping) หรือเฟืองบด (Refiner Groundwood Pulping) โดยเยื่อทีได้จะมีลักษณะหยาบกระด้าง ไม่สมบูรณ์ มีขนาดสั้น และขาดเป็นท่อน ๆ นอกจากนี้สาร “ลิกนิน” ในเยื่อกระดาษจะไม่ถูกกำจัดไปในกระบวนการผลิตเยื่อแบบนี้ ส่งผลให้กระดาษเก่าเร็วและเหลืองได้ง่าย แต่มีความทึบสูง ดูดซับความชื้นได้ดี และมีราคาที่ถูกมาก เหมาะสำหรับการนำไปทำสื่อสิ่งพิมพ์ราคาถูก เช่น หนังสือพิมพ์ หรือนำไปทำเยื่อชั้นในของกระดาษแข็ง

กระดาษหนังสือพิมพ์
กระดาษหนังสือพิมพ์
  • เยื่อกระดาษเคมี (Chemical Pulp)

เยื่อชนิดนี้เกิดจากการนำชิ้นไม้ไปต้มในหม้อแยกสาร (Digester) ร่วมกับสารเคมี เพื่อกำจัดหรือละลาย “ลิกนิน” ในเยื่อกระดาษให้หมดไป ทำให้กระดาษเก่าช้าและไม่เหลืองง่าย ทำให้มีราคาสูงกว่าแบบแรก เยื่อเคมีสามารถจำแนกได้อีก 2 ประเภทตามสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต ดังนี้

เยื่อซัลเฟต (Sulfate Pulp) ทำมาจากสารเคมีซัลเฟต มีสีน้ำตาลและมีความเหนียว ใช้สำหรับทำกระดาษกระดาษเหนียว หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่ากระดาษคราฟต์ (Kraft Paper) ที่ปัจจุบันนำมาทำเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กล่องใส่เอกสาร ถุงกระดาษคราฟต์ ชั้นวางเอกสาร

กล่องใส่เอกสารกระดาษคราฟต์
กล่องใส่เอกสารจากกระดาษคราฟต์

– เยื่อซัลไฟต์ (Sulfite Pulp) มีสารเคมีซัลไฟต์เป็นส่วนผสม มักจะนำไปฟอกขาวเพื่อนำใช้ในการจดบันทึกและพิมพ์งานต่าง ๆ ซึ่งกระดาษแผ่นสีขาวแบบต่าง ๆ ที่เราใช้งานกันนั่นเอง

  • เยื่อกระดาษกึ่งเคมี (Semi-chemical Pulp)

วิธีการทำเยื่อกระดาษกึ่งเคมีจะเป็นการผสมกระบวนของการทำแบบเชิงกลและเคมีเข้าด้วยกัน โดยขั้นตอนแรกจะนำไปต้มพร้อมกับสารเคมีซึ่งคล้ายกับวิธีทำเยื่อกระดาษเคมี แต่จะใช้สารเคมีน้อยกว่า และหลังจากต้มแล้วตามาคือการใช้วิธีเชิงกลต่อ โดยการนำไม้ที่ต้มไปบดเพื่อแยกเส้นใยออก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของ “ลิกนิน” ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งกระดาษที่ได้จากกระบวนการนี้มักจะนำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์

นอกจาก “เยื่อกระดาษ” จะทำมาจากต้นไม้แล้ว กระดาษที่ใช้งานแล้วยังสามารถนำมาทำเยื่อได้อีกด้วย โดยเรียกว่า “เยื่อกระดาษรีไซเคิล (Recycle Pulp)” หรือ “เยื่อกระดาษใช้ซ้ำสอง (Secondary Pulp)” ซึ่งก่อนที่จะนำกระดาษเปลี่ยนเป็นเยื่อกระดาษจะต้องนำไปปั่นเพื่อแยกเส้นใยออกมาเสียก่อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนแยกสิ่งแปลกปลอมออก เช่น น้ำหมึกและกาว ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นสองกระบวนการ กระดาษเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเยื่อกระดาษรีไซเคิลที่พร้อมใช้งาน ซึ่งเป็นเยื่อที่มีขนาดสั้นและขาดง่าย มีสีคล้ำหรือสีน้ำตาล จึงมักจะนำไปทำเป็นชั้นในของกระดาษ และกล่องกระดาษ แต่ถ้าต้องการนำไปใช้ในงานพิมพ์ หรือกระดาษชำระ ต้องนำไปฟอก (Bleaching) ให้เป็นสีขาวก่อนและเพื่อกำจัดลิกนินออกไปให้ได้มากที่สุด

ม้วนกระดาษสีขาว
ม้วนกระดาษขาว

กระบวนการผลิตกระดาษขั้นตอนที่ 2 การเตรียมน้ำเยื่อ

ก่อนที่เยื่อกระดาษจะเข้าสู่กระบวนการนำไปทำเป็นแผ่นกระดาษ จะต้องมีการเตรียมน้ำเยื่อก่อน ซึ่งทำได้โดยการ นำเยื่อกระดาษไปบด เพื่อพัฒนาศักยภาพของเส้นใยให้ยึดเกาะกันได้ดีขึ้น จากนั้นจะเป็นการผสมหรือใส่สารเติมแต่งชนิดต่าง ๆ ตามอัตราส่วนที่กำหนด ซึ่งอาจมีการนำเยื่อไม้มากกว่า 1 ชนิดเข้ามาผสมเพื่อลดต้นทุนและเพื่อให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้งาน โดยส่วนผสมที่ได้นี้เรียกว่า “น้ำเยื่อ” หรือ “สต็อก” (stock) นั่นเอง

กระบวนการผลิตกระดาษขั้นตอนที่ 3 การทำให้เป็นแผ่นกระดาษ

หลังจากที่เตรียมน้ำเยื่อเสร็จเรียบร้อย น้ำเยื่อจะถูกลำเลียงไปเครื่องทำเยื่อแห้ง เพื่อทำให้น้ำเยื่อแห้งและนำไปทำเป็นแผ่นกระดาษต่อไป โดยทั้งหมด 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.   เมื่อเยื่อกระดาษเดินทางมาถึงยังเครื่องทำเยื่อแห้งจะมีตระแกรงแผ่นเล็ก ๆ  รองเยื่อกระดาษเอาไว้ส่งผลให้น้ำที่อยู่ในเยื่อกระดาษเล็ดลอกออกไปได้ทำให้เยื่อกระดาษแห้งในเบื้องต้น

2.   หลังจากที่เยื่อกระดาษผ่านการกรองน้ำในเบื้องต้นแล้ว จะถูกลำเลียงเข้าสู่ส่วนที่ใช้รีดน้ำเพิ่มเติมโดยจะมีลูกกลิ้งขนาดใหญ่กดทับเพื่อรีดน้ำที่อยู่ในเยื่อกระดาษออกไปทั้งหมด  และทำให้เยื่อกระดาษติดเป็นแผ่นไปในคราวเดียวกัน

3.   เครื่องจะทำการซับน้ำอีกรอบหนึ่ง และหลังจากนั้นจะถูกนำเข้าเครื่องอบประมาณ 5-7 นาที เพื่อทำให้เยื่อกระดาษคงเหลือน้ำเอาไว้ประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักกระดาษทั้งหมด

4.   หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดก็จะได้เป็นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ รอการตกแต่งผิวและการตัดแบ่งเป็นลำดับต่อไป

กระบวนการผลิตกระดาษขั้นตอนที่ 4 การตกแต่งผิวและการตัดให้เป็นขนาดที่ต้องการ

หลังจากที่เสร็จสิ้นกระบวนการอบแห้งข้างต้นแล้วยังไม่ถือว่าเสร็จสินกระบวนการผลิตกระดาษ จะต้องนำไปตกแต่งด้วยการผิวขัดผิวกระดาษให้เรียบลื่น หรือเคลือบผิวกระดาษให้เรียบเงาเสียก่อน จึงจะถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้น ซึ่งถ้ายังไม่มีออเดอร์จากลูกค้า เนื้อกระดาษเหล่านั้นจะถูกม้วนเก็บไว้เพื่อรอการตัดแบ่งเพื่อจำหน่ายต่อไป แต่ถ้าหากมีออเดอร์จากลูกค้าเนื้อกระดาษเหล่านั้นก็จะถูกตัดแบ่งตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ โดยส่วนใหญ่จะมีจำนวน 1 รีมหรือ 500 แผ่น

กระดาษถ่ายเอกสาร
กระดาษถ่ายเอกสาร 1 รีม (500 แผ่น)

คุณคงพอจะทราบกันแล้วว่ากว่าจะได้กระดาษสักแผ่นมาให้เราใช้งานต่าง ๆ ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องผ่านกระบวนการมากมาย หวังว่าทุกท่านจะเห็น “คุณค่า” ของกระดาษมากขึ้นและไม่ทิ้งขว้างกระดาษในมือไปอย่างง่ายดายเหมือนเคย เพราะนอกจากจะเป็นการประหยัดแล้วยังเป็นการช่วยป้องกันกระดาษไม่ให้ขาดตลาดได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย….

สำหรับใครที่กำลังมองหากระดาษคุณภาพดี ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมาช้อปต่อกันได้เลยที่ Officemate ที่เดียวครบ ตอบโจทย์ทุกธุรกิจ 

0 CommentsClose Comments

Leave a comment